ดีเวลลอปเปอร์ เฆี่ยน โอน อลหม่าน..!หนีแอลทีวี
Loading

ดีเวลลอปเปอร์ เฆี่ยน โอน อลหม่าน..!หนีแอลทีวี

วันที่ : 24 กุมภาพันธ์ 2562
เมื่อผลิตสินค้าและบริการแล้ว สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ต้องลุกขึ้นมาทำคือ"กิจกรรมการตลาด"สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งค้าขายที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัย 4 ของผู้บริโภค ราคา "แพง" ทำให้การตัดสินใจผลีผลามไม่ได้ แต่ช้าไปก็ไม่ดี เพราะนับวันต้นทุนที่ดินพุ่งสูงปรี๊ด เป็นแรงกดดันให้ "ราคาขยับขึ้น" อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า
          สาวิตรี รินวงษ์

          กรุงเทพธุรกิจ

          เมื่อผลิตสินค้าและบริการแล้ว สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ต้องลุกขึ้นมาทำคือ"กิจกรรมการตลาด"สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งค้าขายที่อยู่อาศัยหนึ่งในปัจจัย 4 ของผู้บริโภค ราคา "แพง" ทำให้การตัดสินใจผลีผลามไม่ได้ แต่ช้าไปก็ไม่ดี เพราะนับวันต้นทุนที่ดินพุ่งสูงปรี๊ด เป็นแรงกดดันให้ "ราคาขยับขึ้น" อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) ซื้อที่ดินทีจะ "ทุบสถิติ" แข่งกันไปไหน นอกจากปัจจัยข้างหน้าเป็นแรงผลักดันให้ ดีเวลลอปเปอร์แข่งกันทำโปรโมชั่นขายที่อยู่อาศัย ยังมี "มาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัย" การลดสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์ (แอลทีวี) สำหรับสัญญาที่ 2 และ 3 ที่ "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" งัดออกมาใช้เพื่อสกัดการ "เก็งกำไร" ของนักลงทุนต่างๆ แม้อาจจะไม่ถึงกับเบรกตลาดหัวทิ่ม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม แต่ก็ลดความร้อนแรง ของตลาดได้พอสมควร

          เมื่อมาตรการคุมเข้มสินเชื่อจะมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.2562 จึงเห็นการ "เทกระจาด" ของผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็ก รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ มีกลยุทธ์เด็ดอะไร งัดไม่มาใช้ขับเคี่ยวสู้กันเต็มที่ หวังกระตุ้นการขาย เร่งระบายสต็อกที่มี เพราะหากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบังคับใช้ ตลาดอาจ "สะดุด" ชั่วขณะ สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อ "ยอดโอน กรรมสิทธิ์" ที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ปีก่อน โตพุ่งแรง เป็นประวัติการณ์ในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2558 อีกด้วย

           ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ฉายภาพในที่สุดมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Macroprudential) ได้ส่ง ผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่อง เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ยิ่งผนวกกับแนวโน้ม ดอกเบี้ย "ขาขึ้น" จึงทำให้ไตรมาส 4 ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ล้นหลาม

          มากขนาดไหน? สถิติจากศูนย์ข้อมูลระบุว่า ไตรมาส 4 โครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮ้าส์ โอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศมากถึง 62,665 ยูนิต คอนโด 35,865 ยูนิต รวม 98,530 ยูนิต เพิ่มขึ้น 7.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าโครงการแนวราบ อยู่ที่ 144,945 ยูนิต คอนโด 102,173 ยูนิต รวมมูลค่า 247,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.5% ในจำนวนนี้หากพิจารณาเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการโอนกรรมสิทธิ์กันอย่างคึกคัก 56,047 ยูนิต เพิ่มขึ้น 16.7% มูลค่า 173,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.9% และ "คอนโด" ถูกเร่งโอนมากสุดถึง 50% เพราะเป็นโปรดักท์ที่จะได้รับผลกระทบ ค่อนข้างสูง จากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร เทียบกับโครงการแนวราบเป็นการซื้ออยู่อาศัยจริง (Real Demand)

          ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2562 ยังเป็นห้วงเวลาก่อนมาตรการมีผล จึงคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ อยู่ในช่วง "ขาขึ้น" จำนวน 46,130 ยูนิต เพิ่ม 9.6% มูลค่า 142,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8%

          หลัง 1 เม.ย.'ตลาดวาย'
          เมื่อการคุมเข้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบังคับใช้ 1 เม.ย.เป็นต้นไป แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์จึงดิ่ง! โดยคาดการณ์ว่าไตรมาส 2 โครงการแนวราบ และคอนโดจะอยู่ที่ 35,567 ยูนิต ลดลง 28.7% มูลค่ารวม 104,292 ล้านบาท ลดลง 28.2% ไตรมาส 3 อยู่ที่ 39,046 ยูนิต ลดลง 19.7% มูลค่ารวม 113,570 ล้านบาท ลดลง 15.2% และไตรมาส 4 อยู่ที่ 40,714 ยูนิต ลดลง 27.4% มูลค่ารวม 119,581 ยูนิต ลดลง 31.4%

          "สถานการณ์ยังไม่ถึงกับเบรกหัวทิ่ม เพราะ หากมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแสดงว่าของในมือ ที่เร่งโอน ผู้ประกอบการเก็บเงินจากลูกค้าได้แล้ว แต่ของที่จะโอนไตรมาส 2 ลดลง บวกกับมีมาตรการคุมเข้มสินเชื่อบ้านบังคับ ถ้าตีความว่าหัวทิ่มคงไม่ แต่ทำให้ตลาดชะลอตัวจริง"

          เขาประเมินว่า การเร่งเคลียร์สต็อกของ ดีเวลลอปเปอร์ในไตรมาสแรก ยังทำให้เกิดการ เฉือนกำไร เพื่อให้เกิดการขายเร็ว ไม่พอขอผนึกกำลัง กับแบงก์เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจูงใจด้วย  "เชื่อว่านี่เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ"

          สินเชื่อบ้านเร่งโตตามยอดโอน
          ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในปี 2561 มีมูลค่า 717,557 ล้านบาท ขยายตัว 13.2% โดยไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีการเร่งตัวขึ้น มีการปล่อยสินเชื่อ 207,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อคงค้างปี 2561 มีมูลค่า 3,795,058 ล้านบาท ขยายตัว 7.7%

          หากประมาณการทั้งปี คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่จะมีมูลค่า 670,400 ล้านบาท ลดลง 3.2% และสินเชื่อคงค้างยังคงขยายตัวเพิ่ม

          "สินเชื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ชนะปีก่อนหน้า เล็กน้อย โดยมีการปล่อยสินเชื่อ 207,000 แสนล้านบาท เพราะแบงก์ก็มีการแข่งขัน รวมถึงมีการรีไฟแนนซ์ระหว่างธนาคารด้วย"

          ดีเวลลอปเปอร์แก้เกมหนีตาย

          เป็นปกติเมื่อตลาดใดตลาดหนึ่งโดนสกัด ดีเวลลอปเปอร์ต้องปรับตัวตามเกม หาทางสร้างการเติบโต วันจักร์ บุรณศิริ ประธาน ผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มาตรการคุมเข้มสินเชื่อทำให้บริษัทต้องตั้งเป้าหมายอย่าง "ระมัดระวัง" โดยเฉพาะยอดขายเล็งไว้ที่ 36,000 ล้านบาท "ลดลง" จากปีก่อน มียอดขาย 48,500 ล้านบาท

          ขณะที่การเปิดโครงการใหม่วางไว้ 28 โครงการ มูลค่า 46,600 ล้านบาท น้ำหนักการพัฒนาโปรดักท์เน้นไปที่ "แนวราบ" มากขึ้น เป็นบ้านเดี่ยว 9 โครงการ สัดส่วน 40% ทาวน์เฮ้าส์ 7 โครงการ สัดส่วน 12% รวมแล้ว แซงคอนโดมิเนียมที่จะเปิด 12 โครงการ มีสัดส่วน 48% เทียบปี 2561 คอนโดมีสัดส่วนถึง 70% บ้านเดี่ยว 21% และทาวน์เฮ้าส์ 9%

          กลยุทธ์ "ราคา" เป็นสิ่งที่โปรดักท์ ทุกหมวดนำมาใช้ แสนสิริ ก็เช่นกัน เพราะโครงการใหม่ที่จะลอนซ์โฟกัสไปที่ตลาด "เรียลดีมานด์" ราคาจับต้องได้มูลค่า 32,200 ล้านบาท สัดส่วน 69% อีก 27% จะจับตลาดระดับกลาง และ 4% เป็นเซ็กเมนต์พรีเมียมจับเศรษฐีกระเป๋าหนัก ซึ่งปีที่ผ่านมาทุกค่ายแห่ไปจับตลาดไฮเอนด์ พรีเมียมกันมากแล้ว แต่กำลังซื้อยอดพีรามิดมีแค่ "หยิบมือ" อาจไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตในปีนี้

          สำหรับปีก่อน แสนสิริ ทำตลาดที่อยู่อาศัย จับตลาดระดับกลาง 59% พรีเมียม 5% และราคาจับต้องได้ 36%

          "การพัฒนาโครงการปีนี้ยังต้องอ่านเกม ให้ละเอียดยิบ ลงลึกถึงระดับ Micro จึงพบว่า ตลาด Affordable มีดีมานด์อยู่จำนวนมาก ส่วนโครงการแนบราบบ้านเดี่ยวก็เติบโตสูง"

          อย่างไรก็ตาม นิยามราคาจับต้องได้ของแสนสิริ ขึ้นอยู่ Positioning ของแบรนด์และกำลังซื้อกลุ่มเป้าหมาย เช่น คณาสิริ 3-5 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 1 ล้านบาทปลายๆ ไปจนถึง 2.5 ล้านบาท ส่วนคอนโดราคา 2-3 ล้านบาท

          นับวันอสังหาฯ ยิ่งเป็นสนามรบของ "บิ๊กเพลเยอร์" มีศักยภาพรอบด้านทั้งเงินทุน องค์ความรู้ ทว่าสมรภูมิที่อยู่อาศัยอยู่ในยุคการแข่งขันสมบูรณ์ ข้อมูลตลาดมีเปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมาก การวิเคราะห์และเห็น "เรียลดีมานด์" ไม่ใช่แค่ดีเวลลอปเปอร์ รายเดียว แต่ทุกค่ายเห็นไม่ต่างกัน จึงเปิดทาง ให้แห่แหนชิงขุมทรัพย์กลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาโปรดักท์เซ็กเมนต์เดียวกัน เพิ่มการแข่งขันดุเดือด มุมมองของ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) การขับเคลื่อนธุรกิจปีนี้ต้องคิดล้ำ (Beyond) เพื่อฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ การเมือง ดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดถูกหมายตาว่า "ซัพพลายล้น" รวมถึงมาตรการแอลทีวี มีผลบังคับใช้

          ส่วนการพัฒนาโครงการ เสนาฯ ปรับตัว เปิดโครงการแนวราบในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองรองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะช่วยบูมเศรษฐกิจในพื้นที่เป็น ปัจจัยหนุนรายได้ของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อีกทอด

          ปี 2562 บริษัทจะเปิด 22 โครงการ 7,457 ยูนิต มูลค่ารวม 24,013 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 10 โครงการ บ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 โครงการ ต่างจังหวัด 3 โครงการ และอีอีซี 3 โครงการ จากปี 2561 เสนาฯ เอาดีกับตลาดคอนโดมิเนียมจนขึ้นอันดับ 2 ที่ลอนซ์คอนโดมิเนียมมากถึง 6,397 ยูนิต รองจากแสนสิริ

          บริษัทยังให้ความสำคัญกับการ "ยิง" เป้าหมายเล็กปังก่อนคว้าเป้าใหญ่หรือ Small is Big  โดยทุกแผน ทุกกลยุทธ์ต้องทำให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาตลาดเรียลดีมานด์ให้เจอ เพราะที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์หลงไปกับการพัฒนาคอนโด จับกลุ่มเป้าหมายนักลงทุน นักเก็งกำไร รวมถึงต่างชาติ โดยเฉพาะจีน เพราะ กำลังซื้อมหาศาล แต่แอลทีวีแตะเบรก จึงหันมามองธุรกิจอสังหาฯที่หัวใจหลักหรือ Core Business พัฒนาให้คน อยากมีบ้านได้อยู่จริงๆ

          ที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์อาจมองมาตรการแอลทีวี กระเทือน ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 และ 3 แต่ "ดร.เกษรา" วิเคราะห์ว่าคนซื้อหลังแรก "กระทบแน่" หากวางเงินดาวน์ต่ำ แบงก์เข้มปล่อยกู้ ไม่มีเงินทอนหรือสินเชื่อ Top-up กู้ได้ 110-120% บ้าง อาจมีเงินดาวน์ ไม่พอวันโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าต้องหาเงินเติมจะลำบาก จึงทดลอง "ไฟแนนซ์ เช็คอัพ เดย์" ร่วมกับ 5 ธนาคารพาณิชย์ ส่งเจ้าหน้าที่ 40 ราย รวมทั้งเครดิตบูโร มาตรวจสถานะการเงินและความสามารถในการกู้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่ซื้อ โครงการนิช โมโน แบริ่ง

          ปะทุ Price war ชิงเค้ก

          ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า หากซัพพลายที่อยู่อาศัยจะตั้งต้นขายในปี 2562 ราว 133,000 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดราว 59,000 ยูนิต แต่เร่งโอน "หนี" มาตรการ แอลทีวี 1 เม.ย.นี้ ได้ราว 30,000-40,000 ยูนิต มูลค่าราว 100,000 ล้านบาท ตัวอย่างบิ๊กเนม แห่ระบายสต็อก เช่น แสนสิริมีโปรดักท์ พร้อมอยู่เพื่อขายและเร่งเฆี่ยนโอน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 3,500 ล้านบาท คอนโด 3,000 ล้านบาท คาด 2 เดือนขายหมด ออลล์ อินสไปร์ มีสต็อกหลักร้อยล้านบาท เพราะดีเวลอปเปอร์หน้าใหม่พัฒนาโครงการไม่มากนัก

          ณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน มหกรรมบ้าน และคอนโด ครั้งที่ 40 กล่าวว่า แอลทีวี ทำให้ผู้เล่นยักษ์ใหญ่เร่งระบายสต็อก โอนกรรมสิทธ์ที่อยู่อาศัยก่อนเดือนหน้า เพราะไม่เช่นนั้น "ลูกค้าจะลำยาก" การเร่งโอน จึงเห็นผู้ประกอบการลุย "สงครามราคา" (Price war) ลดกันถึง 5-10% ถือว่าลดแรงมาก เมื่อเทียบกำไรสุทธิของธุรกิจอยู่ที่ 10-15% สะท้อนให้เห็นภาพดีเวลลอปเปอร์ยอมเฉือนกำไรตัวเองลง

          แต่ไม่ว่ารายใหญ่จะออกหมัดตลาดแบบไหน ยังคง "ได้เปรียบ" รายเล็ก แต่การแข่งราคาจะเพิ่มโอกาสโกยยอดขายมากขึ้น เพราะรายเล็กไม่กล้า "ชน" ตรงๆ อยู่แล้ว จึงต้องเลี่ยงเล่นเกมกลยุทธ์ Customization เลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ แล้วตอบสนองความต้องการของลูกค้า

          "ถ้าแข่งราคาชนรายใหญ่ตรงๆ ย่อมสู้ไม่ได้ ผู้ประกอบการคงตายก่อน เพราะต้นทุนต่างกัน" เขากล่าวอีกว่า ทิศทางตลาดอสังหาฯ ปีนี้ถือเป็น "ปีทอง" ของโครงการแนวราบ เพราะแค่ 1 เดือนเศษ   บ้านเดี่ยว ขายดิบขายดีมาก และ ตลาดระดับราคา 2-5 ล้านบาท ยังเป็นที่หมายตาของคนอยากมีบ้านด้วย ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมคาดว่าปีนี้จะทรงตัว จากเคยเป็น"พระเอก" มาตั้งแต่ปี 2546

          อย่างไรก็ตาม โค้งสุดท้ายก่อนแอลทีวีมีผล 3 สมาคมอสังหาฯ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร และสมาคม อาคารชุดไทย เตรียมจัดงาน"มหกรรมบ้านและคอนโดครั้งที่ 40" ซึ่งจะระดมที่อยู่อาศัย แนวราบ แนวสูง มาเสิร์ฟผู้บริโภค และกระตุ้นยอดขายกันเต็มที่ โดยเฉพาะตลาดเรียลดีมานด์ 2-5 ล้านบาท

          "การแข่งโหมแคมเปญ การตลาด จัดเต็มโปรโมชั่น เป็นโอกาสของคนซื้อที่อยู่อาศัย ตอนนี้ จะได้ราคาถูกสุด" มุมมอง วรยุทธ กิตติอุดม คณะกรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

          เขายังระบุว่าตลาดช่วงนี้คึกคัก แต่หลัง 1 เม.ย.นี้ แนวโน้มตลาดคาดว่าจะ %"เงียบ" เพราะนอกจากเจอแอลทีวีแล้ว 15 "การเมือง" และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น 10 ยังเป็นปัจจัยกระทบอีกทอดหนึ่ง

          มุมมองจากผู้ประกอบการฟันธง "แอลทีวี" กระทบ แต่ด้านบวก ถือว่าช่วยสกัดการเก็งกำไรจริงๆ โดยเฉพาะ "คนไทย" กลุ่มที่น่าจะหายไปไม่แพ้กัน คือบรรดาผู้ตั้งตนเป็น "กูรู" แนะนำการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ ส่วนการซื้ออสังหาฯของ "ชาวต่างชาติ" โดยเฉพาะ จีนเป็นการซื้อเพื่อลงทุน และอยู่อาศัยจริง เช่นกัน ซึ่งถือเป็น "โอกาส" ของผู้ประกอบการ จากที่ผ่านมากำลังซื้อคนไทยซบเซา และแบงก์เคี่ยวปล่อยกู้

          อัดแพ็คเกจ เฆี่ยน! โอน

          จากการสำรวจพบว่าบิ๊กเนม "โนเบิล" หั่นราคา 50% เอพี ไทยแลนด์เปิดจอง บ้านกลางเมืองพระราม 9-อ่อนนุช โซนเอ็กซ์คลูซีฟ ใกล้คลับเฮ้าส์รับโปรฯ อยู่ฟรี 10 ปี (มีเงื่อนไข) ก่อนมาตรการรัฐ "แสนสิริ" ส่ง "โปรหมดเปลือก" ระดม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม  พร้อมอยู่กว่า 30 โครงการทั่วประเทศ จูงใจด้วยข้อเสนอพิเศษ ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน ฟรีค่าส่วนกลาง เสนออยู่ฟรี 2 ปี สำหรับคอนโดพร้อมอยู่ ฯ ตั้งแต่ วันนี้ถึง 15 มี.ค.2562 รวมระยะเวลา 45 วัน

          ค่าย "เสนาดีเวลลอปเม้นท์" ขนคอนโดนับ 10 โครงการ จัดซูเปอร์ เซอร์ไพรส์ลดทะลุพิกัด ส่วนบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมฯพร้อมอยู่ ยังมีข้อเสนอดาวน์ 0 บาท กู้ได้ 100% รับส่วนลด เป็นต้น ด้านพฤกษา โฮลดิ้ง มี Last Flight Sale กระตุ้นโครงการบ้านเดียว ทาวน์โฮม ส่วนคอนโดมิเนียม มีตัวอย่างโปร Eco All Right มาแรงแซงคิวมาตรการรัฐ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษ ฟรี! ค่าใช้จ่าย วันโอน ผ่อนล้านละ 1,500 บาทอต่อเดือน มีเงื่อนไขอื่นตามมา แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ (โกลเด้นแลนด์) ลุยมีนา มีเฮ! โปรแรง แซงมาตรการรัฐ... ในโครงการ แนวราบ เช่น ทาวน์โฮม โกลเด้น ทาวน์ เป็นต้น

          "เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น" เสิร์ฟโปรโมชั่นให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านภายในปี 2562 นำโครงการพร้อมอยู่ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม และโฮมออฟฟิศจำนวน 36 โครงการ ราคา 2-60 ล้านบาท ร่วมแคมเปญ "แม่รีบ! มาตรการลด ก่อนมาตรการรัฐ" มอบส่วนลดมากมายภายใน 15 มี.ค. นี้ พ่วงกระตุ้นการตัดสินใจซื้อก่อนมีการปรับอัตราดอกเบี้ยการซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 20%

          "อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์" นำคอนโด พร้อมอยู่มาจัดโปรโมชั่นจูงใจด้วยการกู้ผ่าน "Quick Deal" Pick Now! แม้กระทั่งคอนโดไฮเอนด์ ยังมี Luxe Deals ดึงดูดด้วยดกเบี้ยคงที่ 1! นาน 3 ปี "เจ้าพระยามหานคร" จัด "โปรแร๊งส์ แซงทุกสถานี" นำคอนโดพร้อมอยู่มาจัดโปรโมชั่นให้แบบไม่อั้น ลดอีกเป็นล้าน เป็นต้น

          สถานการณ์ยังไม่ถึงกับเบรกหัวทิ่ม แต่มาตรการ คุมเข้มสินเชื่อ ทำให้ตลาด ชะลอตัวจริง

          นับถอยหลัง..แบงก์เข้มสินเชื่อออกกฎเหล็ก"แอลทีวี"ดีเดย์ 1 เม.ย.ปีนี้"ดีเวลลอปเปอร์"ผึ้งแตกรังอัดโปรสุดแรงเกิด ชู Price War ดันรายได้โค้งท้ายก่อน"ตลาดวาย"
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ