5 เรื่องต้องเข้าใจ ก่อนไปจ่ายภาษีที่ดินสิ้นสิงหา 63
Loading

5 เรื่องต้องเข้าใจ ก่อนไปจ่ายภาษีที่ดินสิ้นสิงหา 63

วันที่ : 24 สิงหาคม 2563
5 เรื่องต้องเข้าใจ ก่อนไปจ่ายภาษีที่ดินสิ้นสิงหา 63

พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่มีการเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 นั้น ใกล้สิ้นสุดเส้นตายสำหรับการเลื่อนกำหนดชำระภาษีแล้วภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากจ่ายชำระล่าช้า ก็จะถูกคิดเบี้ยปรับสูงสุดถึงร้อยละ 40 และอาจถึงขั้นถูกยึด อายัด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างค้าชำระภาษีนั้นๆ ไปขายต่อทอดตลาดได้ โดยเพื่อไม่ให้เป็นการเสียประโยชน์ เราจะพาไปทบทวนถึงสิ่งที่ต้องเข้าใจ ก่อนจะไปจ่ายภาษีที่ดินสิ้นสิงหาคม 63 กัน 5 เรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. ทำไมจึงจำเป็นต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย?
    วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติ ปี พ.ศ. 2562 นั้น เป็นไปเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้มีความทันสมัย และกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตลอดจนนำเอาเงินภาษีที่เก็บได้นั้น ไปช่วยให้ท้องถิ่น มีงบประมาณพอเพียงสำหรับใช้พัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดความเจริญมากยิ่งขึ้นในระยะยาว
  2. ใครต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้าง?
    แนวทางสำคัญของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2562 นั้น มีหลักการ “ไม่ให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง” โดยผู้ที่จะต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายนั้น มีด้วยกัน ดังต่อไปนี้
    • เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหมายถึง เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดิน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยยกเว้น ผู้ที่มีบ้านหลังเดียว ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลัก ในกรณีที่บ้านและที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะบ้านหลังเดียวมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท
    • เจ้าของห้องชุด ซึ่งหมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์คอนโดฯ หรือ ตามกฎหมายเรียกว่าอาคารชุด ซึ่งก็ใช้ตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับเจ้าของบ้าน คือ ยกเว้นในกรณีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท
    • ผู้ครอบครองทรัพย์สินทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐ เช่น ผู้เช่าที่ราชพัสดุ ที่แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่ก็มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย
    • เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรกรรม โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีที่ดินทำการเกษตรมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือสิ่งปลูกสร้างไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 75 ล้านบาท
    • เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อแสวงหาผลกำไร หมายถึง ผู้ที่ครอบครองบ้านหรือที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือแสวงหาผลกำไร เช่น ปล่อยเช่าบ้าน ที่ดิน คอนโด ฯลฯ โดยจะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก
    • ผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของที่ดินเปล่า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้นำไปทำประโยชน์ โดยต้องเริ่มเสียภาษีตั้งแต่มูลค่าหลักทรัพย์บาทแรก
  3. ต้องจ่ายภาษีเท่าไร?
    สำหรับผู้ที่ได้รับการประเมินแล้วว่ามีหน้าที่จะต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องจ่ายภาษีในอัตราคำนวณ ตามกำหนด ดังต่อไปนี้
    ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ทำเกษตรกรรม
    • มูลค่า 0 – 75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.01
    • มูลค่า 75 – 100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.03
    • มูลค่า 100 – 500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.05
    • มูลค่า 500 – 1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.07
    • มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.1
    ทั้งนี้ บุคคลธรรมดา ได้รับการยกเว้นหากมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 50 ล้านบาท
    ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย
    • บ้านหลังหลัก มูลค่าไม่ถึง 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
    • บ้านและที่ดินหลังหลัก มูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
    • บ้านหลังหลัก มูลค่า 10-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.02
    • บ้านหลังหลัก และ ที่ดิน มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.03
    • บ้านหลังหลัก และ ที่ดิน มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.05
    • บ้านหลังหลัก และ ที่ดิน มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.1

    ทั้งนี้ บ้านหลังอื่นๆ มูลค่าตั้งแต่ 0 – 50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.02 และ หากมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.1 และสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง “สำหรับปล่อยเช่า” จะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก โดยคิดอัตราภาษีที่ ร้อยละ 0.3

    ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทิ้งรกร้างว่างเปล่า

    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้าง มูลค่า 0 – 50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.3
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้าง มูลค่า 50 – 200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.4
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้าง มูลค่า 200 – 1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.5
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้าง มูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.6
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้าง มูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.7

    ทั้งนี้ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า จะมีการเพิ่มอัตราภาษีร้อยละ 0.3 ทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมจะไม่เกินร้อยละ 3 ดังนั้น หากมีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้ จึงควรรีบนำไปพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์เพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บภาษีจนทำให้มีแต่สูญเสียประโยชน์อย่างเดียว

  4. ถ้าต้องการยื่นคำร้องทบทวนภาษีต้องทำอย่างไร?

    สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จะได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี เพื่อให้ทราบว่ามีหน้าที่ต้องชำระภาษี ซึ่งหากมีข้อสงสัยหรือรู้สึกแปลกใจว่าทำไมเราจึงต้องเสียภาษีด้วย ก็สามารถยื่นคำร้องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ได้ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งประเมิน แต่ข้อควรระวังก็คือ หากระยะเวลาในการยื่นคำร้องของเรา เกินกำหนด 31 สิงหาคม 63 ก็อาจจะต้องเสียค่าปรับได้ เพราะจะถือว่า “ค้างชำระภาษี” โดยกฎหมายกำหนดให้เรา “ต้องจ่ายภาษีตามที่แจ้งประเมินไปก่อน” และเมื่อตรวจสอบคำร้องแล้ว จะมีการพิจารณาภายใน 60 วัน โดยถ้ามีการประเมินภาษีผิดพลาด ก็จะได้รับคืนภายใน 15 วัน หลังจากนั้น

  5. เราต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกปี

    พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามเงื่อนไข “ต้องชำระภาษีในวันที่ 1 มกราคมของทุกๆ ปี” และ “ต้องเสียภาษีภายในไม่เกินเดือนเมษายน” ไม่เช่นนั้นจะถือว่า “มีภาษีค้างชำระ” และจะต้องถูกคิดเบี้ยปรับ หรือถึงขั้นอาจถูกยึด อายัด ทรัพย์ขายทอดตลาดได้ เพียงแต่ในปี 2563 มีการเลื่อนให้ชำระได้ถึงภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เท่านั้น ดังนั้น สำหรับปี 2563 ถ้าหากไม่ต้องการถูกคิดเบี้ยปรับ จะต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามการประเมินภาษีภายใน 31 สิงหาคม และในปีต่อๆ ไป จะต้องชำระภายในเดือนเมษายนของทุกปี
     

5 ประเด็นดังที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยสำหรับใครที่มีบ้านเพียงแค่หลังเดียว มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท หรือบ้านรวมที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท และใช้เพื่อการอยู่อาศัยหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกังวลใดๆ เพราะไม่เข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่สำหรับใครก็ตามที่มีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 1 แห่งขึ้นไป หรือเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูง ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้ดี ติดตามรายละเอียดเงื่อนไขในการชำระภาษีให้รอบครอบ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายอันเป็นหน้าที่ และเพื่อไม่ให้ต้องถูกเบี้ยปรับ หรืออาจถึงขั้นเสียทรัพย์ที่มีไปได้
 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://blog.ghbank.co.th/new-land-tax/
https://workpointtoday.com/saving-guru-16/
https://www.reic.or.th/Activities/Documents/8



สมัครเป็นสมาชิกเว็บ REIC

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

รู้ข้อมูลอสังหาฯ ก่อนใคร

สมัครได้ฟรี ไม่มีเงื่อนไข

เพื่อให้การซื้อ-ลงทุนที่อยู่อาศัย

เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

.

.

สมัครเลยที่

https://www.reic.or.th/Member/RegisterGeneral

.

.

------------------------

ติดตามศูนย์ข้อมูลฯ เพิ่มเติมได้ที่

 Website : www.reic.or.th

 Twitter : www.twitter.com/REICFan

 Youtube : www.youtube.com/user/REICPR

 Line : @REICFan

#ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ #REIC

Tags :  ภาษีที่ดิน อสังหาริมาทรัพย์ จ่ายภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง