14สมาคมอสังหาฯผนึกแชร์ บิ๊กดาต้า เลี่ยงวิกฤติซ้ำปี40
Loading

14สมาคมอสังหาฯผนึกแชร์ บิ๊กดาต้า เลี่ยงวิกฤติซ้ำปี40

วันที่ : 22 มิถุนายน 2561
14สมาคมอสังหาฯผนึกแชร์ บิ๊กดาต้า เลี่ยงวิกฤติซ้ำปี40

14 สมาคมอสังหาฯผนึกทำบิ๊กดาต้า ระดับชาติครั้งแรก หวังผู้ประกอบการร่วมแชร์-ใช้ ข้อมูลวางแผนผุดโครงการ เลี่ยงซ้ำรอยวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 พร้อมส่งข้อมูลแบงก์ชาติ วิเคราะห์สถานการณ์อสังหาฯประเทศ ปูดพบนายทุน แห่เก็งกำไรที่ดินเกินจริงโซนอีอีซี

หลังประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 (ต้มยำกุ้ง) โดยสาเหตุหนึ่งมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังขาดข้อมูลด้านการตลาด ชัดเจน ทำให้เกิดการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน มาพัฒนาโครงการจำนวนมากอย่างไร้ทิศทาง จนเกิดปัญหาฟองสบู่เกิดวิกฤติลามไปถึงสถาบันการเงิน นำมาซึ่งแนวคิด"จัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์"เพื่อรวบรวมข้อมูลฐานตลาดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า หลังจากศูนย์ข้อมูลฯดำเนินการมา 14 ปีพบ อุปสรรคว่า คนที่เก็บข้อมูลไม่ใช่ผู้ประกอบการ ทำให้ข้อมูลไม่ครอบคลุมทั้งหมด จึงมีแนวคิดร่วมมือกับ14สมาคมด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยจัดทำข้อมูลอสังหาฯในรูปแบบ "บิ๊กดาต้า"เพื่อเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ของประเทศครั้งแรก ครอบคลุมผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 9 สมาคมใน 4 ภูมิภาค ซึ่งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ร่วมกัน วานนี้(21 มิ.ย.)

รายงานข้อมูลผ่านแอพ

โดยรูปแบบดำเนินการหลังจากนี้

ทุกสมาคมจะต้องไปทำความเข้าใจกับบริษัทที่เป็นสมาชิก เพื่อให้ร่วมรายงานข้อมูลผ่านทางแอพพลิเคชั่น Self-Reporting อาทิ การเปิดโครงการใหม่ ยอดขาย โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมาจะรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลไม่ให้รั่วไหลไปยังคู่แข่ง

"ผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือกรอกข้อมูล จะได้ผลตอบแทนเป็นการเข้าถึง ข้อมูลภาพรวมที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วแบบรายไตรมาส นำไปสู่การวางแผนธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านข้อมูล การตลาดติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่อยู่อาศัย ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยวิกฤติอสังหาฯที่ผ่านมา"

กังวลใส่ข้อมูลไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สิ่งที่น่ากังวลคือผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกจะไม่เข้าใจในโครงการทำให้เกิดการใส่ข้อมูลไม่ถูกต้อง  หรือเป็นจริงทำให้ได้ผลเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง โดยเบื้องต้นจะใช้ระบบ การสุ่มตรวจทานข้อมูลปีละ 2 ครั้ง แต่แนวทาง ที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือให้ทุกบริษัทเข้าใจในผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำบิ๊กดาต้าครั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะตัวบริษัทแต่เป็นภาพรวมของอสังหาฯทั้งประเทศ

"ศูนย์ข้อมูลจะทำให้เห็นตลาดรอบตัว มองโครงการตัวเองเทียบกับที่มีอยู่ ในตลาด จะได้วางแผนการพัฒนาถูกต้อง ทั้งกลุ่มเป้าหมายและเวลาเพื่อไม่เหลือสต๊อกหรือสร้างปัญหาฟองสบู่"

"ขาดข้อมูล"ต้นตอวิกฤติ

ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ยอมรับว่า วิกฤตส่วนหนึ่งในปี2540เกิดขึ้นเพราะธุรกิจอสังหาฯไม่มีข้อมูลต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันสะสมที่ดิน ผู้ซื้อรายย่อยเก็งกำไร ขณะที่ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อข้อมูลไม่ครบถ้วน รัฐบาลในยุคนั้น จึงมีความเห็นว่าน่าจัดทำโครงการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ที่จะเป็นประโยชน์แต่พัฒนาการ ที่ผ่านมา ข้อมูลน้อยและไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลต่างจังหวัดที่ศูนย์ ข้อมูลฯออกไปเก็บได้ปีละ 1-2 ครั้ง ทำให้ข้อมูลที่ได้อาจไม่ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นในครั้งนี้การรวมสมาชิกจาก ต่างจังหวัดจะช่วยเติมเต็มข้อมูลทั้งประเทศในภาพกว้าง

ผุดโครงการโดยใช้บิ๊กดาต้า

"ที่ผ่านมาการลงทุนหรือพัฒนาโครงการอาจใช้เรื่องความรู้สึกเป็นส่วนผสมในการตัดสินใจ แต่ต่อไปนี้ควรจะอยู่พื้นฐานของข้อมูลจากบิ๊ก ดาต้ากำหนดทิศทางได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้ประกอบการ,ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อกระทั่งซัพพลายเออร์ทั้งระบบ"

นายทุนกว้านซื้อที่เก็งกำไรอีอีซี

นายอธิป กล่าวอีกว่า กรณีต่างจังหวัดที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน เช่น การพัฒนาอสังหาฯ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นมากกว่า 10% แต่ปัญหาคือคนที่เข้ามากว้านซื้อเป็น กลุ่มเก็งกำไร แต่คนที่มีความต้องการลงทุนจริงเพื่อประกอบกิจการไม่สามารถหาซื้อที่ดินในราคาที่ต้องการ ดังนั้นหากมีบิ๊กดาต้าในพื้นที่ จะสะท้อนออกมาชัดเจน ทำให้ประเมินสถานการณ์ตลาดได้จริงก่อนตัดสินใจ

"ตลาดกลางล่าง" ยอดรีเจคสูง  ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าให้บิ๊กดาต้าสะท้อนความต้องการที่แท้จริง ผ่านการเก็บ ข้อมูลการโอนที่อยู่อาศัยจริงที่เกิดขึ้น เพราะแม้ว่าโครงการต่างๆทุกวันนี้จะรายงาน ยอดขาย แต่ข้อมูลจะสะท้อนถึงความต้องการจริง เมื่อเกิดการโอนเท่านั้น เพราะปัจจุบันกำลังซื้อในระดับกลางล่างยังคงมี ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง(รีเจค) ในระดับเฉลี่ย 10% เพิ่มขึ้นจากหลายปีก่อนอยู่ที่ระดับ 5-7% เป็นปัญหาสำหรับธุรกิจอสังหาฯมาก เพราะต้องนำยูนิตที่ขายได้ไปแล้วถูกปฏิเสธออกมา ขายซ้ำเป็นต้นทุนในการทำตลาดที่เพิ่มขึ้น เปรียบเหมือนการก้าวได้สองก้าวแต่ต้องถอยหลังหนึ่งก้าว

ด้านนางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า อาคารชุด (คอนโดมิเนียม) คิดเป็น 50% ของภาพรวม อสังหาฯทั้งหมดและมีความเสี่ยงสูงกว่า การพัฒนาอสังหาประเภทอื่นๆ ดังนั้นความร่วมมือให้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมา พบว่า แหล่งข้อมูลจากหน่วยงานที่หลากหลาย ยังสับสน และหลายครั้งยังขัดแย้งกันเอง

ปรับสู่ "องค์กรมหาชน"

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้อมูลครั้งนี้จะเป็นการทำข้อมูลระดับชาติ นอกจากการใช้งานในภาคธุรกิจอสังหาแล้ว ตัวเลขที่ออกมาจะนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำไปวิเคราะห์และเผยแพร่อย่างเป็นทางการ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมการปกครองมาเป็นคณะกรรมการ จะช่วยทำให้หน่วยงานรัฐเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ด้วย

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังเตรียมปรับรูปแบบองค์กรสู่การเป็นองค์การมหาชน โดยเตรียมร่วมมือกับกรมบังคับคดีในการให้ศูนย์ข้อมูลฯเป็นตัวแทนนำทรัพย์สินที่ขายทอดตลอดออกมาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ หลังจากที่ผ่านได้รับการมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้จัดทำ ฐานข้อมูลของบ้านมือสองอยู่แล้ว

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ