ธปท.คุมเข้มปล่อยกู้ที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการอสังหาโอดกระทบธุรกิจ
Loading

ธปท.คุมเข้มปล่อยกู้ที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการอสังหาโอดกระทบธุรกิจ

วันที่ : 5 ตุลาคม 2561
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เตรียมออกมาตรการ ควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นไปที่บ้านหลังที่สองขึ้นไป รวมทั้งบ้านที่มีราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท โดยบ้านกลุ่มนี้ธปท. เสนอ ให้ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% หรือคิดเป็น สัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ที่ 80% จากปัจจุบันที่กำหนดเงินดาวน์ไว้เพียง 5-10% เท่านั้น
         ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เตรียมออกมาตรการ ควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นไปที่บ้านหลังที่สองขึ้นไป รวมทั้งบ้านที่มีราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท โดยบ้านกลุ่มนี้ธปท. เสนอ ให้ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% หรือคิดเป็น สัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ที่ 80% จากปัจจุบันที่กำหนดเงินดาวน์ไว้เพียง 5-10% เท่านั้น

          ธปท.ระบุการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยครั้งนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกันที่จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบ และมุ่งสร้างวัฒนธรรมการให้สินเชื่อที่ดี คือ ให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือนไม่เอื้อการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริง สามารถซื้อได้ในราคาเหมาะสม

          "หลักการคือจะกำหนดให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำ สำหรับการกู้หลังที่ 2 ขึ้นไป หรือที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และปรับเกณฑ์การนับสินเชื่อ ท็อปอัพ ที่ใช้หลักประกันเดียวกันให้สะท้อนความเสี่ยง"

          แนวนโยบายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เฉพาะกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยใหม่ และสินเชื่อที่จะรีไฟแนนซ์ใหม่เท่านั้น (ไม่มีผลย้อนหลังกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว)ทำให้ทั้งผู้กู้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงิน สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและเงื่อนไขการให้สินเชื่อภายใต้กรอบแนวนโยบาย นี้ได้

          นอกจากนี้ เพื่อดูแลการแข่งขันในตลาดสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน ธปท. ยังได้กำหนดมาตรการลักษณะ micro-prudential ซึ่งเน้นการกำกับดูแลสถาบันการเงินรายสถาบันควบคู่กันด้วย ซึ่งแต่ละแห่งต้องดูแลพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมเช่นไม่ให้วงเงินสินเชื่อด้วยการประเมินราคาซื้อขายที่เกินจริง การพิจารณาภาระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ของผู้กู้อย่างเหมาะสม รวมถึงระมัดระวังกระบวนการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

          ทั้งนี้ ธปท.จะเริ่มเปิดรับฟังความเห็นจาก ผู้เกี่ยวข้องทั้งสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป หลังจากนั้นคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โดยใช้เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่ และไม่มีผลกระทบสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก

          นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ไม่อยากให้คาดคะเนกันเองว่ามาตรการออกมาจะมีผลกระทบรุนแรง และการส่งสัญญาณของ ธปท. เพื่อให้ตลาดระมัดระวังมากขึ้น โดยจากการรายงานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขณะนี้ยังไม่มีความน่ากังวลมากนัก เพราะปริมาณบ้านรอการขายในตลาดปีนี้ น้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ปริมาณการโอนที่อยู่อาศัยสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนยอดการจองยังทรงตัว ไม่พบความผิดปกติ จึงไม่ต้องกังวลอะไรมากเกินไป

          นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจ บ้านจัดสรร กล่าวว่า การออกมาตรการคุมการปล่อย สินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจกระทบต่อภาพรวมของอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นการลงโทษผู้ซื้อบ้านช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ใช้เงื่อนไขเดิม และมองว่าการประกาศใช้มาตรการของ ธปท.เหมาะสมกับช่วงเวลานี้หรือไม่ เพราะการเก็งกำไรแทบจะไม่มีแล้ว ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีนับว่าสูงมาก หากมาตรการกระทบอสังหาฯลดลง 10-20% กระทบต่อจีดีพีของประเทศลดลงถึง 1%

          อีกทั้งยังกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้รับเหมาตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 6 แสนล้านบาท กระทบไปด้วยในทางอ้อม ธปท.ควรจะรับฟังความเห็นให้รอบด้านซึ่งปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยแนวราบและการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกลุ่มคอนโดมิเนียม อาจต้องจำแนกให้ดี เพราะมีลูกค้าที่มีรายได้หลากหลาย และมีราคาขายที่แตกต่างกัน
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ