ทุ่ม 7 หมื่นล.ช่วยสินเชื่อซื้อ-ซ่อม-สร้าง
Loading

ทุ่ม 7 หมื่นล.ช่วยสินเชื่อซื้อ-ซ่อม-สร้าง

วันที่ : 13 พฤศจิกายน 2567
ครม.อนุมัติสินเชื่อ 7 หมื่นล้าน ช่วยรายย่อย-คนซื้อและซ่อมบ้าน มีทั้งออมสินปล่อยกู้ สร้างงาน อาชีพ วงเงิน 1.5 หมื่นล. ให้ลูกจ้าง หาบเร่ แผงลอย คนรับจ้าง อาชีพอิสระ กู้ไม่เกินคนละ 5 หมื่น ดอกร้อยละ 0.75/เดือน ใช้คืนใน 5 ปี เชื่อช่วยได้กว่า 3 แสนราย และธอส.ปล่อยกู้ 'ซื้อ-สร้าง' 5 หมื่นล. 'ซ่อมแต่ง' 5 พันล้าน ดอกร้อยละ 3 ต่อปี ช่วงแรก
     อุ้มรายย่อยเข้าถึงทุนเพิ่ม3วันหยุดยาวปี68

     เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ทำเนียบ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2568 และปี 2569 โดยภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี 2568 มี 21 วัน โดยมีวันหยุดเพิ่ม 3 วัน ดังนี้ 1.กำหนดให้วันจันทร์ที่ 2 มิ.ย. 2568 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเชื่อมต่อวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่ 31 พ.ค.-3 มิ.ย. 2568 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

    2.กำหนดให้วันจันทร์ที่ 11 ส.ค. 2568 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลให้มีวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน ตั้งแต่ 9-12 ส.ค.2568 ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติ และ 3.กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 ม.ค. 2569 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลให้มีวันหยุดต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่ วันที่ 31 ธ.ค. 2568 -วันที่ 4 ม.ค.2569 เพื่อให้เชื่อมต่อวันหยุดในช่วงปีใหม่

    วันเดียวกัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนิน "โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ" วงเงินรวมไม่เกิน 15,000 ล้านบาท สำหรับเสริมสภาพคล่องและบรรเทาหนี้สินประชาชนรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ ลูกจ้าง พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย หรือผู้รับจ้างให้บริการต่างๆ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง หรือนำไปชำระหนี้นอกระบบหรือหนี้ดอกเบี้ยสูงที่กู้ยืมมาประกอบอาชีพ โดยให้สินเชื่อรายไม่เกินรายละ 50,000 บาท

    ดอกเบี้ยคงที่ 0.75% ต่อเดือน ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ยื่นขอภายใน 30 ธ.ค.2568 ธนาคารออมสินไม่ขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาล โดยจะปรับลดกำไรบางส่วนแทน ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อที่ผ่อนปรนมากกว่าสินเชื่อปกติ กระทรวงการคลังคาดว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 300,000 ราย

    "มาตรการนี้เป็นสินเชื่อที่รัฐบาลตั้งใจต่อสู้กับสินเชื่อนอกระบบ ในการที่จะดึงสินเชื่อนอกระบบเข้าสู่ในระบบ แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าสินเชื่อในระบบ แต่ต่ำกว่าสินเชื่อนอกระบบเยอะ ซึ่งธนาคารออมสินตัดกำไรในส่วนนี้โดยไม่ของบประมาณภาครัฐแม้แต่บาทเดียว" นาย เผ่าภูมิกล่าว

    นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดำเนินมาตรการ "ซื้อ-แต่ง-ซ่อม-สร้าง" วงเงิน 55,000 ล้านบาท โดยแยกออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่

    1.มาตรการสินเชื่อซื้อ-สร้าง วงเงิน 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยพิเศษ 5 ปีแรก 3% ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือคอนโดมิเนียม ปลูกสร้างบ้าน หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อใช้ในการอยู่อาศัย

    2. มาตรการสินเชื่อ ซ่อม-แต่ง วงเงิน 5,000 ล้านบาท สินเชื่อ ดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปีแรก 1% ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นสินเชื่อเพิ่มเพื่อต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้าน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย โดยมาตรการนี้เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังอุทกภัยของรัฐบาล ดังนั้นสองมาตรการนี้จึงเป็นมาตรการคู่ขนานกัน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่กระทรวงการคลังสนับสนุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

    ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และหน่วยงานเศรษฐกิจว่า ในวงหารือได้เคาะวันประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วันที่ 19 พ.ย. 2567 เป็นครั้งแรก โดยมีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีวาระที่จะต้องหารือกันหลายเรื่อง ส่วนจะมีโครงการใดบ้างตนขอไม่บอก ต้องเข้าใจว่าคณะกรรมการนี้ชื่อคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภาพค่อนข้างใหญ่

    "การประชุมวันที่ 19 พ.ย. 67 จะได้เห็นกันชัดเจนว่าการขับเคลื่อนในการเดินหน้าเศรษฐกิจจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน โดยมีภารกิจของกระทรวงการคลังเ

    ป็นหลัก ซึ่งจะแยกเป็นรายเซ็กเตอร์ว่ามีเซ็กเตอร์ใดที่จะต้องกระตุ้นเพิ่มบ้าง นอกจากนั้นจะมีโครงการของกระทรวงอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่น โครงการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์"

    นายจุลพันธ์กล่าวว่า จากนี้จะรวบรวมข้อมูลให้เห็นภาพว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะไปทิศทางใด ทั้งมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงของขวัญปีใหม่ ขณะที่โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะอยู่ภายใต้การหารือของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย แต่ขอให้รอข้อสรุปอีกครั้ง
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ