กคช.ปลุกลงทุนบ้านเช่า2หมื่นหน่วย
Loading

กคช.ปลุกลงทุนบ้านเช่า2หมื่นหน่วย

วันที่ : 9 กันยายน 2564
ทบทวนPPP - แตกบริษัทลูก - ลดค่าเช่าอุ้มรายย่อย
 
          โค้งสุดท้ายปีงบประมาณ 2564 การเคหะ แห่งชาติสรุปผลงาน 7 ด้าน คว้าคะแนน ITA-คะแนนธรรมาภิบาลและความ โปร่งใสอันดับ 1 ของกระทรวง พม. ลดค่าเช่าอุ้มรายย่อยในโครงการเคหะชุมชน ไฮไลต์เดินหน้าโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพ "เคหะ สุขประชา" กับโครงการบ้าน วัยเกษียณ "โครงการสุขเกษม" ขอทบทวนโมเดลชักชวนเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ใหม่ ปี 2565 ลุยสร้างบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม 20,000 หน่วย พร้อมแตกบริษัทลูกรองรับภารกิจหลังยุคโควิด

          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการ กคช. ซึ่งอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบ ต่อการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีผลงาน อย่างน้อย 7 ด้านด้วยกัน

          คว้าอันดับ 1 ITA กระทรวง พม.

          ผลงานเรื่องแรก การสร้างธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการทำงาน หรือ ITA ในปี 2563 มีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงระเบียบและข้อบังคับ ตลอดจนช่องทางในการร้องเรียนเพื่อเสริมสร้างการบริหารจัดการ ที่มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ให้ประชาชนเข้าถึงช่องทาง การร้องเรียนการทำงานที่บกพร่องของ กคช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย หน่วยงาน และบุคลากรของ กคช.

          ล่าสุด กคช.ได้รับคะแนน ITA หรือคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในปี 2564 อยู่ที่ 97.93 คะแนน เพิ่มขึ้น 11.97 คะแนนจากปี 2563 ที่มี 85.96 คะแนน ถือว่าเป็นอันดับ 1 ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อันดับ 8 ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 51 หน่วยงาน ขยับขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 32 และได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ

          ลดค่าเช่ารายย่อย-ลดค่าครองชีพ

          2.การเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร และลดภาระให้กับประชาชนไปพร้อม ๆ กัน ผ่านนโยบายรับคืนอาคารเช่าจากภาคเอกชนมาบริหารจัดการเอง ที่ผ่านมาปล่อยเช่าพื้นที่ 60 สัญญา จำนวน 32,567 หน่วย สามารถทำสัญญาได้ 51 สัญญา รวม 28,393 หน่วย เริ่มทำ สัญญากับผู้เช่าโดยตรงตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ส.ค. 2564

          ปรากฏว่ามีผู้เช่าลงทะเบียน 5,751 หน่วย ทำสัญญาเช่าตรงกับ กคช. 3,825 หน่วย คาดว่า ณ 31 ธันวาคม 2564 มีผู้มาทำสัญญาเช่ารายย่อย 22,919 หน่วย โดยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ โควิดด้วยการลดค่าเช่าให้ผู้เช่ารายย่อย กรณีค่าเช่าเกิน 999 บาท/เดือน ให้คิดค่าเช่าสูงสุด 999 บาท

          กรณีค่าเช่าต่ำกว่า 999 บาท/เดือน มีการลดค่าเช่าให้ 50% เป็นเวลา 5 เดือน (ส.ค.-ธ.ค. 2564) ช่วยผู้เช่ารายย่อย 68,757 คน และลดค่าครองชีพประชาชน 47 ล้านบาท

          ตั้งบริษัทลูกรับมือหลังโควิด

          3.การแก้ไขปัญหาบริษัทลูก "CEMCOบริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด" ซึ่งตั้งเมื่อปี 2537 โดย กคช.ถือหุ้น 49% เข้ามาบริหารจัดการนิติบุคคลบ้านและอาคารชุดในเครือ กคช. มีผลดำเนินงาน ขาดทุนสะสมมาโดยตลอด มีกำไรเป็นครั้งแรกในปี 2563 จำนวน 3.54 ล้านบาท คาดว่าปีประมาณ 2564 มีกำไรมากขึ้น และสามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมด

          อัพเดต ณ 17 ส.ค. 2564 รับงานบริหาร 67 โครงการ 57,943 หน่วย ในจำนวนนี้ได้งานบริหารจาก กคช. 26 โครงการ 31,141 หน่วย ล่าสุดตั้งบริษัท เพิ่ม "CSS-บริษัท รักษาความปลอดภัย และบริการ เซมโก้ จำกัด" เมื่อ 14 ส.ค. 2564

          เดินหน้า "บ้านเช่าพร้อมอาชีพ"

          4.การแก้ไขปัญหาห้องเช่า 999 บาท/เดือน ก่อนหน้านี้ทางนายกรัฐมนตรีได้รับการร้องเรียนว่าไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้โอกาสเข้าไปอยู่จริง เราก็ได้เข้าไปแก้ไขให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัย เร่งจัดห้องเช่า 999 บาท/เดือน จำนวน 10,000 หน่วย เพื่อให้ประชาชนเข้ามาพักอาศัยได้

          5.กคช.ต้องรับสภาพทรัพย์สินไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ sank cost จำนวนมากจากโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยพัฒนาใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ 1.บ้านเช่าพร้อมอาชีพหรือโครงการเคหะสุขประชา 2.บ้าน ผู้เกษียณอายุหรือโครงการสุขเกษม

          สำหรับ "โครงการเคหะสุขประชา" เป็นแนวคิดจากนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่มองว่าในอนาคตหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เราต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนตกงานหรือถูกขับไล่ออกจากที่พักอาศัยเดิม สิ่งที่ การเคหะฯรับนโยบายมาจึงพัฒนาเป็นโครงการเคหะสุขประชา ตั้งเป้าสร้างปีละ 20,000 หน่วย รวม 100,000 หน่วย ภายใน 5 ปี

          ตามแผนแม่บทที่อยู่อาศัยต้องสร้างบ้าน อีก 2.7 ล้านหน่วย รองรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย 5.87 ล้านครัวเรือน โดยมีโครงการนำร่องที่ฉลองกรุงและร่มเกล้า 572 หน่วย การก่อสร้างมีความคืบหน้าพอสมควรและได้มีการจองสิทธิกันเรียบร้อย

          นอกจากนี้ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทำโครงการ 13 พื้นที่ โดยการเคหะฯดำเนินการเอง 3,948 หน่วย กำหนดแผน การศึกษาความเป็นไปได้โครงการ 8 พื้นที่ ผ่านวิธีร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (JO-Joint Operation) 1,926 หน่วยเนื่องจากเป็นบ้านเช่าพร้อมอาชีพ เป็นแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 ในรูปแบบชักชวนเอกชนร่วมดำเนินการ หรือ PPP

          รื้อแผนลงทุน-ทบทวน PPP

          นายทวีพงษ์กล่าวถึงการประมูลโครงการในรูปแบบ PPP ด้วยว่า กคช.มีการนำแผนลงทุนโครงการทั้งหมดกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในส่วนที่เป็น PPP นั้น กคช.มีภารกิจหลักเป็นหน่วยงานสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย เพราะฉะนั้น เอกชนที่สนใจมาลงทุนต้องเป็นเอกชนที่มีจิตใจอยากทำงานให้กับประชาชนด้วย ซึ่งก็มีอยู่หลายราย
          สำหรับมาตรการที่จะดึงดูดให้เอกชน เข้ามาลงทุนในโครงการ กคช.มากขึ้น มองว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างจำนวนหน่วยที่เอกชนเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบดำเนินการ กับจำนวนพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการเพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้

          ถกธนารักษ์ใช้โรงเรียน 2 หมื่นแห่ง

          ขณะเดียวกัน การเคหะฯมีความจำเป็นต้องขอใช้ที่ดินที่มีศักยภาพเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยทำ MOU กับหน่วยงานรัฐ ได้แก่ 1.สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3.กระทรวงกลาโหม

          4.กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ 5.กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 6.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และ 7.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

          "กรมธนารักษ์มีที่ดินราชพัสดุอยู่ใน หัวเมืองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโรงเรียน 20,000 แห่ง ปัจจุบันนี้ได้ถูกปิดกิจการทำให้เป็น ภาระของกรมธนารักษ์ ส่วนใหญ่ทำเลอยู่ใจกลางเมือง ถ้าเราสามารถเช่าพื้นที่นี้ได้ในราคาถูกเราก็สามารถสร้างโครงการเคหะสุขประชาครบ 77 จังหวัดได้"

          นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดตั้งบริษัทลูกอีกแห่งเพื่อจัดประโยชน์ในรูปแบบเศรษฐกิจสุขประชาพร้อมบริหารชุมชน ความคืบหน้าอยู่ระหว่างเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

          6.บ้านผู้เกษียณอายุหรือโครงการ สุขเกษม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เข้าสู่ วัยเกษียณ และไม่มีที่อยู่อาศัยรองรับ ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 เห็นชอบให้ กคช.ทำโครงการนำร่องในพื้นที่ Sank cost ซอยที่ดินไทย จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวมทั้งหมด 126.5 ไร่ แบ่งพัฒนา 4 ระยะ รวม 4,089 หน่วย ค่าเช่า 2,500-3,000 บาท/เดือน

          จัดไฟแนนซ์อุ้มผู้มีรายได้น้อย

          และ 7.มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผล กระทบโควิดในด้านการเงินมี 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 "ลูกค้าใหม่" คิดดอกเบี้ยเช่าซื้อ 0% 2.ลดราคาขายพิเศษ (shock price) บ้านเอื้ออาทร 56 โครงการ หน่วยละ 2.5-5.2 แสนบาท 3.บ้านเช่าราคาพิเศษ 999-1,200 บาท/เดือน จำนวน 84 โครงการ

          ประเภทที่ 2 "ลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบัน" ลดดอกเบี้ยเหลือ 6.50% ทุกประเภทสัญญา พร้อมปรับโครงสร้างหนี้โดยมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการ 15,865 ราย ลงทะเบียนเข้าร่วม 8,224 ราย และทำสัญญาแล้ว 6,574 ราย ช่วยลดภาระหนี้ 92.39 ล้านบาท

          การให้ส่วนลดค่างวดเช่าซื้อ 1,000 บาทเพียงครั้งเดียวแก่ลูกค้าเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6.50% และทำสัญญาเช่าซื้อก่อน 1 พ.ค. 2564 ส่วนลูกค้าที่ถูกซื้อคืนจากสถาบันการเงินได้รับส่วนลดค่าเสียหายตามสัญญา 50% และเข้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เช่าซื้อกับการเคหะฯปัจจุบันมีลูกค้า เข้าร่วม 334 ราย

          ประเภทที่ 3 "ลูกค้าเช่าและจัดประโยชน์" อยู่ระหว่างจัดโปรโมชั่น 5 เดือน (1 ส.ค.-31 ธ.ค. 2564) แบ่งเป็นลูกค้าเช่ารายย่อยที่มีสัญญาเช่า 999 บาท/เดือน ขึ้นไป ปรับลดเหลือ 999 บาท/เดือน หากค่าเช่าต่ำกว่า 999 บาท/เดือน ปรับลด 50%, ลูกค้าเช่าจัดประโยชน์ในโครงการการเคหะฯลดค่าเช่า 2 เดือน 30-50% ทั้งกลุ่มสัญญาแผงร้านค้าและลานตลาด กลุ่มสัญญาผู้ประกอบการรายใหญ่ (พลาซ่า) และกลุ่มสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสาธารณูปการ

          เล็งออกพันธบัตร 3-4 พันล้าน

          นายทวีพงษ์กล่าวตอนท้ายด้วยว่า ปัจจุบัน กคช.มีสินค้าที่อยู่อาศัยที่ขายแบบโอนกรรมสิทธิ์ 14,000-16,000 หน่วยที่ยังเป็นสินค้าคงเหลือ มีการจัดโปรโมชั่นลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่าจอง ลดราคาสำหรับอาคารเก่าเพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อ เนื่องจากผลกระทบ สถานการณ์โควิด จำนวนผู้ที่เข้ามาจองบ้านก็น้อยลง จึงต้องกระตุ้นกำลังซื้อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

          ขณะเดียวกัน เนื่องจากงบประมาณจัดสรรมีจำกัด กคช.ใช้วิธีออกพันธบัตรหรือบอนด์เพื่อระดมเงินลงทุนโครงการ ณ ตอนนี้มี sustainability bond วงเงิน 2,100 ล้านบาท

          ในอนาคตหลังได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการเคหะสุขประชา 13 โครงการ รวม 6,000 หน่วย มองว่าอาจมีความต้องการออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินเพิ่ม 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อนำมาขับเคลื่อนเคหะสุขประชาหรือโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพต่อไป

          บ้านเช่าพร้อมอาชีพ - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติปรับโหมดการทำงานโดยหันมาเน้นสร้างบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการชั้นผู้น้อยปีละ 20,000 หน่วย
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ