จัดเก็บ ที่ดิน ยังไม่ชัด!ห่วงผู้บริโภคแบกภาระสศค.เร่งดูภาษีลาภลอย
วงสัมมนาร่าง กม.ภาษีที่ดินฯฉบับ ใหม่ ภาคธุรกิจชี้มีปัญหาตีความประเภทจัดเก็บ เกรงคิดอัตราสูง เป็นภาระผู้บริโภค อดีต รมว.พลังงานห่วงบาทแข็งกระตุก ส่งออก
วงสัมมนาชี้ผลดีภาษีใหม่
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่โรงแรมพูลแมน แกรนด์สุขุมวิท ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดสัมมนาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใต้กรอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กล่าวในการสัมมนาว่า การใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ จะทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินตรงกับมูลค่าที่ดินในปัจจุบัน และการจัดสรรที่ดินให้เหมาะกับสภาพการใช้งาน เนื่องจากการถือครองที่ดินยังกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีอำนาจจัดเก็บ ซึ่งจะต้องรอออกพระราชกฤษฎีกาและข้อสรุปการกำหนดอัตราภาษีอีกครั้ง
เล็งทบทวนเกณฑ์บ้านหลังแรก
นายพรชัยกล่าวว่า สำหรับข้อสังเกต ของคณะกรรมาธิการ สนช. เสนอทบทวนเรื่องข้อยกเว้นราคาบ้านพักอาศัยหลังแรกที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ปรับลดมาเป็น 20 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
นายพรชัยกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสามารถเก็บภาษีบำรุง โรงเรือนและที่ดินได้ปีละประมาณ 27,000 ล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ปีละประมาณ 980 ล้านบาท รวมเป็นปีละ 28,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดทำ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯฉบับใหม่คาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีมากขึ้นในหลักหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนการจัดเก็บภาษีพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในปัจจุบันร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. คาดว่าการพิจารณาจะเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้
ธุรกิจชี้เกณฑ์จัดเก็บยังไม่ชัด
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และ ที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงการทบทวนเกณฑ์ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก ตามข้อเสนอคณะกรรมาธิการ สนช.ว่า จะไม่กระทบต่อคนทั่วไปมากนัก เพราะว่าบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไปในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000-4,000 ยูนิตต่อปี ถือว่ามีไม่มาก ขณะที่ กำหนดเกณฑ์จัดเก็บบ้านหลังแรกที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป อาจทำให้ท้องถิ่นบางแห่งไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้
นายอิสระกล่าวว่า นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯยังขาดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เช่น ที่ดินเกษตรกรรมจะคิดอัตราภาษี 0.2% หากมีการปล่อยเช่าที่ดินเกษตรกรรมจะคิดอัตรา 0.2% เท่าเดิม หรือคิดภาษีในเชิงพาณิชยกรรม ซึ่งจะคิดที่อัตรา 2% ขณะเดียวกันบ้านพักอาศัยคิดอัตราภาษี 0.5% แต่หากมีการปล่อยเช่าที่ดินในรูปแบบบ้านพักอาศัยเช่นกัน จะคิดในอัตราภาษีในรูปแบบเดิมหรือคิดอัตราภาษีในเชิงพาณิชยกรรม
เกรงเป็นภาระผู้บริโภค
นายอิสระกล่าวว่า สำหรับสต๊อกเหลือขายและบ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะตีความเพื่อจัดเก็บภาษีอย่างไร ต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้มีความชัดเจนเช่นกัน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีในรูปแบบบ้านพักอาศัยและเชิงพาณิชยกรรมมีอัตราการเสียภาษีต่างกัน 3 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นห่วงในประเด็นการจัดเก็บที่สูงเกินไป สุดท้ายแล้วภาระภาษีจะถูกผลักไปยังผู้บริโภค จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องพิจารณาเรื่องราคาประเมินที่ดินด้วย เพราะในบางพื้นที่กฎหมายผังเมืองไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่ดิน แต่ราคาประเมินที่ดินสูง อย่างไรก็ตาม มองว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ จะไม่กระทบผู้อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 90% อยู่แล้ว
สศค.เร่งศึกษาภาษีลาภลอย
ส่วนกรณีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังศึกษาเพื่อออกกฎหมายจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่ได้รับประโยชน์หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือภาษีลาภลอยโดยเบื้องต้นจะเก็บในอัตรา 5% ของส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ในการเก็บภาษีลาภลอยจะพิจารณาถึงภาระที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จึงกำหนดวงเงินเก็บจากส่วนที่เพิ่มขึ้นของราคาทรัพย์สินหรือที่ดินไว้ถึง 50 ล้านบาท กลุ่มคนเสียภาษีต้องถือครองที่ดินหรือทรัพย์สินจำนวนมาก เพราะมูลค่าก่อนหน้าที่จะปรับขึ้นคงอยู่ในระดับหลายร้อยล้านบาท
นายกฤษฎากล่าวว่า สำหรับอัตราภาษี 5% จะถูกจัดเก็บต่อเมื่อมีการเปลี่ยนมือ หมายถึงว่าเป็นการขายทำกำไร ดังนั้นเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐ ทำให้ราคาที่ดินหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ต้องเสียภาษีคืนให้รัฐ ถ้าไม่ขายทรัพย์สินก็ไม่ต้องเสียภาษี
คาดราคาอสังหาฯขยับเพิ่ม
นายสุรเชษฐ์ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาและการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การเก็บภาษีลาภลอยยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่สาระสำคัญร่างกฎหมายในเบื้องต้นได้กำหนดจัดเก็บภาษีจาก 2 ส่วนคือ ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในรัศมีโครงการพัฒนาของรัฐ หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้ประกอบการที่มีสต๊อกบ้านและคอนโดมิเนียมเหลือขาย หรือนักลงทุน คนทั่วไปที่มีที่ดิน บ้านหรือคอนโดมิเนียมมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทในรัศมีในระยะ 2.5 กิโลเมตร จะเสียภาษีดังกล่าว และจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมสูงขึ้น อาทิ ในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน คาดว่าจะมีราคาที่ดินเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10%
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวความคิดการจัดเก็บภาษีลาภลอยจะซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการจัดเก็บภาษีครอบคลุมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลมีหน้าที่ต้องพัฒนาสาธารณูปโภคอยู่แล้ว อ้างว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการลงทุนคงไม่ถูกต้อง
'พิชัย'แนะลดดอกเบี้ยอุ้มค่าเงิน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงเงินบาทที่เคลื่อนไหวแข็งค่ารวดเร็ว กระทั่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกว่า น่าเป็นห่วงอย่างมาก จะกระทบการส่งออกที่เพิ่งฟื้นตัว จึงอยากให้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งดูแลค่าเงิน โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่อยู่ในปัจจุบัน และช่วยให้ ธปท.ไม่ต้องขาดทุนเพิ่มจากการแทรกแซงค่าเงิน
"ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เกิดจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขาดทุนและต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมากจากสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำตลอด 3 ปีตั้งแต่มีการปฏิวัติ อีกทั้งยังส่งผลให้การว่างงานเพิ่มสูงอีกกว่า 400,000 ราย ทะลุเกิน 1.2% สูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ จากข้อมูลที่ได้รับนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นยังลังเลที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง และ ไม่สามารถเจรจาทางการค้ากับประเทศต่างๆได้ อีกทั้งรัฐบาลไทยยังไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของนักลงทุนต่างประเทศที่ไม่ลงทุน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกก็เป็นแค่กลยุทธ์การตลาดเท่านั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการลงทุนแท้จริงได้ จะล้มเหลวเหมือนเขตเศรษฐกิจชายแดน 10 เขตที่รัฐบาลได้ทำก่อนหน้านี้" นายพิชัยกล่าว
เงินทะลักเข้า-เหตุไทยฐานแกร่ง
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ตลาดเงินพบว่า ที่ผ่านมามีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก แต่ไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนว่านักลงทุนอาจไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่กลับไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้แทน ส่วนตัวประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ แต่ยังไม่มากเท่ากับที่นักลงทุนคาดว่าค่าเงินบาทไทยจะมีทิศทางแข็งค่า จากการที่ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองอยู่ในระดับสูง มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และมีหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ทำให้พื้นฐานทางด้านการเงินของไทยอยู่ระดับที่ดี จนการลงทุนในไทยถูกว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของภูมิภาค ส่วนนี้ทำให้เงินยิ่งไหลเข้ามาในไทยและทำให้บาทแข็งค่า ภายใน 2 สัปดาห์แข็งค่าแล้วกว่า 2% ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง
บาทแข็งส่อทะลุ33บ./ดอลล์
สำหรับการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้ นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เปิดตลาดที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งค่าขึ้นปิดตลาดที่ 34.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางของจีนมีการปรับค่ากลางเงินหยวนเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ยังมีแนวโน้มแข็งค่ามองกรอบที่ 33.80-34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"ธปท.เข้ามาดูแลค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยังไม่เห็นค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ ส่วนกรณีที่ผู้ส่งออกเรียกร้องให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทมากกว่านี้นั้น มองว่า ธปท.มีเครื่องมือที่สามารถดำเนินการได้หลายช่องทาง อาทิ การส่งเสริมให้ใช้สกุลเงินท้องถิ่น ซื้อขายกันมากขึ้น โดยการใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เช่น กำหนดว่าหยวน-บาท อยู่ที่ระดับ 5 บาทต่อหยวน เป็นต้น ซึ่งค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าขึ้น 5.1% ใกล้เคียงกับเยนที่ แข็งค่า 5.6% ส่วนวอน และดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 7% และหยวนแข็งค่าเพียง 1.9%" นายจิติพลกล่าว
ดัน8มาตรการช่วยคนจน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้า การจัดสวัสดิการให้กับผู้ลงทะเบียน ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐว่า จะมีประมาณ 7-8 มาตรการ เช่น ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถเมล์ รถไฟ รถ บขส. รถไฟฟ้า ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ช่วยค่าครองชีพสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นบาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ แต่จะเป็นการทยอยให้ เช่น หากช่วยเหลือปีละ 1 หมื่นบาท จะทยอยให้เดือนละ 1 พันบาท เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพจริงๆ หากให้เป็นเงินก้อนอาจจะนำไปซื้อโทรศัพท์หรือของฟุ่มเฟือย และการให้เงินจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เพื่อให้กลุ่มคนรายได้น้อยพัฒนาตนเอง ไม่ใช่การให้เปล่า
"ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิของผู้ลงทะเบียนกว่า 14 ล้านราย การให้เงินจำนวนเท่าไร มาตรการจะให้อย่างไรนั้น คงต้องรอการตรวจสอบสิทธิก่อนว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์เท่าใด โดยสวัสดิการ 7-8 มาตรการ เป็นเพียงมาตรการตั้งต้น" นายอภิศักดิ์กล่าว
นายอภิศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการอีเพย์เมนต์ โดยยอมรับว่าการติดตั้งเครื่องรับเงินสด (อีดีซี) ทำได้ 6 หมื่นเครื่อง ต่ำกว่าแผนที่ต้องได้ 25% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด 5.6 แสนเครื่อง และตามแผนต้องติดตั้งแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2561 สาเหตุหนึ่งเพราะร้านค้ากลัวเรื่องภาษี และยังเห็นว่า ไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้ ในวันที่ 16 มิถุนายน จะมีการแจกรางวัลร้านค้า ผู้ใช้เครื่องอีดีซี สูงสุด 1 ล้านบาท น่าจะจูงใจให้ร้านค้ามาติดตั้งเครื่องอีดีซีมากขึ้น โดยจะแจกรางวัลรวม 12 เดือน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน