มุมมอง 2 ดีเวลอปเปอร์โอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้ EEC
Loading

มุมมอง 2 ดีเวลอปเปอร์โอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้ EEC

วันที่ : 22 พฤษภาคม 2560
มุมมอง 2 ดีเวลอปเปอร์โอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้ EEC

ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่าสถานการณ์ที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกปี 2559 มีอัตราการดูดซับที่ต่ำลงจากปี 2558 ส่อแววถดถอยของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีความหวังในอนาคตอันใกล้ว่า หากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะเป็นปัจจัยบวกให้ภาค อสังหาฯกลับมาคึกคักอีกครั้ง

 

"มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันอสังหาฯชลบุรีโอเวอร์ซัพพลาย ขายยาก และยังมีกระแสคอนโดฯมาเติมที่ชลบุรีอีกเรื่อย ๆ ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม อัตราการดูดซับตลาดที่ลดลง วันนี้ คือ ตัวเลขที่เกิดจากอดีตปีสองปีที่แล้ว แต่อนาคตจะเป็นอย่างไรตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องช่วยกันคิดล่วงหน้าว่าจะผลักดันแนวโน้มเมืองให้เป็นอย่างไร

 

"เราจำเป็นต้องสร้างเมือง สร้างสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า สมาร์ทซิตี้ ให้คนเจนมิลเลนเนียล ต้องครอบคลุมการอยู่อาศัย ตั้งแต่รูปแบบเมือง ชีวิตคน ระบบการเชื่อมโยง ต้องให้ความสำคัญ หากไม่วางแผนเราอาจต้องผิดหวัง ดูจากชลบุรีหากย้อนไป 10 ปี พื้นที่ยังน่าอยู่กว่านี้ ยอมรับว่าแม้เราจะมีผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจสูง แต่ปัญหาเมืองแย่ลงทุกวัน ทั้งจราจร ขยะ และสังคม วันนี้รั้วโครงการบ้านจัดสรร กับโรงงานแทบจะ เป็นรั้วเดียวกัน และยังมีโรงงานนอกนิคมอีกมาก เกิดปัญหาความซับซ้อนของการใช้ประโยชน์ที่ดิน รถทุกประเภทใช้ถนนร่วมกันหมด ซึ่งต่อไปจะเป็นปัญหาใหญ่หากเราไม่มีการออกแบบเมืองที่ดี"

 

มีศักดิ์กล่าวอีกว่า โครงการอีอีซีจะเป็น กระแสผลักดันในการพัฒนาและออกแบบเมือง มองว่าชลบุรียังมีโอกาสที่ดี เพราะในอนาคตทั้งจังหวัดระยอง ชลบุรี จะมีคนมาอยู่เยอะ ดังนั้นต้องเตรียมเมืองเพื่อรองรับคนที่จะเข้ามาอยู่ หากไม่เตรียมไว้ล่วงหน้าต่อไปโฉมหน้าเมืองจะน่าเป็นห่วง ดังนั้นในอนาคตโครงการอีอีซี ถ้าเมืองเป็นเมืองคุณภาพ ทำรูปแบบที่เหมาะสม อสังหาฯจะมีโอกาสโตอีกมากและ ต่อไปการแข่งขันระดับโลกสูงขึ้น เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่เราต้องพึ่งพาพวกเขา ดังนั้นเราต้องเตรียมเมืองไว้ให้ดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาทัดเทียมนานาประเทศ

 

ด้าน "ณัฏฐนันท์ คุณาจิระกุล" นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดระยอง กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯขยายตัวดีมาตลอด ยกเว้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่อสังหาฯชะลอหนักที่สุด กระทั่งมีการปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ หมด เมื่อเงินกลับมาสะพัดในตลาดอีกครั้ง ก็เริ่มดีมาเรื่อย ๆ ถ้าจะลงก็ไม่มาก แต่ช่วงปี 2557 เป็นต้นมา อสังหาฯอยู่ในภาวะที่ฝืดมาก เกือบจะเท่าปี 2540 ปัญหาที่สำคัญ คือ ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมาก เช่น ลูกค้าจอง 10 ราย แต่กู้ผ่านแค่ 2 ราย ดีเวลอปเปอร์งัดทุกแคมเปญ หลายกลยุทธ์ก็ช่วยไม่ได้มาก ทั้งให้โอนฟรีไม่ต้องรอภาครัฐ หรือไปปิดหนี้ให้ลูกค้า แล้วเอาหนี้มารวมกับค่าบ้านธุรกิจอสังหาฯก็ยังฝืด

 

"การทำโครงการใหม่ ๆ ดีเวลอปเปอร์ยังมีเงินจะทำ แต่ตอนนี้ขายยาก ปัญหากู้ไม่ได้ ทำให้ซัพพลายมีมากเกิน ไม่เหมาะกับการลงทุนต่อเนื่อง แบรนด์โลคอลถึงกับหืดขึ้นคอ ถ้าเป็นตึกเล็ก ๆ พอขายได้ แต่หากเป็นตึกใหญ่ ที่ส่วนกลางเข้ามาแข่งแล้วขายตัดราคาต่ำกว่าโลคอลเพื่อหวังระบาย มองว่าดีเวลอปเปอร์ยังต้องอึดกันต่อไป ถือว่าอย่างไรสถานการณ์ก็ยังไม่แย่เท่าภาคอีสาน ในตอนนี้"

 

ณัฏฐนันท์กล่าวว่า ความหวังโครงการอีอีซี คือ เมื่อมีนักลงทุนมาลงทุนจริง แล้วมีความต้องการที่พักอาศัยเพิ่ม มีศักยภาพทางการเงิน ธนาคารก็น่าจะปล่อยสินเชื่อ และบรรยากาศคงจะคึกคักขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่จะมาลงระยองถือเป็นตัวสร้างบรรยากาศอย่างดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ