ผ่อนไปเรื่อย ๆ กับรีบโปะ แบบไหนดีกว่ากันในการซื้อบ้าน
“โปะบ้าน” คำ ๆ นี้แม้จะไม่ใช่คนที่กำลังกู้ซื้อบ้านผ่อนบ้านอยู่ก็น่าจะคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยจะหมายถึงการที่ผู้ซื้อบ้านนั้นเพิ่มเงินในการผ่อนให้มากขึ้นกว่าที่ธนาคารกำหนด เพื่อจะทำให้ผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้น โดยอาจเลือกเพิ่มค่างวดผ่อนต่อเดือนให้มากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ หรือจะเลือกใช้เงินก้อนโปะทีเดียวเป็นก้อนใหญ่ ๆ ก็ได้ให้เงินต้นลดลง แต่ทั้งนี้หลาย ๆ คนก็อาจจะสงสัยว่าในการซื้อบ้านนั้น ผู้ซื้อมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องโปะบ้าน และการโปะบ้านนั้นดีกว่าการผ่อนไปเรื่อย ๆ ตามงวดผ่อนที่ธนาคารกำหนดจริง ๆ หรือไม่ บทความนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจแนวคิดของการโปะบ้านกับผ่อนปกติแบบง่าย ๆ ให้ทุกคนที่กำลังซื้อบ้านอยู่สามารถเลือกปฏิบัติได้อย่างตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเอง
ข้อดีของการโปะบ้าน
บ้านคืออสังหาฯ ที่หากเรากู้ซื้อนั้น จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 25-30 ปี กว่าจะผ่อนหมด และถือได้ว่าปลอดภาระเป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นอย่างแท้จริง ซึ่งถ้ามองกันในด้านสถานะการเงิน การที่เราต้องมีภาระผ่อนบ้านไป 30 ปีนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรา “เป็นหนี้” ไปเกินครึ่งชีวิต ซึ่งภาวะของการที่ต้องรู้สึกว่าเป็นหนี้นั้น ถือเป็นเรื่องบั่นทอนจิตใจอย่างยิ่ง โดยยิ่งระยะเวลาผ่อนนานมากเท่าไร ผู้ซื้อก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเจอวิกฤตไม่คาดฝันที่กระทบต่อความสามารถในการผ่อนได้มากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองการโปะบ้านจึงให้ประโยชน์ต่อผู้ซื้อในแง่ของการปลดภาระความเป็นหนี้ของตัวเองให้หมดไปได้โดยเร็ว เพราะพอจ่ายงวดผ่อนมากขึ้น โปะเงินก้อนกับเงินต้นมากขึ้น ยอดผ่อนก็ลดลง ระยะเวลาในการผ่อนหมดก็จะเร็วขึ้น ทำให้มีอิสระในการใช้ชีวิต และเสี่ยงปัญหาการเงินได้น้อยลง แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์ดังกล่าวนี้คือประโยชน์ทางอ้อม แต่ประโยชน์สำคัญหลักทางตรงของการโปะบ้านก็คือ จะทำให้ผู้ซื้อบ้านจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงมหาศาล เพราะบ้านราคาหลังละ 3 ล้านนั้น หากผ่อนตามระยะเวลาจ่ายดอกเบี้ยเต็ม 30 ปี สุดท้ายแล้วราคาบ้านอาจจะสุทธิอยู่ที่ 6 ล้านหรือมากกว่านั้นก็ได้ ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่เราเลือกใช้บริการ ดังนั้น หากเราเสียดายดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายที่อาจมากถึงขนาดว่าซื้อบ้านได้อีกหลังหนึ่งล่ะก็ การโปะบ้านก็ถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุด ที่จะทำให้เราจ่ายเงินน้อยที่สุด และปลดหนี้ตัวเองได้เร็วที่สุด
ข้อดีของการผ่อนบ้านไปเรื่อย ๆ
หากลอคำนวณตัวเลขดอกเบี้ยสุทธิตลอดระยะเวลาผ่อนทั้งหมดที่ต้องจ่ายแล้วหลาย ๆ คนก็แทบอยากจะโปะบ้านให้หมดเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่การจะโปะบ้านได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยวินัยทางการเงินอย่างสูง ไหนจะต้องทำงานหารายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ไหนจะต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้เพียงพอ และไหนจะต้องคิดเผื่อความเสี่ยงเรื่องต้องใช้เงินเร่งด่วนฉุกเฉินไว้ด้วยอีก เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน หรือเปลี่ยนงาน ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น เราต้องไม่ลืมเด็ดขาดว่า ในแต่ละวันของเรากับการอยู่เป็นบ้านเป็นครอบครัว จะมีค่าใช้จ่ายประจำอยู่แล้ว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากินอยู่ ค่าเทอมลูก ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ และอื่น ๆ อีกเพียบ จึงทำให้บางทีการผ่อนบ้านไปเรื่อย ๆ ก็เป็นรูปแบบการเงินที่ทำให้เราไม่เครียดจนเกินไป สามารถหมุนเงิน บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในชีวิตได้อย่างลงตัวที่สุด จริงอยู่ที่สุดท้ายดอกเบี้ยที่จ่ายไปอาจจะเยอะจนทำให้เสียดาย แต่ถ้าเราเร่งโหมโปะบ้านมากเกินไปแบบไม่ได้วางแผนให้ดี การเงินในครอบครัวก็อาจเสียหายจนทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายมากมายตามมาภายหลังได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะบั่นทอนความสุขในการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยให้หมดไป่จนรู้สึกท้อได้ว่าบ้านไม่ใช่บ้านแต่เป็นภาระที่ทำให้ชีวิตลำบาก
ไม่ว่าจะโปะบ้านให้ผ่อนหมดไว หรือค่อย ๆ ผ่อนไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็ล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียที่ผู้ซื้อจำเป็นจะต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมให้ตอบโจทย์กับแผนการเงินของตัวเอง โดยเราต้องไม่ลืมว่าระยะเวลา 30 ปีที่ต้องผ่อนบ้านนั้น จังหวะชีวิตอาจจะมีสถานการณ์เกิดขึ้นมากมายเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น แต่งงาน เปลี่ยนงาน มีลูกเพิ่ม เจ็บป่วย ฯลฯ ซึ่งหากคำนวณไม่ดี วางแผนไม่รัดกุมรอบคอบแล้วล่ะก็ จะทำให้การเงินสะดุดและทำลายความสุขในการใช้ชีวิตได้ ทางที่ดีที่สุดในการผ่อนบ้าน จึงต้องเริ่มต้นจากการวางแผนการเงิน ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ดี แล้วค่อย ๆ ประเมินความเสี่ยงดูว่า สถานะการเงินของเราเหมาะจะโปะบ้านได้หรือไม่ ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าประเมินแล้วพบว่ายังไม่พร้อมก็ไม่ควรฝืน แต่ถ้าจังหวะใดพอจะเพิ่มยอดงวดผ่อนได้ พอโปะเงินก้อนได้บ้าง ก็ค่อย ๆ ทยอยโปะไปทีละนิดไม่ต้องเร่งรีบ ก็จะช่วยทำให้เราผ่อนบ้านได้หมดไวขึ้นและไม่เสี่ยงเจอปัญหาการเงินทำร้ายทำลายชีวิต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง