ปรับใหญ่ครึ่งปีหลัง งัดกลยุทธ์หวังเร่งยอด
ปรับใหญ่ครึ่งปีหลังงัดกลยุทธ์หวังเร่งยอด
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง บรรดาผู้ประกอบการต่างมองตรงกัน ว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวแล้ว แต่ยังห่วง ในปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงดีมานด์เทียมในกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะเป็นการสร้างปัญหาฟองสบู่
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า ภาพรวมตลาด อสังหาฯ ในปีนี้เชื่อว่าจะขยายตัว 5% มีมูลค่าอยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท โดยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 61% จะอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งในครึ่งปีหลังผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดตัวมากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก แต่ก็จะต้องระวังเรื่องดีมานด์เทียม ดังนั้นบริษัทได้ออกแนวทางปฏิบัติ เช่น ห้ามเปลี่ยนมือก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์ แต่หาก เปลี่ยนก่อนจะถูกตัดสิทธิในเรื่องส่วนลด อีกทั้งแนวการขายจะเน้นไปที่กลุ่มที่จะต้องซื้อจริงและโอนจริงเพื่อสกัดการเก็งกำไร
ขณะที่รายใหญ่วงการคอนโดมิเนียมโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า ภาพรวม ตลาดอสังหาฯ ในปัจจุบันเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก มีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยสิ่งที่จะต้องทำคือการเข้าสู่ตลาดใจกลางเมืองมากขึ้น เน้นตลาดระดับราคาตารางเมตรละ 1 แสนบาทขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนนั้นแทบจะ ไม่ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน เพราะหากไม่มีการ ปรับเปลี่ยนเชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทอาจจะหายไปจากตลาด
พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังบริษัทยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ตามแผน โดยได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงโดยการขยายพอร์ตสินค้าให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์สัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 25% จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคอนโดระดับ 1-4 ล้านบาท มีสัดส่วนถึง 56% อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาโครงการแนวราบในรูปแบบบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ซึ่งจะเปิดตัว ในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งการพัฒนาโครงการของบริษัท จะเลือกแบรนด์ให้เหมาะกับทำเลและความต้องของผู้บริโภคในโซนนั้นๆ
นอกจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขายแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับธุรกิจที่จะสร้างรายได้หมุนเวียนต่อเนื่อง เช่น โรงแรม ซึ่งจะมีการจ้างเชนต่างชาติมาบริหารกลุ่มโรงแรมของออริจิ้น เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมถึงธุรกิจบริการ อีกทั้งยังมีการใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูปมาช่วย ทำให้งานก่อสร้างอาคารชุด 8 ชั้น ใช้เวลาเพียง 10 เดือน อย่างไรก็ดีบริษัทยังคุมยอดปฏิเสธ สินเชื่อ โดยครึ่งปีแรกอยู่ราว 13-14% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 12-13% ถือว่าทรงตัว เนื่องจากบริษัทได้มีการคัดกรองลูกค้า และหากจะป้องกันดีมานด์เทียมจึงต้องเก็บเงินดาวน์สูง
ศิริพงษ์ สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า ในครึ่งปีหลังบริษัทยังคงลงทุนในพื้นที่โซนภาคตะวันออกให้มากขึ้น โดยเตรียมเปิดโครงการใหม่ บ้านดี เดอะวัลเล่ย์ ปลวกแดง มูลค่าราว 681 ล้านบาท อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นแหล่งงาน ขนาดใหญ่ และมีการขยายเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจ พิเศษ หรืออีอีซี คาดว่าจะเปิดตัวไตรมาส 3 ปีนี้
นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาโครงการเดอะพราว พระราม 2-พันท้ายนรสิงห์ เฟส 2 ในรูปแบบบ้านเดี่ยวสไตล์ใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 3.99 ล้านบาท รวมทั้งการขยับขยายการลงทุนไปยังพื้นที่โซนกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ได้มีการซื้อที่ดินที่ศรีราชาและบางบัวทองเพิ่มเติม โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ คาดว่า ทั้งสองแปลงนี้จะเริ่มเปิดตัวในช่วงไม่เกินไตรมาส 2 ของปี 2561
รวมทั้งมีแผนการต่อยอดไลฟ์สไตล์มอลล์ พอร์โต้ ชิโน่ ไปยังพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพ โดยตั้งเป้า จะเปิดตัวให้ทันในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นรายได้ประจำเพื่อแตกไลน์ธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับบริษัทในอนาคต โดยในปีนี้ ได้ตั้งเป้ายอดขายที่ 1,200 ล้านบาท และเป้ารายได้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้ในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 900 ล้านบาท อย่างไรก็ดี 6 เดือนแรกของปีนี้เมื่อช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่ยอดรับรู้รายได้ลดลงประมาณ 10% ในปีนี้ บริษัทได้วางแผนธุรกิจแบบการกระจายการลงทุน ในทำเลศักยภาพต่างๆ โดยแบ่งเป็นการพัฒนาอสังหาฯ ทั้งแนวราบและคอนโด 70% อสังหาฯ เพื่อการค้าและการลงทุน 20% และอสังหาฯ ประเภทเช่าที่สร้างรายได้ประจำ 10%
เหล่านี้คือการปรับตัวของผู้ประกอบการท่ามกลางการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรง
อสังหาครึ่งปีหลังลุ้นตลาดฟื้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า การลงทุนและการซื้อขาย ที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เป็นไปอย่างชะลอตัว ส่วนช่วงครึ่งหลังคาดว่าน่าจะทรงตัวเนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความท้าทายในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเร่งระบายสินค้าคงค้างต่อเนื่องในขณะที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงปัญหาด้านแรงงานซึ่งกดดันการเปิดโครงการใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงต้องลงทุนโครงการใหม่เพื่อสร้างรายได้ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังรอจังหวะตลาดฟื้นตัวเพื่อลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยเป็นการเลือกลงทุนในทำเลที่เหมาะสม อีกทั้งยังเลือกเจาะผู้ซื้อเซ็กเมนต์ที่มี ศักยภาพ
สำหรับจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ สิ้นปี 2559 ที่อยู่ในระดับสูง คาดว่า การโอน กรรมสิทธิ์ในปี 2560 น่าจะหดตัว 14-16% ส่งผลให้ระยะเวลาดูดซับ นานขึ้น และคาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัย คงค้าง ณ สิ้นปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 1.7-1.77 แสนหน่วย ขยายตัว 4-8% เมื่อ เทียบกับปี 2559 ดังนั้นผู้ประกอบการ ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อระบายสินค้าคงค้างในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อ ให้สามารถปิดการขายได้เร็วขึ้น และลดการเกิดที่อยู่อาศัยคงค้างสะสมไป ยังปีต่อไป
อย่างไรก็ดี ในภาวะที่กำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างยากขึ้น ส่งผลให้การอำนวยความ สะดวกด้านการเงินสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งการจัดโปรโมชั่นด้านการเงิน อย่างการผ่อนดาวน์ รวมถึงการร่วมมือกับสถาบันการเงินคัดกรองคุณสมบัติของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อพิจารณาโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยในเบื้องต้น และลดอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อ ก็เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
"ภาพรวมตลาด อสังหาฯ ในปัจจุบันเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก มีการแข่งขัน ค่อนข้างสูง โดยสิ่ง ที่จะต้องทำคือการ เข้าสู่ตลาดใจกลางเมืองมากขึ้น เน้นตลาดระดับราคาตารางเมตรละ 1 แสนบาทขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนนั้น แทบจะไม่ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน"
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์