โรงเรียนนานาชาติแข่งดุ บิ๊กธุรกิจบุกเมืองท่องเที่ยว
Loading

โรงเรียนนานาชาติแข่งดุ บิ๊กธุรกิจบุกเมืองท่องเที่ยว

วันที่ : 5 กุมภาพันธ์ 2568
ธุรกิจน่าจับตาปี'68 โรงเรียนนานาชาติบานสะพรั่ง ผุดทั่วไทย 249 แห่ง เชียงใหม่แข่งเดือด ทั่วประเทศเปิดเพิ่ม 10 โรงเรียน จ่อศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน นักธุรกิจ-ตระกูลดังแห่ลงทุน "เรนวูด" พัฒนาคู่มิกซ์ยูส 5 หมื่นล้าน "อรสิริน-ตะล่อมสิน- ศรีวิกรม์-เจียรวนนท์-โสภณพนิช" ปักหมุดเมืองท่องเที่ยว
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตร International มีการขยายตัวอย่างสูงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวที่มีนักธุรกิจและชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โดยมีการเปิดหลักสูตรการสอนทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นภาษาหลัก

     เชียงใหม่แข่งดุเปิดปีละแห่ง

     นายบุญเอนก มณีธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้นกล้า ที่ใช้หลักสูตร International Program ภาษาอังกฤษ 80% และภาษาไทย 20% ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอน หลักสูตร International Program ถือว่าเข้มข้น ขณะนี้มีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่ประมาณ 20 แห่ง มีการลงทุนเปิดใหม่ปีละ 1 แห่ง

     ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติเติบโต และมีนักเรียนไทยเพิ่มขึ้นในแต่ละปี มาจาก 3 เหตุผล คือ ผู้ปกครองต้องการให้ลูกมีการใช้ภาษาอังกฤษที่มาตรฐาน และได้เรียนในหลักสูตรระดับมาตรฐานโลก และปฏิเสธวิถีการเรียนการสอนแบบไทย ๆ

     "ผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ต้องการให้ลูกได้อยู่ในระบบโรงเรียนนานาชาติเต็มรูปแบบ จึงต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตรที่มาตรฐาน จากเกรด 1 ถึงเกรด 12 ประมาณ 20 ล้านบาท ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่ถือว่าแข่งกันดุ แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาว่าจะลงทุนเพิ่มในระดับมัธยมศึกษา" นายบุญเอนกกล่าว

     สำหรับโรงเรียนต้นกล้า ใช้หลักสูตรปฐมวัยบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้ของ Toolkit Curriculum จากฟินแลนด์ ส่วนระดับประถมศึกษาใช้หลักสูตร International Primary Curriculum (IPC) ที่เน้นการเรียนรู้แบบองค์รวม เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลประถมศึกษาปีที่ 6 เน้นให้การศึกษาตามความต้องการของผู้เรียน และความงอกงามทางปัญญา

     ไทยศูนย์กลาง รร.นานาชาติอาเซียน

     ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติ 249 แห่ง นักเรียน 77,734 คน โดยเพิ่มขึ้น 10% จากในปีที่ผ่านมา ที่มีโรงเรียนนานาชาติ 236 แห่ง นักเรียน 70,200 คน ในปี 2566

    นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่จังหวัดใหญ่และเป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และชลบุรี

    "มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติใหม่เพิ่มขึ้น 10% สะท้อนถึงความเชื่อมั่น โดยมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่เปิดรับนักเรียนชาวไทยและกลุ่มที่เปิดรับนักเรียนชาวต่างชาติ"

     นอกจากนี้ยังมีนักเรียนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน ที่เลือกส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติของไทยด้วย

     นายศุภเสฏฐ์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติมีความนิยมสูงขึ้น คือ ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั่วไป รวมถึงโรงเรียนรัฐบาลที่มีหลักสูตรพิเศษและอัตราค่าเทอมมีความใกล้เคียงกับโรงเรียนนานาชาติ ส่งผลให้กระแสความนิยมขยายวงกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

     ธุรกิจอสังหาฯแห่ลงทุนเพิ่ม

     ช่วงปี 2567-2568 มีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่กว่า 10 โรงเรียน อาทิ อาณาจักรเรนวูด ปาร์ค เมกะมิกซ์ยูส 5 หมื่นล้าน โดยมี "พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล" เป็นผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ KIS International School Reignwood Park ถือฤกษ์เปิดการเรียนการสอนไปเดือนสิงหาคม 2567

     โดยเปิดรับนักเรียนอายุ 3-14 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัย ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย และที่พักสำหรับนักเรียนหญิงและชายที่อยู่ประจำตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป

     นอกจากนี้ ยังมีห้องเรียนที่กว้างขวางสำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย ตลอดจนหอประชุมและศูนย์นิทรรศการ 1,000 ที่นั่ง ศูนย์กีฬา สระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก ศูนย์พัฒนากอล์ฟ และสเตเดี้ยม กีฬาขนาด 1,000 ที่นั่ง

    จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัท เพชรทักษิณ ปิโตรเลียม จำกัด เปิดโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรเคมบริดจ์ในทุกช่วงชั้นแบบเต็มระบบ "โรงเรียนนานาชาติบาลานซ์สุราษฎร์ธานี" ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล-ม.1 (Toddler-Year 7) ที่ได้เปิดปีการศึกษาแรกเมื่อเดือนกันยายน 2567

    โดยมี "สม-สุเมธ แซ่โค้ว" เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นโรงเรียนน้องใหม่ของสุราษฎร์ธานี และเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งที่ 9 ของจังหวัด มีพื้นที่ขยายการรองรับเต็มที่ 29 ไร่ ได้ทำการก่อสร้างระยะแรกบนพื้นที่ 13 ไร่ มี 2 อาคารเรียนรับนักเรียนระดับเตรียมอนุบาล จนถึง ม.1 โดยพัฒนาการเรียนการสอนตามหลักสูตรเคมบริดจ์

    ล่าสุด กลุ่มตะล่อมสิน ประกาศตัวแลกไลน์ธุรกิจครั้งแรกด้วยการเปิด พรีสกูลใหม่ล่าสุดของไทย ชื่อว่า li'lberry International Preschool เพราะเห็นการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันที่กำลังมาแรง

   สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนของ ลิลเบอร์รี่ อินเตอร์เนชั่นแนล พรีสคูล มีการสอน 3 ภาษา ด้วยอัตราส่วน อังกฤษ 60% ไทย 30% และจีน 10% โดยผสานภาษาจีนเข้าไปในการเรียนการสอนทุกวิชา มีทั้งสิ้น 5 ระดับชั้น ประกอบด้วย

   ระดับ Pre Nursery, Nursery, K1, K2 และ K3 สามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดถึง 200 คน เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 18 เดือน-6 ปี พร้อมเปิดดำเนินการเทอมแรกในเดือนสิงหาคม 2568 บนทำเลย่านพระราม 3

    ขณะเดียวกัน บริษัท อรสิรินโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมเปิดตัวโรงเรียนนานาชาติ Mill Hill นอกประเทศ อังกฤษเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 และเตรียมจะเปิดเทอมแรกในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน

    โดย Mill Hill เป็นโรงเรียนที่มี ชื่อเสียงทั้งในประเทศอังกฤษและระดับนานาชาติ ยาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งถือเป็นแม่แบบของระบบการศึกษาของโลก

    ตระกูลดังเร่งนำร่อง

    ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ตระกูล "ศรีวิกรม์" ปัจจุบันได้ไปบุกเบิกลงทุนโรงเรียนนานาชาติมาระยะหนึ่ง โดยร่วมกับ ตระกูล "ทีปสุวรรณ" เจ้าของที่ดิน 1,200 ไร่ ทำเลตะวันออกของพัทยา และได้สร้างโรงเรียนนานาชาติรักบี้ ให้เป็นโรงเรียนประจำ

    รวมถึงโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี โดยกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ของตระกูล "โสภณพนิช" โดย นายชาลี โสภณพนิช, โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียนใน ตระกูล "เจียรวนนท์" นางวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ และโรงเรียนนานาชาติ เวอร์โซ โดย นายคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้ก่อตั้ง
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ