บ้านขึ้นราทำไงดี ?
Loading

บ้านขึ้นราทำไงดี ?

วันที่ : 27 กันยายน 2561
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะ 5 ขั้นตอนในการกำจัดเชื้อราในบ้านหลังน้ำลด เพื่อป้องกันสุขภาพของเจ้าของบ้าน พร้อมเตือนประชาชนอย่าเสียดายเฟอร์นิเจอร์ที่มีพื้นผิวเป็นรูพรุน ไม่สามารถทำความสะอาด และทำให้แห้งได้ เพราะจะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา

จากภาวะอุทกภัยส่งผลให้บ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เมื่อน้ำลด บ้านและเครื่องเรือนต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมจะมีความชื้นสูงทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี เราสามารถมองเห็นกลุ่มก้อนของเชื้อราอยู่บนพื้นผิวของวัสดุได้ด้วยตาเปล่า กลุ่มของเชื้อรามักมีรอยจุด สีต่างๆ เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว เป็นดวง และมีกลิ่นเหม็นอับ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน เชื้อรามักจะเจริญเติบโตซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ฝ้าเพดาน ผนังใต้พื้น ใต้พรม วอลเปเปอร์ ตู้เสื้อผ้า ฟูก หมอน เครื่องหนัง เป็นต้น เมื่อประชาชนเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเองก็อาจจะสูดหายใจสปอร์ของ เชื้อราที่ปลิวอยู่ในอากาศภายในบ้านเข้าไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เกิดโรคภูมิแพ้ มีไข้ จาม น้ำมูกไหล โรคปอดอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหอบหืด ก่อให้เกิดระคายเคืองต่อตา จมูก หลอดลม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน และอาการแพ้เป็นผื่นลมพิษ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อแนะนำในการกำจัดเชื้อราสำหรับประชาชนที่จะเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. การป้องกันตนเอง ควรสวมรองเท้าบูตยาง สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันเชื้อราสัมผัสผิวหนังโดยตรง ใส่แว่นตาป้องกันเชื้อกระเด็นเข้าตา และใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกป้องกันการหายใจเอาสปอร์เชื้อราและไอระเหยสารเคมี เข้าสู่ร่างกาย

2. การระบายอากาศ ในระหว่างทำความสะอาดควรเปิดประตู หน้าต่าง ม่าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้มีแสงแดดส่องถึงที่สำคัญไม่ควรเปิดแอร์ และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาดเพราะจะทำให้สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายได้

3. การทำความสะอาด ให้ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ให้เร็วที่สุดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังน้ำลด โดยให้ล้างด้วยน้ำและสบู่เพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน หลังจากนั้น ให้ล้างด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรต์ หรือผงปูนคลอรีน 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรต์ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่ซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป นำมาผสมกับน้ำในอัตราส่วนน้ำยาซักผ้าขาว 3-5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แกลลอน (ประมาณ 3.8 ลิตร) สำหรับเชื้อราที่ขึ้นเป็นจุดๆ บนวอลเปเปอร์และผนัง ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล 70 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับกรดซาลิไซลิกในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 แต่หากพบว่ามีเชื้อราเป็นจำนวนมาก ควรเปลี่ยนวอลเปเปอร์และผนังใหม่ ส่วนเชื้อราบนเครื่องหนังให้ใช้น้ำส้มสายชูเช็ดถูหลายๆ ครั้ง เมื่อเครื่องหนังแห้งแล้วให้เช็ดด้วยน้ำยาทำความสะอาดอีกครั้งและใช้ครีมเช็ดรองเท้าเช็ดถูปิดท้าย หลังจากการทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราเช็ดหรือพ่นบริเวณที่มีเชื้อราเจริญต่อเนื่องทุกวันจน เชื้อราหายไป จากนั้นเว้นระยะเช็ดหรือพ่นเป็นสัปดาห์ละครั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ เชื้อราเจริญเติบโตอีก

สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราและทำให้แห้งได้ เช่น พรม เบาะผ้า ที่นอน ฟูก วอลเปเปอร์ ฯลฯ ไม่ควรเก็บไว้ใช้ต่อควรทิ้งโดยใส่ในถุงพลาสติกและมัดอย่างดีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราสู่อากาศ

4. การทำให้แห้ง หลังทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อให้อากาศถ่ายเทเอาสปอร์ของเชื้อราออกจากตัวบ้านจนมั่นใจว่าบ้านและ อุปกรณ์ต่างๆ แห้งสนิท

5. ตรวจสอบเชื้อรา หลังจากทำความสะอาดไปแล้ว 2-3 วัน ให้สังเกตว่ามีเชื้อราเจริญเติบโตอีกหรือไม่ ถ้ายังพบว่ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดซ้ำ หากมีเชื้อราเกิดขึ้นอีกให้ประชาชนตรวจสอบระบบระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด และระดับความชื้นภายในบ้านด้วย