ดัชนีราคาที่ดินไตรมาส2ขยับย่านพระโขนง-บางนาพุ่ง53%
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่าไตรมาส 2 บีทีเอสสุขุมวิท เขตพระโขนง-บางนานำโด่ง
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม จากการกำหนดให้ปี 2555 เป็นปีฐาน และมีการจัดทำดัชนีเป็นรายไตรมาส
ทั้งนี้ พบว่า 5 อันดับทำเลที่มีการปรับราคาของที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ได้แก่ 1.เขตพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 53% 2.นครปฐม ปรับเพิ่มขึ้น 39.1% 3.เขตราษฎร์บูรณะบางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง ราคาเพิ่มขึ้น 38.2% 4.สมุทรสาคร ราคาเพิ่มขึ้น 27.4% 5.กรุงเทพฯ ชั้นใน ราคาเพิ่มขึ้น 20.1% ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในเขตเมืองชั้นใน ส่งผลให้ที่ดินชานเมืองราคาปรับสูงตาม
นอกจากนี้ การจำแนกประเภทแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในไตรมาส 2 ปี 2561 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 พบว่า พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากราคาเพิ่มขึ้น 56.1% พื้นที่อุตสาหกรรมราคาเพิ่มขึ้น 29.8% พื้นที่อยู่อาศัยชุมชน (ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร) ราคาเพิ่มขึ้น 19.7% พื้นที่อยู่อาศัย หนาแน่นน้อย ราคาขึ้น 13.1% พื้นที่พาณิชยกรรมราคาขึ้น 6.6% พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางราคาขึ้น 3.6% และพื้นที่เกษตรกรรมราคาขึ้น 2.6%
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างที่ดินเปล่าในการใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมที่มีราคาต่ำสุด กับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่น พบว่า พื้นที่พาณิชยกรรมราคาสูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม 133.4% ส่วนพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางมีราคาสูงกว่า 81% พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากมีราคาสูงกว่า 74.6% พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยราคาสูงกว่า 57.4% พื้นที่อยู่อาศัยชุมชนมีราคาสูงกว่า 48.3% และพื้นที่อุตสาหกรรมมีราคาสูงกว่า 30.7%
นอกจากนี้ ยังพบว่าทำเลที่มีแผนการลงทุนโครงการลงรถไฟฟ้าในอนาคตมีราคาสูงกว่า 52.1% เนื่องจากราคาที่ดินปรับเพิ่มจากฐานราคาเดิมที่ยังไม่สูงมากนัก ส่วนทำเลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จะมีราคาสูงกว่า 32.1% ในขณะที่ทำเลที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว จะมีราคาสูงกว่า 24.2% เมื่อแยกตามทำเลเฉพาะที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านแล้ว พบว่า 5 อันดับแรกที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ 1.บีทีเอสสายสุขุมวิทปรับราคาเพิ่มขึ้น 26.8% 2.สายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ราคาขึ้น 23.5% 3.สายสีแดงเข้ม (ช่วงหัวลำโพงมหาชัย) ราคาขึ้น 21.4% 4.สายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางแค) ปรับขึ้น 21.3% 5.บีทีเอสสายสีลมมีการปรับราคาขึ้น 21.2%