'แผ่นดินไหว' ฉุดท่องเที่ยว 10-15% หวั่นลามสงกรานต์
Loading

'แผ่นดินไหว' ฉุดท่องเที่ยว 10-15% หวั่นลามสงกรานต์

วันที่ : 31 มีนาคม 2568
"สมาคมโรงแรมไทย" คาดแผ่นดินไหวกระทบธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวระยะสั้น ฉุดรายได้ 10-15% ช่วง 2 สัปดาห์ ชี้สงกรานต์เป็นบททดสอบครั้งใหญ่ด้านความปลอดภัย ย้ำต้องรับมือให้ได้ก่อนความเชื่อมั่นหาย ยอมรับเป้าดึงต่างชาติ 39-40 ล้านคน ยากมาก"นักเศรษฐศาสตร์" หวั่นกระทบเชื่อมั่นคอนโดฯ-ท่องเที่ยว
  เหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงบ่ายวันที่28 มี.ค.2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานการรับรู้แรงสั่นไหวใน 63 จังหวัด รวมถึงมีรายงานความเสียหายใน 18 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน

  ภายหลังเหตุแผ่นดินไหว นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันถึงความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ โดยระบุว่าจากข้อมูลเบื้องต้นยังไม่พบความเสียหายที่มีนัยสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการคลังหรือระบบการเงินของประเทศ

   นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สมาคมฯ ได้รับแจ้ง จากสมาชิกโรงแรมว่า นักท่องเที่ยวขอเช็กเอาต์ ล่วงหน้า 8-10% ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และพระนครศรีอยุธยา

   ขณะที่บางส่วนอาจเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปพักที่พัทยาหรือภูเก็ตแทน ทั้งนี้สมาคมฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบระยะสั้น ต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของ นักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 2 สัปดาห์นับจากนี้ แน่นอน ทั้งกลุ่มที่จองการเดินทางแล้วแต่ไม่มา รวมถึงกลุ่มกำลังตัดสินใจแล้วคิดว่าไม่มา ดีกว่า ทำให้รายได้ธุรกิจโรงแรมและ การท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่า 10-15%

   "สมาคมฯ คาดว่าเหตุแผ่นดินไหวจะ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงบรรยากาศการท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลสงกรานต์เหงากว่าช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ประเมินว่าต้องใช้เวลา 1 เดือนถึงจะกลับสู่ภาวะปกติ" นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว

   "สงกรานต์" บททดสอบใหญ่ความปลอดภัย

    นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุตึกถล่ม ย่านจตุจักรเป็นไวรัลทั่วโลกออนไลน์ ยิ่งทำให้ เกิดคำถามเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยในไทย ซึ่งจึงจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

     ดังนั้น รัฐบาลต้องกำกับมาตรการดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นมากเป็นอันดับ 1 ให้นักท่องเที่ยวกล้าเดินทาง มาร่วมอีเวนต์สงกรานต์ทั่วประเทศถือเป็น บททดสอบที่มาถึงเร็วที่สุดในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ที่ต้องทำควบคู่กับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย

     ทั้งนี้ หากเกิดประเด็นปัญหาความปลอดภัยอีกจะทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยอาจกู่ไม่กลับได้รับผลกระทบยาว หลังจากช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยล้วนๆ ตั้งแต่กรณีนักแสดงชาวจีน ซิงซิง หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย -เมียนมา การปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ ข้อกังวลเกี่ยวกับการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน และล่าสุดเหตุแผ่นดินไหว

   "ส่วนเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2568 ยากมากที่จะไปถึงเป้าหมาย 39-40 ล้านคนตามที่รัฐบาลตั้งไว้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มองว่าถ้าปีนี้ได้นักท่องเที่ยว ต่างชาติเท่าปี 2567 ซึ่งปิดที่จำนวน 35.54 ล้านคน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะ มีเหตุการณ์ต่างๆ เยอะมาก เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าเป้าหมายในปีนี้ ก็จำเป็นต้องกระตุ้นตลาดเที่ยวในประเทศชดเชย เช่น การออกมาตรการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลเตรียมพิจารณาเร็วๆ นี้"

    ท่องเที่ยวยั่งยืน "เซฟตี้" ต้องมาอันดับ 1

    นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวว่า ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบโรงแรมสูงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว โดยสมาคมฯ ประสานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อนำวิศวกรอาสากว่า 4,000 คน ตรวจโครงสร้างอาคารตามความฉุกเฉิน

    ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบจนมั่นใจแล้ว ททท.จะประกาศว่ามีโรงแรมใดผ่านการตรวจสอบ โดยโรงแรมขนาดใหญ่จะมีทีมวิศวกรและทีมช่างอาคารตรวจสอบเองช่วยสร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยวได้เร็ว แต่โรงแรมขนาดเล็กที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงินในกรณีต้องรับการตรวจสอบซ้ำ สมาคมฯ อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

   "ภาคท่องเที่ยวตอนนี้ มิติความยั่งยืนต้องมาอันดับ 1 คือความปลอดภัย เพราะเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเด็นความปลอดภัยมามาก เช่น ตลาดจีนที่เลือกไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่าเพราะมั่นใจระบบความปลอดภัย จึงไม่อยากให้รัฐบาลมองข้ามเรื่องนี้ โดยนำกรณีศึกษาการดูแลความปลอดภัยของญี่ปุ่นว่าทำอย่างไร นักท่องเที่ยวจีนและชาติอื่นถึงมั่นใจไปเที่ยว"

   "อมรเทพ" ห่วงผลกระทบการบริโภค

   ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นผลกระทบ ชั่วคราวที่อาจกระทบระยะสั้น ซึ่งกรณี วงจำกัดและไม่ปิดสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า มองว่ายังไม่นำไปสู่การปรับประมาณการเศรษฐกิจลง

   ทั้งนี้ แม้ผลกระทบยังจำกัดแต่กังวลการเสียหายโอกาสทางเศรษฐกิจไทย โดยประชาชนระวังการใช้จ่าย การเดินห้าง การจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว ที่อาจมีผลกระทบกระทบทั่วคราว ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน นักท่องเที่ยวต่างๆได้

   สำหรับแผ่นดินไหวเป็นผลกระทบที่มีต้นทุนต่อประเทศระยะยาว ดังนั้น ไทยต้อง มีต้นทุนทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ขึ้น กับภัยพิบัติธรรมชาติหรือแผ่นดินไหว ดังนั้นต้องติดตามอาคารสูงและอาคารเก่า ว่ารองรับแผ่นดินไหวได้มากน้อยเพียงใดเพื่อรองรับภัยพิบัติ

   นอกจากนี้ สิ่งที่กระทบที่ต้องจับตาคือ ความเชื่อมั่นในตลาดคอนโดมิเนียมที่ทำให้คนยิ่งระมัดระวังมากขึ้น ว่าตัวอาคารปลอดภัย และสามารถรับมือได้หรือไม่ ดังนั้น รัฐบาลหรือภาคเอกชนต่างๆต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่ออสังหาฯแนวดิ่ง หรือคอนโดฯ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

   ส.อ.ท.ชี้กระทบท่องเที่ยว-อสังหาฯ

   นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แผ่นดินไหวกระทบหลายธุรกิจ ประกอบด้วย

    1.ภาคท่องเที่ยว ที่เดิมเป็นจุดแข็งประเทศที่ต่างชาติต้องการมาไทยได้รับผลกระทบทางจิตวิทยากระทบ ซึ่งกระทบต่อเนื่องร้านอาหาร Shopping Center ศูนย์การค้า ดังนั้น ต้องรีบวางแผนเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวเพราะภาพตึกถล่มเป็นไวรัลไปทั่วโลก

    2.ภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องยอมรับว่า ช่วงนี้เป็นช่วงขาลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี อย่างคอนโดมิเนียมที่เป็นที่นิยมอาจจะทำให้ขายลำบากยิ่งขึ้น หรือทำให้ชะลอการตัดสินใจ ลงไปอีกหรือกลัว และขายทิ้ง

    3.ภาคก่อสร้าง ที่อาจส่งผลให้วัสดุก่อสร้าง เหล็กที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทั้งหลายชะลอตัวไปด้วย