คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบสัปดาห์
1 ตั้งกองทุน 5 หมื่นล้าน ช่วยคนรายได้น้อย
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะได้รับเงินจัดสรรจากงบประมาณ 2561 เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการลงทะเบียนจะสิ้นสุดในวันที่ 15 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเริ่มแจกสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 นี้เป็นต้นไป ได้แก่ การช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี การสนับสนุนค่าก๊าซ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินปีละ 3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ เงินที่เหลือ รัฐบาลอยู่ระหว่างการให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ได้แก่ การให้วงเงินซื้อของในร้านธงฟ้าประชารัฐ และการแจกเงินให้กับผู้มาลงทะเบียนรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ปี ให้เป็นรายเดือนเป็นเวลา 1 ปี
2 นักลงทุนไม่หนุน เจริญถอน 3 กองอสังหาฯ
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเม้นต์ (THIF) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทล อินเวสเม้นต์ (TRIF) ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ก่อนการประชุมจริงในวันที่ 17-18 พ.ค.นี้
ผลการประชุมดังกล่าว "ส่วนใหญ่ไม่อยากให้เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะต้องการรับเงินปันผลไปเรื่อยๆ" แหล่งข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผย และก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งให้ผู้ถือหน่วยศึกษาข้อมูลและรักษาสิทธิโดยการเข้าร่วมประชุม เนื่องจากที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่าไม่ควรอนุมัติขายทรัพย์สิน
3 ลดไซส์ขึ้นราคาทางอ้อม
หลังตรวจพบสินค้าลดปริมาณแต่ใส่ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเท่าเดิม ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสินค้าไม่ได้ขึ้นราคา ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเป็นการขึ้นราคาสินค้าทางอ้อม จากปัญหา ดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ 8 ราย และห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ 4 ราย เพื่อพิจารณามาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภค พร้อมขอความร่วมมือไปยังผู้ผลิตหากมีการปรับลดปริมาณสินค้าและ ขนาดบรรจุภัณฑ์ จะต้องแจ้งเรื่องต่อกรมการค้าภายในก่อน และให้ผู้ผลิตไปช่วยหาทางออกในกรณีที่เกิดขึ้นว่าจะช่วยเหลือหรือลดภาระให้กับผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง โดยกระทรวงพาณิชย์เสนอแนวทางให้ปรับลดราคาลงตามปริมาณและขนาดบรรจุที่ลดลงจะได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการจะนำไปปรึกษาฝ่ายบริหาร และจะกลับมาประชุมหาข้อสรุปอีกครั้งวันที่ 16 พ.ค.นี้
4 ครึ่งปีหลังอสังหาฯ กลาง-บนแห่ผุด
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานข้อมูลไตรมาสแรกมีการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ กรุงเทพฯปริมณฑล จำนวน 85 โครงการ ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในแง่มูลค่า 9.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2% แม้จำนวนโครงการที่เปิดใหม่ลดลง แต่นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังผู้ประกอบการรายใหญ่ 10 อันดับแรก จะยังเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย และแทบจะไม่เผชิญปัญหาปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ด้านผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กนั้น คาดครึ่งปีหลังนี้จะยังคงเปิดตัวโครงการใหม่น้อย เพราะอสังหาริมทรัพย์ระดับล่างยังเข้าถึงสินเชื่อยากและสถาบันการเงินคุมเข้มด้านการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การแข่งขันจะรุนแรงที่รายใหญ่
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์