ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ส่งสัญญาณเตือน พิษLTV ตลาดที่อยู่อาศัยปี66 ทรุดแน่
Loading

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ส่งสัญญาณเตือน พิษLTV ตลาดที่อยู่อาศัยปี66 ทรุดแน่

วันที่ : 25 พฤศจิกายน 2565
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ผู้มีรายได้ปานกลาง จะเป็นกลุ่มหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกลับไปใช้มาตรการ LTV เนื่องจากจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีเงินสะสมไว้สำหรับจะจ่ายเงินดาวน์ 10-20% ของราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่าตลาดขณะนี้ต้องการแรงส่งการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการเพิ่มแรงส่ง ทำให้ตลาดไม่สะดุด
           นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในหมวดที่อยู่อาศัย ในปี 2566 จะได้รับแรงกดดันจากการไม่ต่ออายุการผ่อนคลายมาตรการเงินดาวน์ขั้นต่ำในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหรือ มาตรการ LTV ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

          โดยจะมีผลกระทบเหมือนในปี 2564 ทำให้ภาพรวมตลาดจะลดลง 10% โดยในเชิงจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะลดลง 19% หรือราว 71,780 หน่วย และเทียบเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงไป 11.7% หรือราว 116,735 ล้านบาท

          "กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ผู้มีรายได้ปานกลาง จะเป็นกลุ่มหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกลับไปใช้มาตรการ LTV เนื่องจากจะเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีเงินสะสมไว้สำหรับจะจ่ายเงินดาวน์ 10-20% ของราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งความเห็นส่วนตัวมองว่าตลาดขณะนี้ต้องการแรงส่งการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการเพิ่มแรงส่ง ทำให้ตลาดไม่สะดุด ดังนั้นอยากให้ภาครัฐและ ธปท. พิจารณาสนับสนุนมาตรการผ่อนคลาย LTV แม้ความเสี่ยงมีอยู่บ้าง และตลาดเก็งกำไรยังมีแต่ไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นการซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวมากกว่าซื้อเพื่อเก็งกำไร"

          นายวิชัย กล่าวว่า ในส่วนมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดมาตรการในสิ้นปีนี้เช่นกัน ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ต่อายุ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยชะลอลงไปถึง 15% แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภาครัฐจะต่ออายุมาตรการออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในขณะนี้ยังไม่แข็งแรงพอ และคงต้องรอการฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น การมีมาตรการเชิงบวกให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย จะผลักดันให้ตลาดมีการเติบโต

          นายวิชัย ยังกล่าวด้วยว่า และในปี 2567-2568 อาจจะยกเลิกมาตรการต่างๆ จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยมีเสถียรภาพที่ดีกว่า และถ้าจะให้ดี อยากเสนอให้ขยายเพดานราคาจากที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผู้ซื้อได้มากขึ้นเนื่องจากกลุ่มนี้มีมากถึง 30% โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นได้เร็วขึ้นด้วย

          นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบรายได้ภาคประชาชน และกระทบต่อความเชื่อมมั่นในการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นการสร้างหนี้ ระยะยาว 30 ปี และทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในการขยายการลงทุน โดยจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจติดหล่มได้

          "ขณะที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในปี 2565 พบว่าไม่ปรับขึ้นมาก และที่อยู่อาศัยบางประเภทราคาปรับลดลงด้วย เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม แต่อย่างไรก็ดี ในปีนี้มีการระบายออกไปมากแล้ว ทำให้แนวโน้มราคาในปี 2566 คาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 10% ตามราคาต้นทุนทั้งวัสดุก่อสร้าง และ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น" นายวิชัย กล่าว
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ