"ธุรกิจรับสร้างบ้าน" ปรับตัวสู้ ยุคเศรษฐกิจท้าทาย       
Loading

"ธุรกิจรับสร้างบ้าน" ปรับตัวสู้ ยุคเศรษฐกิจท้าทาย       

วันที่ : 22 มกราคม 2568
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ระบุ ข้อมูลการขอใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศ มีมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท พื้นที่รวมทั้งมด 22 ล้านตารางเมตร เฉลี่ย 130-150 ตารางเมตรต่อหลัง ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อย
     "ธุรกิจรับสร้างบ้านมีความแตกต่างจากผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป เพราะเราให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง ไปจนถึงบริการหลังการขาย"

     นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยปัจจัยส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจรับสร้างบ้าน 68 ชี้กลยุทธ์ปรับตัว สร้างคุณภาพ เพื่อทรงตัวในยุคเศรษฐกิจชะลอ หวังรัฐขานรับขยายมาตรการลดหย่อนภาษี

    เมื่อนึกถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมที่เป็นที่นิยมในตลาด ในอีกมุมหนึ่ง ธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงเป็นตัวเลือกสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการบ้านในแบบเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านบนที่ดินส่วนตัวหรือการออกแบบให้ตรงกับความต้องการเฉพาะกลุ่ม แม้ว่าตลาดนี้จะดูเป็นเฉพาะทางและมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธุรกิจบ้านจัดสรร แต่ความยืดหยุ่นและการตอบโจทย์ลูกค้าอย่างตรงจุดทำให้ธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดอสังหาฯของไทย

    ตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านในปัจจุบันยังคงเผชิญความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย ทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 67 ที่ผ่านมามูลค่าการเซ็นสัญญาในตลาดกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2566 ราว 10% อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในธุรกิจยังคงแสดงศักยภาพในการปรับตัวและวางกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความต้องการเฉพาะตัว

    นายอนันต์กร อมรวาที นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจรับสร้างบ้านปัจจุบันว่า แม้เศรษฐกิจโดยรวมและความไม่แน่นอนทางการเมืองจะสร้างความท้าทายให้ธุรกิจ แต่กลยุทธ์ในการปรับตัวคือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้บริษัทในอุตสาหกรรมนี้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ด้วยตนเอง โดยการสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจรับสร้างบ้าน

    "ธุรกิจรับสร้างบ้านมีความแตกต่างจากผู้รับเหมาก่อสร้างทั่วไป เพราะเราให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง ไปจนถึงบริการหลังการขาย รวมถึงรับประกันคุณภาพ (Warranty) ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อคุณภาพที่เหนือกว่าและมาตรฐานที่สูงขึ้น" นายอนันต์กรกล่าว

    นอกจากนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยังเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรและคุณภาพงานระหว่างช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงการลงทุนในด้านการตลาดเพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจ โดยมองว่าการสร้างภาพลักษณ์และคุณภาพที่ดีสามารถช่วยดึงดูดผู้บริโภคกลับมา แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา

    เมื่อถูกถามถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจรับสร้างบ้านกับผู้รับเหมาก่อสร้าง นายอนันต์กรชี้แจงว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านมีต้นทุนสูงกว่าเนื่องจากบริการที่ครบวงจรตั้งแต่ออกแบบ ควบคุมคุณภาพการก่อสร้าง ไปจนถึงบริการหลังการขาย เป็นการยกระดับคุณภาพงาน ผู้บริโภคจะได้รับบ้านที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านฟังก์ชันและมาตรฐาน ซึ่งต่างจากผู้รับเหมาทั่วไปที่ไม่มีบริการเหล่านี้ ให้บริการเพียงก่อสร้างตามแบบที่มีอยู่เท่านั้น

    " การปรับตัว สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การพัฒนาคุณภาพ และการสื่อสารกับผู้บริโภคคือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตไปได้"

    อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของสมาคมฯคือการขยายไปทั่วประเทศ ทั้งในแง่การรับและคัดกรองสมาชิกเพิ่ม และการเก็บสถิติซึ่งแต่เดิมนั้นมีการเก็บข้อมูลแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แต่จากข้อมูลการขอใบอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศเผยแพร่โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ระบุมีมูลค่าราว 200,000 ล้านบาท พื้นที่รวมทั้งมด 22 ล้านตารางเมตร เฉลี่ย 130-150 ตารางเมตรต่อหลัง ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อย

    อีกทั้งสมาคมฯจะเดินหน้าจัดโรดโชว์ที่ภูมิภาคต่างๆ ในปีนี้ โดยเฉพาะ ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือที่มีบริษัทในธุรกิจรับสร้างบ้านจำนวนมากในตลาด การเข้าถึงในหลายๆจังหวัดไปทั่วประเทศของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านนั้นไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มจำนวนสมาชิกและเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มการรับรู้และยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มศักยภาพตลาดในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ สมาคมยังคงผลักดันแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติม โดยหวังให้มาตรการช่วยเหลือด้านการลดหย่อนภาษี 1 หมื่นบาทต่อราคาบ้าน 1 ล้านบาท ขยายระยะเวลาจนถึงปี 2569 เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ได้มีการเสนอต่อกระทรวงการคลังแล้วเสร็จ คาดว่าอาจต้องรอติดตามการดำเนินงานต่อไปในอนาคต

    ทั้งนี้ ในปี 2568 นายอนันต์กรคาดว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่แน่นอน การแข่งขันที่รุนแรง และยังคงไม่เห็นปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจรับสร้างบ้านฟื้นตัวชัดเจนนัก โดยเฉพาะบ้านในเซ็กเมนต์ราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท

    ที่แม้จะเป็นส่วนใหญ่ในตลาด แต่ยังต้องเผชิญกับหนี้ครัวเรือนที่สูงและความเข้มงวดของธนาคาร ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในตลาดต่างมุ่งมั่นที่จะปรับตัวและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจด้วยกลยุทธ์เฉพาะตัว เพื่อประคับประคองและอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้

    ท้ายที่สุด แม้ว่าเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกจะยังคงสร้างความท้าทายต่อธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2568 การปรับตัวและความมุ่งมั่นในการพัฒนาไม่เพียงแค่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ยังสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากร ซึ่งในช่วงที่ตลาดซบเซายังเป็นโอกาสในการหาแรงงานช่างฝีมือง่ายมากขึ้น หรือด้านการตลาด และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจรับสร้างบ้านสามารถเติบโต ได้ในระยะยาวต่อไปในอนาคต