เอ็มดีใหม่ ธอส. หนุนรัฐกระตุ้นอสังหาฯ
ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับ "กมลภพ วีระพละ" กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คนที่ 14 หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
รักษาบ้านให้คนไทย
"นโยบายหลักของ ธอส.ในปีนี้ คือ 1.รักษาบ้านให้คนไทย ผ่านมาตรการแก้ไขหนี้ 2.การลดภาระค่าครองชีพให้กับลูกค้า ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคาร ในการ 'ทำให้คนไทยมีบ้าน' ด้วยการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง มีคุณภาพชีวิต และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย" เอ็มดี ธอส.คนใหม่ แถลงผลดำเนินงาน ปี 2566 และแผนงานปี 2567 เมื่อค่ำวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดย "กมลภพ" เปิดเผยว่า ผลงานในปี 2566 ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 253,860 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 121,308 ราย สูงขึ้นกว่าเป้าหมาย 116,817 ราย อยู่ที่ 3.84%
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,713,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.21% มีสินทรัพย์รวม 1,785,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.60% เงินฝากรวม 1,540,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.76% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (NPL) จำนวน 66,343 ล้านบาท คิดเป็น 3.87% ของยอด สินเชื่อรวม ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 4.16% และยังเป็นระดับที่บริหาร จัดการได้
"ที่สำคัญ คือ ลูกหนี้ที่เริ่มอ่อนแรงลงในปีที่ผ่านมา เราใช้การปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เป็นหน้าที่ของ ธอส. ที่ต้องทำให้เขารักษาบ้านเอาไว้ให้ได้ โดยเราออกมาตรการไป มีลูกหนี้เข้ามากว่า 196,232 บัญชี ซึ่งตอนนี้สถานการณ์คือกว่า 170,000 บัญชี อยู่ในภาวะที่เรายังต้องดูแลเขาอยู่"
นอกจากนี้ ธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนสูงถึง 147,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 221.87% สะท้อนถึงความมั่นคงและพร้อมในการรองรับผลกระทบในอนาคต และมีกำไรสุทธิที่ 14,620 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายภายในธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.21% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.50%
แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางในปี 2567 "กมลภพ" กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 3% ของเป้าหมายในปี 2566 หรือคิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 242,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
"เป้าสินเชื่อใหม่ปีนี้โตขึ้นกว่าปีก่อนประมาณ 3% เพราะการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ จะสอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพี" ขณะที่การจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567 (HD1-HD3) ยังคงมีลูกค้าทยอยลงทะเบียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมีจำนวนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถกลับมาผ่อนชำระเงินงวดได้ตามปกติแล้ว
หนุนรัฐกระตุ้นภาคอสังหาฯ
นอกจากนี้ ธอส.ยังพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ในปี 2570 ซึ่งในปี 2567 นี้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาการเชื่อมโยงพันธมิตรด้านที่อยู่อาศัยให้เติบโตร่วมกันอย่างมั่นคง ผ่านการปล่อยสินเชื่อที่หลากหลาย และสนับสนุนทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชน รวมถึงสอดรับกับเมกะเทรนด์ในปี 2567 ทั้งด้านความยั่งยืน (Sustainable) ด้านนวัตกรรม (Innovation) ด้านสุขภาพ และด้านสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
อย่างโครงการ Resale Home Ecosystem ที่จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่ขายบ้านมือสอง ตั้งเป้าสินเชื่อที่ 64,500 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ Green Loan ตั้งเป้าสินเชื่อที่ 4,000-5,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง 2,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าประชาชน และโครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล กับสินเชื่อพร้อมใช้ 2,400 ล้านบาท
"จากที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีข้อเสนอไปที่รัฐบาลในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณา ในส่วน ธอส.เอง เราก็เตรียมความพร้อมอยู่ ในการที่จะมีมาตรการส่งเสริม น่าจะออกมาภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้"