อสังหาริมทรัพย์ไทยเปราะบาง เผชิญ กู้เกิน-หนี้เสีย-ดอกเบี้ยพุ่ง ธปท.ออกโรงเตือน...แบงก์เสี่ยง
Loading

อสังหาริมทรัพย์ไทยเปราะบาง เผชิญ กู้เกิน-หนี้เสีย-ดอกเบี้ยพุ่ง ธปท.ออกโรงเตือน...แบงก์เสี่ยง

วันที่ : 9 กรกฎาคม 2561
อสังหาริมทรัพย์ไทยเปราะบาง เผชิญ กู้เกิน-หนี้เสีย-ดอกเบี้ยพุ่ง ธปท.ออกโรงเตือน...แบงก์เสี่ยง

    ทีมข่าวเศรษฐกิจ

 

          ปัญหาการชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยส่งผลกระทบจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย จนต้องใช้เวลาฟื้นตัวอยู่นานกว่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นเหตุให้ทางการต้องมีการติดตามสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง หากเห็นสัญญาณที่จะทำให้เกิดปัญหาจะได้เร่งสกัดป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลาม เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นภาคเศรษฐกิจจริงที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับธุรกิจอื่นค่อนข้างมาก

 

          ชี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเปราะบาง

 

          เสถียรภาพการเงินของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กุมบังเหียนดูแล ระบุว่า เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ดูจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด หรือครั้งที่ 4/2561 ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กนง.มีความเห็นว่าประเด็นความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางต่อระบบการเงินที่ กนง.ติดตาม ประเด็นหนึ่ง คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ ผู้ประกอบการยังคงลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น เป็นประเด็นเริ่มเห็น กนง.ออกมาพูดปลายปี 2560 จนถึงขณะนี้

 

          ทั้งนี้ การเปิดเผยรายงานการประชุมร่วมระหว่าง กนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ กนง.และ กนส. ยังได้ย้ำถึงประเด็นในภาคอสังหาริมทรัพย์ว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (loan-to-value : LTV) เกิน 90% เพิ่มขึ้น อัตราส่วน สินเชื่อต่อรายได้ผู้กู้ (loan-to-income : LTI) แนวโน้มสูงขึ้น และการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้กู้ที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

          อาจเป็นภาระของครัวเรือนและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไป ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยด้อยลงสะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้ฐานะการเงินโดยรวมของธนาคารพาณิชย์จะมีความเข้มแข็ง แต่ธนาคารพาณิชย์ควรระมัดระวัง เพราะการปล่อยสินเชื่อในลักษณะ ดังกล่าว จะทำให้ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สูงและอาจกระทบกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของภาคครัวเรือนในระยะต่อไป

 

          จับตาอุปทานที่อยู่อาศัย-มิกซ์ยูส

 

          ขณะเดียวกัน กนง.และ กนส. ยังให้ติดตามความเสี่ยงจากภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยอาคารชุดบางทำเลและบางระดับราคายังระบายออกได้ช้า ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระดมทุนผ่าน สินเชื่อธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้เพื่อขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้อุปทานเร่งตัวขึ้นในอนาคต จึงให้ติดตามและประเมินภาวะการแข่งขันในตลาด สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางทำเล โดยเฉพาะอาคารชุดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่ยังมีอุปทานคงค้างในระดับสูงและมีระยะเวลาในการขายหมดค่อนข้างนาน รวมถึงอุปทานของพื้นที่อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีกที่อาจจะเร่งตัวขึ้นจากโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (มิกซ์ยูส) ในอนาคต

 

          นอกจากนี้ อุปสงค์ของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้ผู้ประกอบการประเมินอุปสงค์ของชาวต่างชาติสูงเกินไปและทำให้อุปทานคงค้างในอนาคตเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงยังอยู่ในวงจำกัดสะท้อนจากผลสำรวจผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ขายอาคารชุดให้ชาวต่างชาติ พบว่าผู้ประกอบการยังค่อนข้างระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติม

 

          แบงก์แข่งปล่อยกู้'แอลทีวี'เกินเกณฑ์

 

          ข้อมูลจากรายงานภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงิน จากการสำรวจของ ธปท. พบว่าแนวโน้มแอลทีวีของการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังอยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 โดยดัชนีแอลทีวี มีค่ากลางที่ 0 แต่ดัชนีแอลทีวี ช่วงไตรมาส 3/2560 ขึ้นสูงที่ 19 แม้ว่าจะชะลอลงแต่ยังสูงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4/2560 อยู่ที่ 13.8 และช่วงไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 12.3 ต้องติดตามว่าตัวเลขแอลทีวี ไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ระดับใด โดยไตรมาส 2 นี้เป็นไตรมาสที่ ธปท.ออกมาส่งสัญญาณถึงธนาคารพาณิชย์ว่าเห็นการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่รับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด เห็นธนาคารพาณิชย์เสนอเงื่อนไขพิเศษให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มราคาปานกลางถึงระดับสูง เช่น การให้วงเงิน สินเชื่อสูงที่เกินเกณฑ์สะท้อนให้เห็นถึงการรับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่มากขึ้น ซึ่งเกณฑ์แอลทีวีที่ ธปท.กำหนด บ้านแนวราบอยู่ที่ 95% ของมูลค่า และคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 90%

 

          เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น

 

          ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง หลังจากมีแนวโน้มลดลงจากปลายปี 2558 โดยการลดลงของหนี้กระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงมีส่วนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 79.3% ขณะที่ไตรมาส 1/2560-4/2560 อยู่ที่ 78.4%, 78.0%, 77.8% และ 78.0% ตามลำดับ และไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 77.6% โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่ายอดคงค้างหนี้ โดยยอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 12.17 ล้านล้านบาท ด้านเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 2.4% และสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 2.9% ขณะที่ไตรมาส 1/2560-4/2560 อยู่ที่ 3.2%, 3.1%, 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ และไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 3.4% ซึ่งเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเคยลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 2.2% ในช่วงไตรมาสที่ 4/2557 ขณะที่ข้อมูล เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมสูงสุดเท่าที่หาข้อมูลได้ คือ ปี 2546 ที่อยู่ที่ 18.3% ผลพวงจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540

 

          แบงก์รับปล่อยกู้ออนท็อป

 

          ข้อเท็จจริงจากฟากธนาคารพาณิชย์ อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ระบุว่า กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารเจาะกลุ่มพนักงานประจำและกลุ่มมนุษย์เงินเดือน เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ตั้งแต่ 3-5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป โดยแอลทีวีของลูกค้าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 85% อย่างไรก็ตาม ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยแอลทีวีสูง ในส่วนของธนาคารก็มีลูกค้าบางรายที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อแอลทีวีถึง 100% แต่เน้นลูกค้าที่เครดิตดี ซึ่งส่วนที่เกินมาเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มในส่วนสินเชื่ออเนกประสงค์ซึ่งลูกค้าสามารถนำไปใช้ในการตกแต่งบ้าน รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการซื้อประกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถือว่าดีต่อธนาคารเพราะทำให้มีหลักประกันเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น พิจารณาเครดิตลูกค้า อาชีพ ฐานรายได้ลูกค้า หนี้สินต่อรายได้รวม และไม่ได้ปล่อย สินเชื่อโดยที่ให้แอลทีวีสูงเกินไป

 

          ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่จ่ายเงินดาวน์สูงและมีอัตราแอลทีวีต่ำ ธนาคารก็จะลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรกที่ 2.85% หากลูกค้าที่มีเงินดาวน์น้อย อาจจะได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในขาขึ้นแต่ธนาคารยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำคงที่อย่างข้างต้น โดยจะเน้นทำตลาดกับบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งนี้ หากระบบธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารก็จะต้องมีการพิจารณาไปในแนวโน้มเดียวกันเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

 

          ส่วน ชลัฐ ศิริพงศ์วุฒิกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ให้แอลทีวีสูงเช่นกันแต่ไม่ได้ให้ลูกค้าทุกราย เน้นลูกค้ามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ ที่ผ่านมาก็พบว่าหลายธนาคารมีการให้แอลทีวีสูง โดยให้ถึง 120% ของมูลค่าบ้าน แบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการขอสินเชื่อตามเกณฑ์ ธปท. จะต้องมีเงินดาวน์ส่วนหนึ่ง ซึ่งกรณีที่ธนาคารให้แอลทีวีสูงๆ อัตราการผ่อนสินเชื่อแต่ละเดือนก็จะต้องสูงด้วย กรณีที่ลูกค้าเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าไม่ได้ทำงานล่วงเวลาและมีรายได้ลดลง อาจจะมีปัญหาการผ่อนชำระหนี้จนกลายเป็นปัญหาเอ็นพีแอลได้

 

          ห่วงหนี้เสียตามน้ำมัน-ดอกเบี้ยพุ่ง

 

          ด้านแนวโน้มเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในส่วนของอรอนงค์กล่าวว่า ของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ทรงตัวและมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ปัจจุบันอยู่ที่ 3% ต้นๆ ขณะที่เอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเห็นเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินเชื่อที่อายุ 2-3 ปีขึ้นไป คาดว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง ทำให้อาจจะไปเร่งดีมานด์ที่ยังไม่พร้อมบางส่วนให้เข้ามา เพราะเห็นประโยชน์จากส่วนลดจากมาตรการดังกล่าว

 

          ดังนั้น หากธนาคารใดที่พอร์ตสินเชื่อไม่ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาจเห็นเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาได้ แต่หากธนาคารที่มีสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าเอ็นพีแอลจะขยับขึ้นบ้าง แต่เมื่อเทียบกับสินเชื่อ อัตราส่วนเอ็นพีแอลอาจจะไม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้อัตราส่วนเอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นมองว่าจะไม่ได้เร่งขึ้นเร็ว เพราะธนาคารต่างๆ ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด

 

          ยกเว้นจะมีปัจจัยมากระทบลูกค้ารุนแรง เช่น หากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปสูงอย่างรวดเร็ว จะกระทบต่อกำลังซื้อและการผ่อนชำระหนี้ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความเสี่ยงนี้ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ก็ขยับดีขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น มั่นใจที่จะเริ่มจับจ่าย ส่งผลดีต่อแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ขยายตัวดีขึ้น แต่คาดว่าจะค่อยเป็นค่อยไปไม่หวือหวา โดยปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ 5-6%

 

          สำหรับชลัฐกล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารกสิกรไทยยังทรงๆ ตัว เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นมนุษย์เงินเดือนยังสามารถผ่อนชำระได้ ขณะที่พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นลูกค้าที่เป็นเอสเอ็มอีในอดีตเอ็นพีแอลค่อนข้างสูง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของลูกค้าดีขึ้น คาดว่าเอ็นพีแอลของกลุ่มนี้จะทรงๆ ตัวและมีทิศทางที่ปรับดีขึ้น

 

          ส่วนกรณีจำนวนสต๊อกสินค้าคงค้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ มองว่า ผู้ประกอบการมีการพัฒนาโครงการออกมาพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะโครงการแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ ขณะที่กำลังซื้อในกลุ่มต่างชาติชะลอลงไปจากสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนที่ผันผวน รวมทั้งกลุ่มที่ซื้อเพื่อลงทุนที่ชะลอตัวเช่นกัน เพราะแต่ก่อนอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) จากการปล่อยเช่าได้สูงถึง 8% ปัจจุบันเนื่องจากมีโครงการออกมาจำนวนมากทำให้ยีลด์ปรับลดลงมาที่ราว 5% ทำให้ความน่าสนใจลงทุนลดลง อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีสต๊อกคงค้าง แต่ผู้ประกอบการมีการปรับตัวชัดเจน ชะลอและระวังการเปิดโครงการใหม่ในทำเลที่มีสต๊อกคงค้างสูง และหากลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่ยังมีกำลังซื้อเข้ามาทดแทน

 

          นายทุนอสังหาฯยันไม่มีปัญหา

 

          เสียงยืนยันจากหน่วยงานที่มีบิ๊กดาต้าของภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ โดย วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า จำนวนสต๊อกคงค้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ถือว่าไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับในอดีต โดยมียูนิตสะสมอยู่ตามแนวโครงการรถไฟฟ้า ถือว่ายังมีศักยภาพ แต่อาจใช้ระยะเวลาในการขาย ขณะนี้ผู้ประกอบการมีข้อมูลตลาดมากขึ้น สามารถปรับตัวและชะลอการลงทุนได้ โดยล่าสุด ศูนย์ข้อมูลได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับ 14 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อร่วมมือกันติดตามสถานการณ์ ตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวมป้องกันการสร้างที่อยู่อาศัยออกมามากเกินไปจนล้นตลาด

 

          ทั้งนี้ จากการที่ได้ติดตามสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ พบว่ายังเติบโตต่อเนื่องสะท้อนกำลังซื้อที่ยังมีอยู่และความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ส่วนการที่ธนาคารพาณิชย์มีการให้แอลทีวีสูงนั้น มองว่าเป็นการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อและเครดิตลูกค้า มีการติดตามสถานการณ์สินเชื่อใกล้ชิดอยู่แล้ว จึงไม่กังวลมากนักว่าจะกลายเป็นเอ็นพีแอล ส่วนกรณีการเสิร์ชฟอร์ยีลด์ผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีการเก็งกำไรโดยที่ไม่ยอมรับโอน ซึ่งความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงยังอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบ คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

          ยอมรับขึ้นดอกเบี้ยกระทบแน่

 

          แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในขาขึ้น และมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยนโยบายไทยกำลังจะขยับตามในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ต้นทุนการเงินของธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับขึ้นแล้ว ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทยอยเลิกการทำแคมเปญสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำคงที่ ไปสู่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวมากขึ้น โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มไปแล้ว และคาดว่าธนาคารอื่นๆ จะเริ่มขยับตามมา

 

          ซึ่งความเห็นจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บอกว่า สถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่ผู้ประกอบการทุกคนกังวล เพราะจะกระทบกับลูกค้า ทั้งลูกค้าที่กู้สินเชื่อไปแล้วและลูกค้าที่กำลังจะกู้ คือ อัตราดอกเบี้ยที่อาจจะขยับขึ้น รวมทั้งจะมีผลต่อต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการด้วย จึงอยากให้ กนง.มีการสื่อสารเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน เพราะขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว ทำให้มีเงินทุนไหลออกและค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าที่เข้ามาทำให้ตลาดผันผวน สะท้อนจากตลาดหุ้นไทยที่ปรับลดลง ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์จะเคลื่อนไหวล้อไปกับตลาดหุ้นด้วย กังวลว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและมีผลรวมต่อเศรษฐกิจ ซึ่งการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ขึ้นกับปัจจัยเหล่านี้ ทั้งนี้ มีกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งที่มีจากตลาดหุ้น อาจจะทำให้มีการ wait and see ไปก่อนก็ได้

 

          ดังนั้น สถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์เอ็นพีแอลที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น และดอกเบี้ยบ้านที่เริ่มปรับขึ้น ส่งผลต่อผู้บริโภคมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอีก อาจจะเห็นการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) เพื่อดูแลความเสี่ยงเฉพาะจุด

 

          มาตรการแอลทีวีที่กำหนดปัจจุบัน ก็เป็นหนึ่งในแมคโครพลูเดนเชียล ที่ใช้ดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อมีความเสี่ยงเพิ่มเข้ามาอาจจะมีการปรับเกณฑ์ก็เป็นได้!!!

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ