ชงมาตรการชุดใหญ่ปลุกอสังหาฯ
ลุ้นเงินสะพัด 1.4 ล้านล้าน หวังปลุกเศรษฐกิจดันจีดีพีโต 1.8%
"ธอส.-ออมสิน" เตรียมวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ส่วนประเด็นระยะเวลาการถือครองทรัพย์สินนั้น ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการแล้วกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงวีซ่าการพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย โดยมีแนวโน้มที่ใช้กฎหมายเมื่อปี 40 ให้สิทธิ์ต่างชาติถือครองที่อยู่อาศัยได้มากสุด 100 ปี
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลังเห็นสัญญาณการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี ที่ผ่านมาเพราะกำลังซื้อหดตัวทำให้มีบ้านที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม เหลือขายจำนวนมาก 250,000 หน่วย หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของการเสนอมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้ ทั้งนี้ ได้ประเมินว่าจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ราว 1.7-1.8% มีมูลค่าเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินลงทุน 400,000-500,000 ล้านบาท เงินจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 800,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการบริโภค 100,000 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้ มี 7 มาตรการ ดังนี้
1.การปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับที่อยู่อาศัยปี 67 ลดค่าจดทะเบียนโอน จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% เฉพาะที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน สำหรับการซื้อขายอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนอง ไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน
2.มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านกำหนดให้บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)สำหรับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้าง ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.67-31 ธ.ค.68 โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาทเฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลังในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้น และเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.67-31 ธ.ค.68 โดยราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท
3.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี
4.โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยธอส.สนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดปลูกสร้างอาคาร หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร เพื่อต่อเติมขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี แรกอยู่ที่ 2.98 ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป
5.การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อย(โครงการบ้าน BOI )คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศ ที่ ส.1/2567 ลงวันที่ 15 มี.ค.67 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 100%ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียน สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข