"บางนา-ตราด" ขึ้นแท่นผู้นำทำเลบ้านหรูเปิด6โซนบ้านลักชัวรียอดนิยม "สุขุมวิท" ตำนานทำเลบ้านหรูตลอดกาล
Loading

"บางนา-ตราด" ขึ้นแท่นผู้นำทำเลบ้านหรูเปิด6โซนบ้านลักชัวรียอดนิยม "สุขุมวิท" ตำนานทำเลบ้านหรูตลอดกาล

วันที่ : 1 กรกฎาคม 2567
Property DNA กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในโซนทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราดเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่ไปตามแนวถนนบางนา-ตราด ไปจนถึงช่วงประมาณกิโลเมตร ที่ 15
        หากถามว่าสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทใดที่น่ากังวลมากกว่าเพื่อน "คอนโดมิเนี่ยม" น่าจะเป็นคำตอบที่หล่ายๆ คนคิดตรงกัน เพราะแม้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจะกระเตื้องมากที่สุด โดยเฉพาะคอนโดฯที่จับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ซึ่งไตรมาส 1/67นี้ หน่วยการโอนห้องชุดให้ชาวต่างชาติขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.7% จากปีก่อนที่มียอดโอน 15.9% และมีมูลค่าการโอนห้องชุดชาวต่างชาติขยายตัวถึง 28.6% จากปีก่อนที่มียอดโอน 24.3%

       แม้ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในไตรมาสแรกของปีนี้ จะขยายตัวดีกว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ แต่หากย้อนกับไปถึงจำนวนสต๊อกห้องชุดที่สะสมอยู่ในตลาดรวมแล้ว บอกเลยว่าปริมาณห้องชุดที่ระบายออกไปนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะห้องชุดส่วนใหญ่ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นห้องชุดใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทอสังหาฯเบอร์ต้นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเปิดขายไปในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า แต่ห้องชุดสะสมในตลาดที่ค้างสต๊อกอยู่ก่อนหน้ามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกระบายออกไป

      ขณะที่กลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบนั้น ยอดโอนกรรมสิทธิ์ปรับตัวลดลงจากปีก่อน หลังจากที่ต้นทุนก่อสร้างดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบหนี้ครัวเรือนสูง และการถีบตัวของอัตราเงินเฟอที่มีผลให้ค่าครองชีพขยับสูงขึ้น ทำให้แบงก์พาณิชย์เข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มบ้านในตลาดบ้านหรูระดับราคา 10-20 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูง 30-40%

      อย่างไรก็ตาม กลุ่มบ้านแนวราบที่ยังสามารถทำยอดขายได้ดีก็ยังคงเป็นกลุ่มบ้านหรู เนื่องจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังมีอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มบ้านแนวราบระดับราคา 3-7 ล้านบาท โดยปัจจุบันยอดปฏิเสธสินเชื่อกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคา 3-5 ล้านบาทซึ่งมียอดการปฏิเสธสินเชื่อ 60-70% ขณะที่กลุ่มบ้านราคา 5-7 ล้านบาทก็มียอดปฏิเสธสินเชื่อไม่ต่างกัน

      แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบ้านหรูตลาดบนยังคง เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เพราะนอกจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อไม่สูงมากนักแล้ว ซัปพลายสะสมในตลาดยังมีจำนวนน้อย ประกอบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ยังกระจายทำเลออกไปในบางทำเล เนื่องจากทำเลที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาโครงการบ้านหรูในตลาดระดับบนราคา 20 ล้านบาทหาได้ยาก ขณะที่สต๊อกบ้านในตลาดนี้ก็มีจำกัด เพราะผู้พัฒนาโครงการจะไม่เร่งรีบในการเปิดโครงการใหม่ในทำเลที่มีซัปพลายสะสมจำนวนมาก

      ขณะเดียวกันทำเลที่เหมาะกับการพัฒนาบ้านหรูในตลาดระดับบน โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับลักชัวรี หรือซูเปอร์ลักชัวรีในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลนั้น มีเพียงไม่กี่ทำเล หากไม่นับพื้นที่ย่านใจกลางเมืองซึ่งในปัจจุบันมีราคาที่ดินสูงมาก จึงไม่เหมาะกับการพัฒนาบ้านแนวราบ โดยทำเลบ้านหรูระดับลักชัวรีและซูเปอร์ลักชัวรีที่ได้รับความนิยมมากๆ ในปัจจุบันมีอยู่ 6 ทำเล ประกอบด้วย

       1. ทำเลสุขุมวิท โดยถนนสุขุมวิทเป็นถนนที่กลุ่มเศรษฐีและผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือเจ้าของธุรกิจ ตั้งแต่ระดับ SME ไปจนถึงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะสุขุมวิททำให้ ทำเลถนนสุขุมวิทกลายเป็นตำนานของทำเลบ้านหรูตลอดกาลเนื่องจากเป็นถนนที่ตัดผ่านใจกลางเมืองและเป็นย่านธุรกิจมากที่สุด และยังมีระบบคมนาคมรองรับการเดินทางสะดวกสบาย มีระบบรถไฟฟ้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทำเลและที่ดินใน ย่านนี้ แถมยังมีจุดขึ้นลงทางด่วนที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ของเมืองได้อย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นเส้นทางหลักของรถไฟฟ้า ทั้งยังเต็มไปด้วยสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตแบบคนเมือง โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์แบบลักชัวรีที่ย่านสุขุมวิทมีให้ครบทุกองค์ประกอบ ทำให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้มักจะเลือกอยู่อาศัยในทำเลสุขุมวิทเป็นอันดับต้นๆ

       ขณะที่สองข้างทางบนถนนสุขุมวิทตั้งแต่ซอยต้นๆ ไปจนถึงซอยทองหล่อยังมีทำเลเด่นๆ ในซอยแยกย่อยลงไปที่ล้วนเป็นทำเลทอง สำคัญซึ่งครบองค์ประกอบการอยู่อาศัยตามไลฟ์สไตล์ เช่น ทำเลย่านชิดลม หลังสวน วิทยุ เพลินจิต นานา อโศก พร้อมพงษ์ทองหล่อ เอกมัย และถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งทำเล และถนน ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นทำเลที่บริษัทอสังหาฯ ที่พัฒนาบ้านหรูต่าง จับจ้องตาเป็นมัน

        2. ทำเลย่านถนนกรุงเทพกรีฑา สำหรับถนนกรุงเทพกรีฑาได้ขยับขึ้นแท่นเป็นทำเลฮอตในช่วง 1-2 ปี หลังมีโครงการถนนตัดใหม่ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้รถวิ่งแล้ว ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯเบอร์ต้นๆ ของประเทศ และกลุ่มบริษัทอสังหาฯที่รายใหญ่ไล่เก็บสะสมที่ดินในทำเลดังกล่าวตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า และมีการพัฒนาโครงการบนถนนเส้นนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการที่พัฒนาบนถนนเส้นนี้ล้วนแต่เป็นโครงการระดับลักชัวรีแทบทั้งสิ้น

        "ปัจจัยที่ทำให้ที่ดินเลียบถนนเส้นนี้กลายเป็นทำเลบ้านหรู คือการขยายตัวของเมืองออกมาสู่ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก ซึ่งมีระบบขนส่งรองรับ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่เปิดให้บริการไปแล้ว และเส้นทางใหม่ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ซึ่งทำให้เดินทางต่อไปยังจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้ง่าย รวมทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมๆ กับการตัดถนนขนาด 6-8 เลน เชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ได้สะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ทำเลนี้เป็นที่ต้องการของบริษัทอสังหาฯ โดยเฉพาะถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ซึ่งเรียกว่าถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่"

        3. ทำเลย่านพระราม 9 สำหรับทำเลย่านพระราม 9 นี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เป็นทำเลที่เติบโตอย่างมาก จนกลายมาเป็นย่านใจกลางธุรกิจใหม่ของกรุงเทพฯ หรือ New CBD (Central Business District) โดยปัจจัยที่ผลักดันให้พระราม 9 กลายเป็นหนึ่งในทำเลบ้านหรูของกรุงเทพฯ คือการมีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์สถานีมักกะสัน เป็นจุดเชื่อมต่อกับ MRT สถานีเพชรบุรี โดยในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะมีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับ MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ และยังจะมีจุดขึ้น-ลงทางพิเศษศรีรัชรองรับการเดินทางออกจากเมืองด้วย ขณะเดียวกันพระราม 9 ยังแวดล้อมไปด้วยสถาน ห้างสรรพสินค้า สถานทูต โรงแรมระดับ ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ไฮเปอร์มาร์เก็ต และอาคารสำนักงาน ทำให้มีดีมานด์บ้านหรูเกิดในทำเลนี้

         4. ทำเลเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา สำหรับทำเลถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เป็นทำเลบ้านหรูที่ได้รับความนิยมมาหลาย10ปีแล้ว และนับวันจะเป็นมีดีมานด์บ้านหรูเพิ่ม มากขึ้นทุกที โดยเฉพาะหลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ได้เริ่มเปิดให้บริการยิ่งทำให้ราคาที่ดินในทำเลนี้ถีบตัวสูงขึ้น และกลายเป็นทำเลบ้านหรูที่ติดอันดับยอดนิยม เพราะมีองค์ประกอบในการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตที่ครบครัน โดยเฉพาะบนถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา ที่มีการพัฒนาโครงการระดับลักชัวรีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ทำเลดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมาก

         5. ทำเลย่านพัฒนาการ ถนนพัฒนาการเป็นทำเลที่มี บริษัทอสังหาฯให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ยิ่งถูกจับจองจากบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ เพราะเป็นทำเลที่ขยายตัว ต่อเนื่องจากทำเลทองหล่อ เอกมัย และพระราม 9 ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาหลายๆ ซอย เลียบถนนพัฒนาการจึงมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับลักชัวรี เนื่องจากสามารถเดินทางเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองได้ง่าย เดินทางออกนอกเมืองด้วยถนนมอเตอร์เวย์ แถมยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังถนนบางนา-ตราดได้ทำให้เป็นทำเลที่ดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

        6. ทำเลย่านบางนา ทำเลเลียบถนนบางนา-ตราด เรียกได้ว่าเป็นทำเลที่มาแรงที่สุดในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะ ด้วยศักยภาพของทำเลที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว โดยเฉพาะการเดินทางเชื่อมต่อจังหวัดทางภาคตะวันออก และเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับอย่างครบครัน เช่น ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ศูนย์การค้าเมกาบางนา ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย

       นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในโซนทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราดเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่ไปตามแนวถนนบางนา-ตราด ไปจนถึงช่วงประมาณกิโลเมตร ที่ 15 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างจากในอดีต อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหลายโครงการยังอยู่ในช่วงการก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

       จากผลการสำรวจพื้นที่โดยพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในทำเลหรือพื้นที่ที่อยู่รอบๆ จุดตัดของถนนบางนา-ตราด และถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ "เมกาบางนา" เปิดให้บริการ ประกอบกับถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกหรือวงแหวนตะวันออก มีการขยายช่องจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6-8 ช่องจราจร ซึ่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก และถนนสายรองที่แยกออกไปกลายเป็นทำเลที่มีโครงการบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเปิดให้บริการเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตามแนวถนนศรีนครินทร์ และต่อเนื่องมาถึง ถนนบางนา-ตราด บางส่วน เป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้บางพื้นที่มีศักยภาพสูงขึ้น

        ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของย่านนี้ แต่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว กลายเป็นโกดังสำเร็จรูปให้เช่า หรือโลจิสติกส์แวร์เฮาส์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งแบบแบ่งพื้นที่เช่า แบบเช่าทั้งอาคาร และแบบก่อสร้างตามที่ผู้เช่าในระยะยาวต้องการ โดยเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา และมีผลต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่นี้อีกด้วย โดยเฉพาะจากกลุ่มนักธุรกิจ เจ้าของธุรกิจที่เป็นชาวจีนหรือต่างชาติอื่นๆ ซึ่งมีความต้องการบ้านราคาแพงในพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด รวมไปถึงการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมใน EEC ที่ส่งผลถึงพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ด้วยเช่นกัน

        ปัจจุบันพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ตั้งแต่สี่แยกบางนาไล่มาถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 15 มีโครงการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบที่รองรับการใช้ชีวิต และสนับสนุนให้พื้นที่นี้มีศักยภาพที่สูงขึ้น มีทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต และคอมมูนิตี้มอลล์อีกหลายแห่ง โรงเรียนนานาชาติมากกว่า 10 แห่ง ที่มีหลายระดับการศึกษา และหลายรูปแบบของระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชนหลายแห่ง ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่นี้ รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐบาล และโรงพยาบาลอินเตอร์

        นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักงานใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง เมื่อรวมพื้นที่เช่าของอาคารสำนักงานทั้งหมดแล้วไม่ต่ำกว่า 175,000 ตารางเมตร และยังมีอาคารสำนักงานที่กำลังก่อสร้างอยู่อีกหลายอาคาร ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีพื้นที่อาคารสำนักงานในทำเลนี้มากกว่า 200,000 ตารางเมตร และถ้ารวมอาคารสำนักงานในพื้นที่ใกล้เคียงบนถนนสุขุมวิทก็คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 300,000 ตารางเมตรทำให้มีคนเข้ามาทำงานในพื้นที่ย่านนี้และพื้นที่ต่อเนื่องตามแนวถนนสุขุมวิท และถนนศรีนครินทร์ ไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อวัน

         ส่วนการเชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่ย่านนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดข้างเคียงถือว่าสะดวกสบาย เพราะมีถนนบางนา-ตราด เชื่อมต่อกับถนนเส้นทางอื่นๆ เช่น ถนนศรีนครินทร์ กิ่งแก้ว และสุขุมวิท เป็นต้น รวมทั้งยังมีทางพิเศษบูรพาวิถีที่สามารถใช้เดินทางไปจังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออกได้ ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อพื้นที่รอบกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ครบทุกทิศทางแล้ว อีกทั้งยังมีทางพิเศษสาย S1 หรือทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 ทางพิเศษกาญจนาภิเษก(บางพลี-สุขสวัสดิ์) และยังไม่ไกลจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งสามารถเดินทางไปถึงจังหวัดระยองได้

         ขณะที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้สะดวกสบายแบบครบวงจร เพราะต้องใช้รถโดยสารประจำทางเพื่อไปต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ในอนาคตถ้าโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา หรือ Light Rail สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่สอง(M-Map Phase 2) เกิดขึ้นจริงจะยิ่งเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ ย่านนี้ให้มากขึ้นไปอีก รวมถึงหากโครงการรถไฟความเร็วเชื่อม 3 สนามบิน และ EEC กับกรุงเทพฯเข้าด้วยกันเริ่มเป็นรูปธรรม จะเป็นผลดีให้กับพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ในอนาคต ทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้าต่างๆ จะสะดวกมากขึ้น

         นายสุรเชษฐ กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีโครงการบ้านจัดสรรในระดับราคาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เปิดขายมากขึ้นในหลายทำเลรอบกรุงเทพฯ และในจังหวัดปริมณฑลที่ต่อเนื่องกับกรุงเทพฯรวมถึงพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลที่มีโครงการระดับนี้เปิดขายต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด ในช่วงที่อยู่เลยวงแหวนกาญจนาภิเษกไปแล้ว กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงไม่ต่ำกว่า20 ล้านบาท เปิดขายมาต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจตอบรับจากกำลังซื้อในตลาดที่ดีมาก โดยบางโครงการสามารถปิดการขายหรือมียอดจองมากกว่า 70% หลังจากเปิดขายแบบเป็นทางการไปไม่นาน

        "ช่วงปี 2564 มีโครงการบ้านจัดสรรระดับราคาเริ่มต้นที่ 10 ล้านบาทต่อยูนิต ขึ้นไปทยอยเปิดตัวในย่านบางนา-ตราด แต่หลังจากปี 2565 เริ่มมีบ้านจัดสรรที่เปิดขายในราคาไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาทต่อยูนิต เข้าสู่ตลาดบนย่านแห่งนี้ และได้รับความสนใจจากกลุ่มคนซื้อไม่น้อย ทำให้คาดการณ์ในระยะยาวได้ว่าจะมี โครงการในระดับราคานี้เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน รวมทั้งอาจจะมีบ้านจัดสรรที่มีราคาขายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิต เปิดขายใหม่ มากขึ้น บางนา-ตราด อาจจะเป็นอีกหนึ่งทำเลของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีบ้านราคาแพงเปิดขายมากต่อเนื่องในอนาคต"

         สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีโครงการบ้านจัดสรรราคา แพงในช่วงถนนบางนา-ตราด หลักกิโลเมตรที่ 10 หรือเลยไปถึงหลักกิโลเมตรที่ 15 เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์, บริทาเนีย, เอพี (ไทยแลนด์) และ เอสซี แอสเสท ในราคาขายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิต และมีบางโครงการเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไป ถึงหลัก 80 ล้านบาทก็มี

        ส่วนล่าสุดที่กลุ่มแสนสิริได้เปิดตัวโครงการใหม่ "SANSIRI 10 EAST" บนพื้นที่ 165 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 18,000 ล้านบาท ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันศักยภาพของพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะในช่วงหลักกิโลเมตรที่ 10 ของ ถนนบางนา-ตราด ให้สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะโครงการมีเนื้อที่ขนาดใหญ่และมีถึง 4 แบรนด์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน พร้อมกับสินค้าบ้านหรูระดับลักชัวรีที่มีราคาขายเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อยูนิต และบางโครงการมีราคาขายเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อยูนิตแน่นอน ล่าสุดมีข่าวว่าราคาขายสูงสุดอาจจะอยู่ที่ 500 ล้านบาทต่อยูนิต จึงถือได้ว่ากลุ่มแสนสิริเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีโครงการในระดับ Luxury และ Super Luxury ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันบนทำเลบางนา-ตราด 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ