ซีพีโหมโรงศึกค้าปลีกปลุก "ฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์"
วันที่ : 16 พฤศจิกายน 2567
ซีพีกรุ๊ปกำลังขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ หลังดึงทีมผู้บริหารมือฉมังในวงการตั้งบริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) เมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อเป็นผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เน้นโปรเจกต์พัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง Transit-Oriented Development (TOD) และโครงการมิกซ์ยูสในจังหวัดต่างๆ
ล่าสุด ซีพีเอฟซีประกาศจับมือพันธมิตรระดับบิ๊ก ทั้งในเครือซีพีกรุ๊ป ได้แก่ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (CPAXT) เจ้าของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก "แม็คโคร-โลตัส" บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CP ALL) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) กับอิเกีย ประเทศไทย และ ดีแคทลอน ประเทศไทย สองยักษ์ใหญ่ในธุรกิจรีเทลระดับโลก เตรียมเผยโฉมร้านสะดวกซื้อโมเดลใหม่ "ฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์" (Future Convenience Store) บนพื้นที่รีเทลที่ออกแบบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนต่างๆทั่วประเทศไทย ผ่านการนำเสนอประสบการณ์การชอปปิ้งที่เข้าถึงง่าย สะดวกสบาย ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตของผู้คน และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในชุมชนแต่ละพื้นที่
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ให้รายละเอียดใดๆ แต่ต้องการส่งสัญญาณปลุกกระแสในตลาดก่อนเปิดตัวสาขาแรกอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2568
ปพิตชญา สุวรรณดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) เปิดเผยว่า บริษัทประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการนำเสนอมิติใหม่ๆ ให้กับธุรกิจคอนวีเนียนซ์สโตร์ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ร้านสะดวกซื้อแบบใหม่ ให้ความสำคัญกับชุมชนและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยรวบรวมแบรนด์ชั้นนำตอบสนองความต้องการการใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าทุกกลุ่ม
เธอบอกว่า คอนเซ็ปต์ร้านสะดวกซื้อ ฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์ จะไม่เหมือนใครและเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเป็นสเกลที่เหมาะกับการจับจ่ายใช้สอยอย่างสะดวกสบาย พร้อมสร้างประสบการณ์ชอปปิ้งแบบไร้รอยต่อ โดยจะปรับพื้นที่แม็คโครหางดง เพื่อใช้โลเกชันเปิดสาขานำร่อง หรือสาขาต้นแบบก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เบื้องต้นวางแผนเปิดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่งภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคในชุมชนนอกกรุงเทพมหานคร
มีรายงานว่า โมเดล ฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์ ไม่ได้เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ อารมณ์ประมาณร้านเอาต์เล็ต จำหน่ายสินค้าหลากหลายจากกลุ่มพันธมิตร สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์กีฬา และเฟอร์นิเจอร์สไตล์ "อิเกีย" ที่เลือกซื้อได้อย่างสะดวกสบาย
แน่นอนว่า ด้านหนึ่งเป็นการรุกสงครามค้าปลีก โดยใช้โมเดลไซส์ขนาดกลาง ซึ่งสามารถขยายสาขาได้ง่ายกว่าการทุ่มทุนสาขาขนาดใหญ่ รวมถึงการหาทำเล อีกด้านหนึ่ง สามารถสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างครอบคลุม
ก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟซีได้เข้าไปรีโนเวตพื้นที่รีเทลในโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) ภายใต้ brand promise "ไลฟ์" (life) ไล่ให้ทันกับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เติมร้านค้ามากกว่า 250 ร้าน
ปพิตชญา ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิซดอม แลนด์มาร์ก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (WLC) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอฟซี ผู้บริหารศูนย์การค้าภายในโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและสตาร์ทอัปที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งคอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเรื่องนวัตกรรมล้ำสมัยเป็นมิกซ์ยูสที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด One Roof, All Possibilities หรือที่เดียวทุกความเป็นไปได้ ประกอบด้วยบริษัทสตาร์ทอัป บริษัทด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โคเวิร์กกิ้งสเปซ ห้องประชุมหลากหลายขนาด และห้องจัดสัมมนาขนาดใหญ่ ถือเป็นอีโคซิสเท็ม ecosystem) ครบวงจร
ดังนั้น การพลิกโฉมมีทั้งการพัฒนาพื้นที่ศูนย์การค้า การจัดร้านค้า ร้านอาหาร และคาเฟ่ใหม่ๆ เช่น Uniqlo, OWNDAYS, ทองสมิทธิ์, Nose Tea, Boost Juice, Omakase Don, แก้วไก่กรอบ, บ้านหญิง, Fatt Chicken Rice และหลังจากยุค โควิด-19 เกิดเทรนด์ความต้องการแบบ new normal การใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น จึงเพิ่มร้านประเภทกีฬาเพื่อเป็นทางเลือก เช่น Decathlon, Ari, Skechers และ Sportsworld รวมทั้งมีพื้นที่อีเวนต์ร้านค้าหมุนเวียน เพื่อสร้างสีสันตลอดเวลา
นอกจากนั้น ช่วงปลายปี 2567 ถึงปี 2568 จะมีร้านค้าใหม่ๆ เช่น EVEANDBOY, % Arabica, Bartels, ข้าวหน้า, ตำกระเทย สาเกต, อีเจ้แจ่วฮ้อน, หมูกระเทย, JIAN CHA Tea จะเพิ่มพื้นที่สนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ พื้นที่สีเขียวสำหรับเด็กๆ และพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง
"การออกแบบประสบการณ์ของลูกค้าในโครงการ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เราเน้นตอบโจทย์ 4 ด้านสำคัญของชีวิต คือ Live, Work, Learn และ Play ซึ่งหลังจากเปลี่ยนโฉมพื้นที่รีเทล มีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 25% หรือเฉลี่ย 15 ล้านคนต่อปี เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 มียอดการเข้าร่วมกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ ทั้งปี เพิ่มขึ้นกว่า 30% แสดงให้เห็นว่า การปรับปรุงพื้นที่รีเทลของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ภายใต้สัญญา life ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"
ด้านบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (CPAXT) ซึ่งบริหารธุรกิจค้าส่งค้าปลีก "แม็คโคร-โลตัส" ปัจจุบันมีเครือข่ายค้าปลีกรวม 2,690 สาขา แยกเป็นโลตัส 2,520 สาขา อยู่ในประเทศไทย 2,451 สาขา และมาเลเซีย 69 สาขา ส่วนแม็คโครอยู่ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย กัมพูชา โอมาน เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 170 สาขา
ซีพี แอ็กซ์ตร้า ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 ทำรายได้รวม 124,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% มีกำไร สุทธิ 1,952 ล้านบาท เติบโตขึ้น 16.4% เป็นผลจากยอดขาย และอัตรากำไรขั้นต้นที่เติบโตขึ้นทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารสด การขายนอกร้าน และการส่งสินค้าถึงลูกค้า (Omni Channel) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วน 19% ของยอดขายรวม ส่งผลให้งวด 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 378,416 ล้านบาท กำไร สุทธิ 6,609 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.7% และ 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) อีกปัจจัยสำคัญ คือ การขยายสาขา 43 แห่ง พร้อมปรับโฉมสาขา และพัฒนามอลล์อย่างต่อเนื่อง
ธานินทร์ บูรณมานิต ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเติบโตในไตรมาส 4/2567 ว่าบริษัทจะเพิ่มความแข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าอาหารสด อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทาน เบเกอรี่ และสินค้า Private Label รวมถึงการพัฒนาทุกช่องทางจำหน่าย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการส่งสินค้าถึงลูกค้า จากการขยายพื้นที่ให้บริการและใช้จุดแข็งของเครือข่ายสาขา 2,600 สาขาทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทเปิดโลตัส สาขายะลา รูปแบบ hyper market แห่งแรกของบริษัทใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมขยายสาขารูปแบบ Hybrid ที่รวมทั้งค้าปลีกและค้าส่งไว้ในที่เดียว ได้แก่ แม็คโคร-โลตัสมอลล์ สาขาชัยนาท และสาขาถนนศรีอยุธยา รวมถึงปรับโฉมสาขาและพัฒนามอลล์ สู่การเป็นศูนย์กลางชุมชนรองรับการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของคนทุกวัย
การรุกก้าวทั้งกระบวนทัพค้าปลีกของซีพีกรุ๊ป ทั้งห้างค้าส่งแม็คโครจับกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มโฮเรก้า (HoReCa) ที่ประกอบด้วยกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยง
ห้างค้าปลีกโลตัส จับกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมเลือกซื้อสินค้าราคาประหยัดและอาหารสดจากห้างมากขึ้น
ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเน้นคอนเซ็ปต์ "อิ่มสะดวก" และซูเปอร์มาร์เกตขนาดย่อม มีสาขากว่า 15,000 แห่งจนถึงล่าสุดการโหมโรงโมเดลใหม่ "ฟิวเจอร์ คอนวีเนียนซ์ สโตร์" โดยวางแผนปูพรมทั่วประเทศในปีหน้า
สมรภูมิดุเดือดตื่นเต้นแน่นอน
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ