ธปท.ปรับเกณฑ์สินเชื่อบุคคลเปิดทางกู้ประกอบอาชีพ
พรสวรรค์ นันทะ
ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเกณฑเพิ่มเติมสินเชื่อส่วนบุคคล เอื้อให้กู้ไปประกอบอาชีพได้ หวังช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
เมทินี ศุภสวัสดิ์กุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทที่ประกอบธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) ทุกแห่ง ให้รับทราบการขยายขอบเขตวัตถุประสงค์การปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มเติม ตามประกาศกระทรวงการคลังที่แก้ไขเกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์นำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ จากเดิมนิยามกำหนดให้มีวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อสินค้าและ บริการ
ทั้งนี้ การขยายวัตถุประสงค์การให้กู้ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้บุคคลและธุรกิจรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบง่ายขึ้น สอดคล้องกับประกาศกระทรวงการคลังที่ต้องการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ โดยหลักเกณฑ์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 25 ก.พ. 2560 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี การแก้ไขเกณฑ์และขยายขอบเขตวัตถุประสงค์การปล่อยสินเชื่อบุคคลดังกล่าว ไม่รวมการปล่อยสินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อ การเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ สินเชื่อเพื่อการรักษาพยาบาล สินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงานที่ต้นสังกัดทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ และสินเชื่ออื่นๆ ที่ ธปท.กำหนด
สำหรับการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลสามารถปล่อยกู้แต่ละรายได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ของผู้กู้เฉลี่ยต่อเดือน หรือ 5 เท่าของกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝาก ที่ฝากไว้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมกันได้ไม่เกิน 28% และหากผู้ให้บริการจะคิดอัตราดอกเบี้ยปรับ หรือค่าบริการอื่นใดเพิ่มเติมต้องมีเหตุอันสมควร และต้องแจ้ง ธปท.ให้พิจารณาอนุญาตก่อน ขณะเดียวกันต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ธปท.ยังแก้ไขกฎเกณฑ์เพิ่มเติมให้นันแบงก์ต้องรายงานงบการเงินประจำปีให้ ธปท.ภายใน 180 วันทำการ รวมทั้งกำหนดให้นันแบงก์ต้องแจ้งการย้ายสถานที่ตั้งหรือปิดสาขาต่อ ธปท.ภายใน 15 วัน รวมทั้งกำหนดให้นันแบงก์ต้องรายงานข้อมูลเพิ่มเติมเป็นรายเดือน สำหรับการให้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพด้วยเพื่อให้การติดตามดูแลทำได้ใกล้ชิดขึ้น
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มชะลอลง แต่ภาพรวมหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะมีผลต่อการขยายสินเชื่อ และความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่
ทั้งนี้ ตามประกาศดังกล่าว ธปท.ได้ออกข้อปฏิบัติการเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล โดยให้สถาบันการเงินอาจเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าบริการ หรือเบี้ยปรับในการค้างชำระหนี้จากผู้บริโภค คำนวณรวมแล้วต้องไม่เกิน 28% ต่อปี
นอกจากดอกเบี้ย ค่าบริการ เบี้ยปรับแล้ว สถาบันการเงินอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามที่ได้จ่ายจริงและพอสมควรแก่เหตุได้เฉพาะ ค่าใช้จ่ายที่สถาบันการเงินต้องจ่ายให้หน่วยราชการ ต้องจ่ายให้บุคคลอื่นหรือหน่วยงานภายนอกที่มีหลักฐานชำระเงินที่ตรวจสอบได้ ค่าใช้จ่ายที่ทำให้ต้นทุนดำเนินงานของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น อันเนื่องจากการให้บริการ ผู้บริโภค หรือการผิดนัดชำระหนี้เฉพาะรายตามที่ ธปท.กำหนด
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงิน ต้องไม่นำดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับ รวมทั้งค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น มารวมกับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระเพื่อคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอีก และต้องส่งใบแจ้งหนี้ให้ผู้บริโภคทราบไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนถึงกำหนดชำระหนี้ และต้องมีหนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย
ประกาศดังกล่าว ยังห้ามสถาบันการเงินโอนหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับไปเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด หรือหนี้ตามสัญญาสินเชื่อประเภทอื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก ผู้บริโภคอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์