จับตาอสังหายังน่าห่วง คาดยอดโอนปีนี้ลด3% หวั่นแรงงานถูกลอยแพ
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลชะลอตัว ยังไม่มีสัญญาณการเกิดฟองสบู่ โดยประเมินในกรณีสถานการณ์ปกติจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 60 ประมาณ 116,000 หน่วย ลดลงจากปีก่อน 6.9% ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 170,000 หน่วย ลดลง 3% เช่นเดียวกับมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์น่าจะอยู่ที่ 431,000 ล้านบาท ลดลงเท่ากันที่ 3% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาในครึ่งปีหลัง คือปัญหาการจ้างงานที่ลดลง รวมถึงการปลดพนักงาน หรือปิดโรงงาน หากมีการเกิดขึ้นมากจะกระทบต่อบรรยากาศในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทันที เนื่องจากมีประชาชนบางกลุ่ม เริ่มกังวลและไม่อยากเป็นหนี้ระยะยาว 20-30 ปี ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นมีผู้ซื้อบางคนที่ถือใบจองที่อยู่อาศัยเมื่อ 2 ปีก่อน แต่พอมาถึงช่วงต้องขอกู้จากสถาบันการเงินจริงกลับกู้ไม่ผ่านมา เพราะสถานะทางรายได้เปลี่ยนไป
"ไตรมาสแรกยอดโอนลดลงมาก 39.9% เพราะเมื่อเทียบกับปีที่แล้วมีการเร่งโอนเพื่อรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ไปมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไตรมาสสอง และครึ่งปีหลังภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นได้ เพราะเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการจะมีการเร่งยอดขาย การทำตลาด และการโอนสูงกว่าปกติอยู่แล้ว ขณะที่ยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงิน ในไตรมาสแรกปล่อยกู้ไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท แต่ช่วง 9 เดือนที่เหลือน่าจะปล่อยกู้ได้ 4.64 แสนล้านบาท รวมทั้งปีเป็น 5.8 แสนล้านบาท หดตัว 1%"
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กรณีมีกระแสข่าวอาจเกิดปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ปริมาณสูงนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้พบอะไรที่ผิดปกติ แต่สิ่งที่พบปัญหาคือ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เริ่มขยายตลาดไปต่างจังหวัดจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะเรียก ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์มาหารือ
น.ส.อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่าสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้จับตาและระมัดระวังมาตลอด เห็นได้จากบ้านระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เมื่อลูกค้ายื่นขอสินเชื่อจะถูกธนาคารปฏิเสธสูงถึง 60% ปัญหาใหญ่เกิดจากผู้กู้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้
ทั้งนี้ในส่วนของธนาคารในช่วงปลายปี 59 จนถึงไตรมาส 1 แรกปี 60 ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านสูงถึง 50 % ของคำขอสินเชื่อ ขณะที่ปัจจุบันยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านลดลงเหลือ 40% เนื่องจากธนาคารมีการจับลูกค้าระดับกลางถึงสูง หรือระดับราคาบ้านตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้สัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อไตรมาสแรกดีขึ้น
สำหรับสินเชื่อบ้านรีไฟ แนนซ์ของธนาคารได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจึงได้เพิ่มวงเงิน สินเชื่อจาก 2,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์