ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว
Loading

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2562
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้มาตรการคุมสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้ชะลอตัว 0.7% ส่งผลให้โครงการเปิดตัวใหม่ลดลง 5.3% ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างคาดพุ่งทะยาน 4 ล้านล้านบาท ตามราคาบ้านที่แพงขึ้น
          อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นกดกำลังซื้อประชาชน

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้มาตรการคุมสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้ชะลอตัว 0.7% ส่งผลให้โครงการเปิดตัวใหม่ลดลง 5.3% ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างคาดพุ่งทะยาน 4 ล้านล้านบาท ตามราคาบ้านที่แพงขึ้น

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 คาดว่าผลจากมาตรการควบคุมสินเชื่อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลตลาดที่อยู่อาศัยชะลอทั้งในด้านอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (ปริมาณสินค้า)โดยในด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะลดลง 17.9% และมูลค่า 15.1% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยคาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศจะลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนอุปทานโครงการเปิดตัวใหม่คาดว่าลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วแต่ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปี 2561

          สำหรับแนวโน้มที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ปี 2562 คาดว่ามีจำนวน 112,044 หน่วยแบ่งเป็นประเภทบ้านจัดสรรประมาณ 41.1% และเป็นอาคารชุด 58.9% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 100,800-123,250 หน่วยลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 สำหรับที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2561 มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ 122,877 หน่วยเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 114,501 หน่วยโดยที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งบ้านจัดสรรและบ้านที่ประชาชนสร้างเองเพิ่มขึ้น 11.5% ส่วนอาคารชุดเพิ่มขึ้น 3.9%

          ส่วนแนวโน้มที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ คาดว่ามี จำนวน 136,799 หน่วยโดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 123,100-140,900 หน่วยเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 122,877 หน่วยขณะที่แนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปริมณฑลในปี 2562 คาดว่ามีจำนวน 161,457

          หน่วยมีช่วงคาดการณ์อยู่ประมาณ 145,300-177,600 หน่วยมีมูลค่า 479,904 ล้านบาท มีช่วงคาดการณ์อยู่ประมาณ 431,900-527,900 ล้านบาทโดยจำนวนหน่วยลดลง 17.9% และมูลค่าลดลง 15.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมียอดโอนกรรมสิทธิ์ 196,630 หน่วยและมีมูลค่า 565,112 ล้านบาท

          ด้านแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศคาดว่ามีมูลค่า 697,814 ล้านบาทโดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 692,600-701,900 ล้านบาท มีแนวโน้มลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีมูลค่า 702,900 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง

          "สรุปภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2561 ว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆรถไฟฟ้าความเร็วสูง นอกจากนี้ ผลจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ส่งผลให้ปลายปีมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นมามากเป็นพิเศษและเกิดอุปทานใหม่ขึ้นทดแทนอุปทานเดิมที่ได้ขายออกไปแล้ว"

          ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั้งระบบทั่วประเทศมีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศณสิ้นปี 2562 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะมีมูลค่า 4.1 ล้านบาท โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 4.1-4.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาท ตามราคาบ้านที่แพงขึ้น

          ด้านนางสาวอัจฉริยา อังศุธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและงบประมาณ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV กล่าวว่าบริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ 31 โครงการรวมมูลค่า 38,200 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 25 โครงการมูลค่า 28,600 ล้านบาท และโครงการแนวสูงจำนวน 6 โครงการมูลค่า 9,600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังตั้งงบลงทุนซื้อที่ดินรวม 15,000 ล้านบาท เป็นการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาแนวราบ 12,000 ล้านบาท และแนวสูง 3,000 ล้านบาท

          ส่วนผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV )ของธปท. นั้นนางสาวอัจฉริยา กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากมีจุดแข็งที่ลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และมีแผนที่จะปรับกลยุทธ์การทำงานใหม่โดยการเข้าถึงลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ