อสังหาฯโละสต๊อก ภาพรวมสะสมค้างกว่า1แสนยูนิต แอล.พี.เอ็น.เตรียมหั่นราคาขายบิ๊กล็อต40%
อสังหาฯ น่าห่วง สต๊อกเหลือขายกว่า 1 แสนยูนิต ค่ายใหญ่จัดลดราคากว่า 40% เร่งยอดรับรู้รายได้
นายมานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตย กรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ภาพรวมของสต๊อกอสังหา ริมทรัพย์พร้อมอยู่ที่สะสมในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมามีกว่า 1 แสนยูนิต ส่วนใหญ่อยู่ใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 80% หรือประมาณ 8 หมื่นยูนิต ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท/ยูนิต อีก 2 หมื่นยูนิต เป็นโครงการแนวราบ
"ตลาดคอนโดมิเนียมน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีจำนวนยูนิตเหลือขายค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในตลาดระดับกลาง-ล่าง กระจายอยู่ในหลายทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่หากถามไปยังผู้ประกอบการจะบอกว่าไม่ใช่ว่าทุกทำเลที่เกิดปัญหาฟองสบู่หรือล้นตลาด ซึ่งการเก็บข้อมูลของบริษัทวิจัยอสังหาฯ หรือศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ก็ยังไม่ได้ตัวเลขที่ชัดเจนนัก ในสต๊อกยูนิตเหลือขายของผู้ประกอบการ แต่รู้ว่าเวลานี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปัญหาการปฏิเสธการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน" นายมานพ กล่าว
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า เริ่มเห็น กิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เพื่อระบายสต๊อกคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ออกไปให้ได้มากที่สุด โดยใช้กลยุทธ์การลดราคาขาย หรือการขายราคาเท่ากับวันที่เปิดตัว โครงการ เนื่องจากโครงการขายออกไม่หมดนั้น เมื่อโครงการมีการก่อสร้างเสร็จผู้ประกอบการจะต้องรับภาระในส่วนของค่าส่วนกลาง หากขายลดราคาแล้วโอนโครงการทันทีจะทำให้มียอดรับรู้รายได้รวดเร็ว
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า สต๊อกสะสมที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมนั้น ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น และอย่าเหมาเอาว่าคอนโดมิเนียมล้นตลาด กรณีนี้ต้องพิจารณาเป็นรายทำเลว่าตรงไหนที่ล้นตลาด
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง บริษัทเตรียมนำสต๊อก คอนโดพร้อมอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ปริมณฑลและต่างจังหวัด 4,000 ยูนิต ส่วนใหญ่เป็นระดับราคาประมาณ 1 ล้านบาท/ยูนิต มาลดราคาครั้งใหญ่ และหากซื้อแบบบิ๊กล็อต จะลดมากกว่า 40% เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ในทันที เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อที่อยู่ระดับดังกล่าวส่วนใหญ่มีปัญหาการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์