ชง พ.ร.บ.นายหน้า หนุนบ้านมือสองดันสินเชื่อสูงวัย
Loading

ชง พ.ร.บ.นายหน้า หนุนบ้านมือสองดันสินเชื่อสูงวัย

วันที่ : 1 พฤศจิกายน 2560
ชง พ.ร.บ.นายหน้า หนุนบ้านมือสองดันสินเชื่อสูงวัย

อสังหาริมทรัพย์มี ยอดโอนกรรมสิทธิ์ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งกลุ่มโครงการใหม่และบ้านมือสอง ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งใช้เทคโนโลยี วิเคราะห์ข้อมูลความต้องการตลาดและ ตอบโจทย์ผู้บริโภค ขณะที่กระทรวงคลัง ยกร่าง พ.ร.บ.นายหน้า หนุนซื้อขาย"บ้านมือสอง" เพิ่มทางเลือกกลุ่มซื้อบ้านหลังแรก หวัง ลดปัญหาแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อ-หนี้ครัวเรือน

สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัล ทุกภาคธุรกิจต้องปรับตัวเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับระบบสารสนเทศ เพื่อนำ "บิ๊กดาต้า" มาวิเคราะห์ตลาดและความต้องการ ผู้บริโภค ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ลงทุน เทคโนโลยีดิจิทัล "พร็อพเพอร์ตี้ เทคโนโลยี" เพื่อเชื่อมโยงซัพพลายเชนทั้งอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ที่ผ่านมา ธอส. ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยหน่วยงานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดทำ "แอพพลิเคชั่น" Home for All (คนไทยมีบ้าน) สำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ สนับสนุนข้อมูลผู้ประกอบการ

ในปีงบประมาณ 2561 ศูนย์ข้อมูลฯ ได้จัดสรรงบลงทุนระบบไอทีเชื่อมโยงกับ ธอส. แบ่งเป็นการวางระบบฐานข้อมูลและการบริหารจัดการอสังหาฯ 74 ล้านบาท และ 30 ล้านบาท สำหรับพัฒนาฐานข้อมูล บ้านมือสอง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ละปีมี ยอดโอนกรรมสิทธิ์ 1.2 แสนล้านบาท สัดส่วน 40% ของยอดโอนอสังหาฯ กระทรวงการคลังยังมอบหมายให้ ธอส. และศูนย์ข้อมูลฯ พัฒนาฐานข้อมูลบ้านมือสองทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงผู้ขายและผู้ซื้อฐานข้อมูลสถาบันการเงิน บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย จัดเก็บเป็นบิ๊กดาต้า รูปแบบเดียวกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ในส่วนผู้บริโภค จะเข้าถึงข้อมูลบ้านมือสอง รับชมบ้านตัวอย่างเสมือนจริง เพื่อให้ เป็นตัวเลือกการซื้อบ้านหลังแรกที่มีคุณภาพและทำเลที่ดี และเหมาะกับความสามารถในการขอสินเชื่อ การผ่อนชำระ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านใหม่ราคาสูงจนกว่าจะมีรายได้มากขึ้น

กระทรวงการคลัง ธอส. และ 2 สมาคมนายหน้า อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ. นายหน้า เพื่อสร้างมาตรฐานการซื้อขายบ้านมือสอง คาดว่าการยกร่าง พ.ร.บ. จะแล้วเสร็จในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดนี้

วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าคนไทยมองการซื้อบ้านหลังแรกเป็นการลงทุนระยะยาวและมักไม่เปลี่ยนมือ จึงเลือกซื้อบ้านขนาดใหญ่ ราคาสูง ทำให้มีปัญหาการผ่อนค่างวด เกิดหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียตามมา

ดังนั้นการพัฒนาฐานข้อมูล การสร้างมาตรฐานการซื้อขาย จะทำให้การซื้อขายคล่องตัวและได้รับความสนใจมากขึ้น คาดว่า สัดส่วนยอดโอนกรรมสิทธิ์มีโอกาส เพิ่มจาก 40% เป็น 50% เท่ากับบ้านใหม่ และการขยายตัวของบ้านมือสองจะเชื่อมโยงไปยังการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ รีเวิร์ส มอร์ทเกจ ของสถาบันการเงิน หลังจากนี้

"หากการซื้อขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ รีเวิร์ส มอร์ทเกจ ในขั้นตอนการนำที่อยู่อาศัยมาขายเป็นบ้านมือสองจะปล่อยขายได้ง่าย ทำให้มีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มขึ้น"

วิชัย กล่าวว่า สำหรับความต้องการซื้อบ้านนั้นที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลฯ สำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย. 7.8 หมื่นราย ส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง-น้อย โดย 85% รายได้ไม่ถึง 3.5 หมื่นบาทต่อเดือน พบว่ากลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย 7 หมื่นราย หรือ 89.2% และกลุ่มที่ไม่มีความต้องการที่อยู่อาศัยแต่ต้องการสินเชื่อ ด้านอื่นๆ 8,518 ราย 10.8%

กลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย แบ่งออกเป็นผู้ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย หรือกลุ่มผู้มีความต้องการบ้านหลังแรก 6.1 หมื่นราย 88% และที่เหลือเป็นกลุ่ม ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยอยู่แล้วในปัจจุบัน 8,426 ราย หรือ 12%

แบ่งกลุ่มตามความต้องการซื้อ พบว่ามีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย 4.6 หมื่นราย หรือ 65.8% และมีความต้องการปลูกสร้างบ้าน 2.4 หมื่นราย 34.2%

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้าสู่ "เทรนด์ที่อยู่อาศัย 4.0"

ทั้งนี้อสังหามีแนวโน้มการเข้าสู่ "โฮม แชริ่ง" เช่นเดียวกับ แอร์บีแอนด์บี โดยที่อยู่อาศัยจะมีการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรอื่นๆ ร่วมกัน เนื่องจากเทคโนโลยีมีราคาถูกลง

ในยุคดิจิทัล "ดาต้า" เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการนำ "บิ๊กดาต้า" มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์ จากความสนใจของ ลูกค้า พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และวัดผลความพึงพอใจของลูกค้า

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ