'คลองเตย' ปลุกศก.พระราม4
Loading

'คลองเตย' ปลุกศก.พระราม4

วันที่ : 17 กุมภาพันธ์ 2568
คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่หัวลำโพงถึงคลองเตยเปลี่ยนแปลงมากในเวลาไม่กี่ปี และเป็นจุดสนใจนักลงทุนและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มต่อเนื่องทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นชัดเจน
   เอนเทอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ดันซูเปอร์ซีบีดี

  "เจ้าสัวเจริญ" ครองพื้นที่มากสุด เอกชนขานรับพัฒนาท่าเรือ

  ภาคธุรกิจอสังหาฯ ค้าปลีก โรงแรม ท่องเที่ยว รับอานิสงส์เมกะโปรเจกต์ "เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ท่าเรือคลองเตย" ปลุกลงทุนพระราม 4 สะพัด 4 แสนล้าน เปลี่ยนแลนด์สเคปครั้งใหญ่ ผงาดเส้นเลือดเศรษฐกิจแห่งอนาคตสู่ ซูเปอร์ซีบีดี ดันราคาที่ดินพุ่ง 3 ล้านต่อตารางวา "เจ้าสัวเจริญ" ครองพื้นที่มากสุด รั้งแลนด์มาร์กใหม่ กรุงเทพฯ ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลก แนะรัฐดูแล กาสิโนรัดกุม คุมคนเข้าพื้นที่

  เมกะโปรเจกต์ "เอนเทอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ท่าเรือคลองเตย" หนึ่งในโครงการสำคัญที่กำลังถูกจับตามองในหลายมิติจากโรดแมปจัดโซนนิ่ง 2,353 ไร่ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รับนโยบายเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

  เป็นการพลิกโฉม "ท่าเรือคลองเตย" เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ที่รวมความบันเทิง การค้าขาย การพักอาศัย และกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่เดียว สร้างมูลค่าเพิ่มพื้นที่โดยรอบและการพัฒนาเมือง "กรุงเทพมหานคร" ระยะยาว ก้าวสู่เมืองระดับโลกเต็มตัว

   ขณะที่ ย่านการค้าบนถนนพระราม 4 ตั้งแต่ "หัวลำโพง" บรรจบถนน "สุขุมวิท" ถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่ต่อเนื่องรอบทศวรรษ ขณะที่เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ "ท่าเรือคลองเตย" จะเร่งการค้าการลงทุนย่านพระราม 4 ร้อนแรงขึ้นกับศักยภาพ Super CBD หรือ Super Central Business District และ Global Destination

   กลุ่ม "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ระดมธุรกิจในเครือลงทุนย่านนี้ต่อเนื่องถือว่าครองพื้นที่ธุรกิจสูงสุดตั้งแต่ "สามย่านมิตรทาวน์" มูลค่า 9,000 ล้านบาท มิกซ์ยูส 2.2 แสน ตร.ม. ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานและค้าปลีก โครงการ "สีลมเอจ" มูลค่า 2,000 ล้านบาท พื้นที่กว่า 5 หมื่นตร.ม. มีทั้งอาคารสำนักงานและค้าปลีก 7 ชั้น

   อภิมหาโปรเจกต์ One Bangkok มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท พื้นที่ 1.83 ล้าน ตร.ม. ประกอบด้วย 5 อาคารสำนักงาน โรงแรม ลักชัวรี 5 แห่ง ที่พักอาศัย 3 อาคาร ศูนย์การค้า 3 แห่ง ศูนย์แสดงนิทรรศการและคอนเสิร์ต รวมถึงพื้นที่จัดแสดงศิลปวัฒนธรรม และพื้นที่สีเขียว

    นอกจากนี้ มีโครงการ "เดอะ ปาร์ค" มิกซ์ยูส 2 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 1.3 แสน ตร.ม. อาคาร "เอฟวายไอ เซ็นเตอร์" มูลค่าลงทุน 5,000 ล้านบาท พื้นที่ 4.8 หมื่น ตร.ม. "บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า" พระราม 4 จากกลุ่มบีเจซี

    ขณะที่ กลุ่มเซ็นทรัล โดยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกลุ่มดุสิตธานี พัฒนามิกซ์ยูส "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" 4.6 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 4.4 แสน ตร.ม.มีโรงแรม ดุสิตธานี กรุงเทพ เซ็นทรัลพาร์ค ออฟฟิศเซส ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพาร์ค และที่อยู่อาศัย

    ย่านพระราม 4 ยังมี "สวนเพลิน มาร์เก็ต มาร์เก็ต มอลล์" ของตระกูล "อรรถกระวีสุนทร" และมีบิ๊กโปรเจกต์ย่าน กล้วยน้ำไท โครงการ "Ace of Clubs" ประกอบด้วย Tennis Club และโครงการ "Kanga" เป็น Art District รองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายภายใต้การลงทุนของกลุ่ม Zipcode ที่มี นายภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุด

    นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของคุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ถนนพระรามที่ 4 ตั้งแต่หัวลำโพงถึงคลองเตยเปลี่ยนแปลงมากในเวลาไม่กี่ปี และเป็นจุดสนใจนักลงทุนและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มต่อเนื่องทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นชัดเจน

    โดยเฉพาะปี 2556-2567 ราคาคอนโดมิเนียมย่านนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.4 แสนบาท ต่อ ตร.ม.ในปี 2556 เป็น 2.2 แสนบาทต่อ ตร.ม. ในปัจจุบัน และโครงการใหม่จากนี้อาจแตะ 4 แสนบาทต่อ ตร.ม.หรือสูงกว่านี้ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในวันแบงค็อก เปิดขายราคามากกว่า 4 แสนบาทต่อ ตร.ม.

    "หากการพัฒนาท่าเรือคลองเตย เกิดขึ้นจริง จะไม่แค่กระทบราคาที่ดิน แต่จะสร้างความเชื่อมโยงพื้นที่ CBD และเพิ่มโอกาสธุรกิจมหาศาล"

     จุดเชื่อมต่อธุรกิจและความบันเทิง

     ทั้งนี้ ที่ดินย่านพระราม 4 ส่วนใหญ่ เป็นของหน่วยราชการ เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ที่ดินบางแปลงเปิดให้เอกชนลงทุนได้ และการพัฒนามิกซ์ยูสขนาดใหญ่มีองค์ประกอบครบถ้วนของความเป็นเมือง เป็นสิ่งสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น สามย่านมิตรทาวน์ วันแบงค็อก และดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค

    "การที่พื้นที่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเชื่อมต่อกับสายสีเขียวทำให้เดินทางสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบจากมิกซ์ยูสทำให้น่าสนใจขึ้น ราคาที่ดินยิ่งสูง แต่ตัวแปรใหม่ที่สำคัญ คือ โปรเจกต์ท่าเรือคลองเตย ที่ใหญ่ถึง 2,353 ไร่ หากเป็นเอนเทอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ได้จริงจะเป็นการพลิกโฉมพื้นที่นี้ไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง"

     สำหรับเมกะโปรเจกต์ "ท่าเรือคลองเตย" เป็นพื้นที่ศักยภาพสูงในการพัฒนา มิกซ์ยูสขนาดใหญ่ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม การจัดสรรพื้นที่เพื่อสร้างสิ่งบันเทิง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่โดยรอบระยะยาว

     จุดเปลี่ยนพื้นที่เศรษฐกิจพระราม 4

     นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือคลองเตยเป็นการเปลี่ยนแปลง "ผังเมือง" เป็น "ตัวแปร" สำคัญในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้เปลี่ยนสีผังเมืองของที่ดินบางส่วนในพื้นที่ท่าเรือคลองเตยเป็นสีแดงจากเดิมเป็นสีน้ำเงินและสีน้ำตาล ซึ่งเป็นที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมจะทำให้พัฒนาโครงการรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น

    "แนวโน้มราคาที่ดินแนวถนนพระราม 4 เป็นไปได้ปีนี้มากกว่า 2.5 ล้านบาทต่อ ตร.ว. ซึ่งปี 2567 ซื้อที่ดินพร้อมอาคารเก่า (อาคารศรีเฟื่องฟุ้ง) เฉลี่ย ตร.ว.ละ 3 ล้านบาท แต่เป็นที่ดินพร้อมอาคารสำนักงาน ไม่ใช่ที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมอาคารขนาดเล็กหรือบ้านพักอาศัย หากโครงการคลองเตยเกิดขึ้น คาดราคาที่ดินย่านนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ต่อตร.ว. ในปี 2568 เทียบเท่าเพลินจิต ชิดลมและหลังสวน"

    ส่วนระยะยาวการเปลี่ยนแปลงของท่าเรือจะกระทบพื้นที่โดยรอบ หากเชื่อมระบบขนส่งมวลชนที่ดีจะยิ่งส่งเสริมศักยภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งรวมความบันเทิง ถือเป็นการปฏิวัติพื้นที่พระราม 4 ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเร็วจนยากจะหาพื้นที่ไหนเทียบเท่า

    ธุรกิจโหมลงทุนสะพัด 4 แสนล้าน

    นายธนินท์รัฐ ภักดีภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คลองเตย บนที่ดิน กทท.ประเมินเงินลงทุนภาครัฐราว 2 แสนล้านบาท ใช้เวลา 7 ปี ถือเป็นอภิมหาโครงการของรัฐบาลที่น่าสนใจมาก

    "หากผลักดันให้เกิดช่วงปี 2570-2577 จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคบนถนนพระราม 4 ตั้งแต่โครงการมิกซ์ยูสสามย่านมิตรทาวน์ จามจุรีสแควร์ ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค วันแบงค็อก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถึงแยกกล้วยน้ำไท มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็น ย่านใจกลางธุรกิจ (CBD) ที่หนาแน่นสุดของกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนต่อเนื่องย่านนี้อีก 2 แสนล้านบาท จาก ผู้ประกอบการที่สนใจขยายโครงการ คาดเบื้องต้นจะเกิดการลงทุนภาครัฐและเอกชนต่อเนื่องถึง 4 แสนล้านบาท"

     อีกทั้งกระตุ้นธุรกิจค้าปลีกขยายตัวขึ้น อีกเท่าตัว เพราะการดึงดูดผู้ประกอบการใหม่ เข้าพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ทำให้ย่านพระราม 4 เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของไทย

     อย่างไรก็ตาม เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ต้องมี "กาสิโน" โดยภาครัฐต้องเข้มงวดที่สุดป้องกันไม่ให้ประชาชนใช้บริการได้ง่าย โดยจำกัดกลุ่มผู้ใช้บริการ รวมถึงป้องกันปัญหาอาชญากรรมและปัญหาทุจริต

     โอกาส กทม.บูมเดสติเนชั่นใหม่ดึงทัวริสต์

     นายกรณ์ ณรงค์เดช กรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) มองว่า เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ท่าเรือคลองเตย จะสร้างเดสติเนชันใหม่ดึงนักท่องเที่ยว มากขึ้น ทำให้กาสิโนที่เคยอยู่ใต้ดินขึ้นมา บนดินร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

     "อยากให้มองสิงคโปร์เป็นต้นแบบพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ รวมถึงจัดทำกาสิโนได้มีประสิทธิภาพจึงสร้างเมืองได้แข็งแกร่ง ดึงนักท่องเที่ยวหลากหลายรวมถึงครอบครัว ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจจะทำให้อสังหาริมทรัพย์ใกล้เคียงราคา สูงขึ้น แต่การบริหารจัดการชุมชนโดยรอบมีประสิทธิภาพขึ้น"

     เดสติเนชันใหม่ โรงแรมแบรนด์หรู

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจโรงแรมย่านพระราม 4 คึกคักจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ อาทิ โครงการวัน แบงค็อก โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค และแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย

     นายอาชวิณ อัศวโภคิน รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยู่ระหว่างพัฒนาโรงแรม 2 แห่ง แต่ละแห่ง 500 ห้องพัก ได้แก่ โครงการมิกซ์ยูส แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี ลงทุน 4,800 ล้านบาท เปิดบริการ 1 เม.ย.และโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2 ลงทุน 4,600 ล้านบาท

     นายศิรเดช โทณวณิก รองประธาน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจโรงแรม กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่ เปิดปลายเดือน ก.ย.2567 เป็นหนึ่งในโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มิกซ์ยูส มูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 23 ไร่ มุมถนนสีลม-พระราม 4 ภายใต้ การร่วมทุนระหว่างกลุ่มดุสิตธานีและ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา

     ก่อนหน้านี้ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดบริการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ยังเป็นไปตามกำหนด ปี 2568 ได้แก่ อาคารสำนักงานให้เช่า เกรด A "เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส" เปิดไตรมาส 2 ศูนย์การค้า "เซ็นทรัล พาร์ค" เตรียมเปิดเดือน ส.ค. สวนลอยฟ้า เปิดกลางปี และที่พักอาศัย ทยอยส่งมอบห้องชุดภายในปลายปีนี้
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ