อสังหาฯกลาง-เล็กมวยวัดหมัดน็อคฝ่าโควิด
Loading

อสังหาฯกลาง-เล็กมวยวัดหมัดน็อคฝ่าโควิด

วันที่ : 2 สิงหาคม 2563
อสังหาฯ มวยวัด ทางรอด ยุคโควิด -19
          ประกายดาว แบ่งสันเทียะ

          กรุงเทพธุรกิจ


          โควิด19ฉุดอสังหาฯรายเล็กทรุด ทว่ายังมีบริษัทอสังหาฯ นอกตลาดหลักทรัพย์เป็น"มวยวัด"ผู้ไม่แพ้รบนอกสังเวียน แปลงข้อด้อย เป็นจุดแข็ง"เล็ก-ปราดเปรียว-เข้าเร็ว- ออกเร็ว" หลบวิกฤติ..สู่น่านน้ำใหม่

          ต้องยอมรับว่าวิถีการแข่งขันของโมเดลนักพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ (Developer) มีทุนเป็นต่อ! เพราะแค่เพียงเริ่มต้นก็ต้องใช้เงินทุนซื้อที่ดิน ก่อสร้าง ทำตลาด แล้วค่อยทำยอดขาย ลงทุนเริ่มต้นหลัก ร้อยล้าน พันล้าน ไปจนถึงหมื่นล้านบาท กว่าจะรับเงิน คืนทุนต้องรอระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง สำหรับโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์)

          ยิ่งหากเป็นโครงการตึกสูง โดยทั่วไปใช้เวลา คืนทุนอยู่ที่ 3-4 ปี นี่คือความเสี่ยงของธุรกิจนี้ที่ต้องแบกต้นทุนมหาศาล

          ยากขึ้นไปอีก หากนักพัฒนาอสังหาฯรายนั้น เงินทุนไม่หนาพอ หรือมีแหล่งเงินทุนจากธนาคารคอยหนุน จึงเป็นเหตุให้บริษัทอสังหาฯพอดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง มักเดินสู่การเป็นบริษัท "มหาชน" เพื่อระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

          นอกจากความเสี่ยงด้านแหล่งทุน ยังมีความเสี่ยง ในเรื่องของความต้องการ (ดีมานด์) ว่าเปิดตัว โครงการแล้วจะแทงหวยถูก ขายหมดหรือไม่ ซึ่งมีหลายตัวแปรที่ต้องคำนึงถึง

          ทว่าที่ผ่านมา ไม่มีใครพูดถึง ตัวแปรเรื่อง โรคระบาด ที่กระทบกำลังซื้ออสังหาฯอย่างแรง พลอยกระเทือนไปกระทบความเชื่อมั่นของนักพัฒนาอสังหาฯต่อการเดินหน้าโครงการ โดยผลสำรวจจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 (REIC Housing Developer's Sentiment index: HDSI) พบว่าภาพรวมดัชนีมีค่าเท่ากับ 42.6 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) อยู่ที่ 41.2 จุด

          แต่ยังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50

          แม้ภาพรวมดัชนีจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่หากแยกดัชนีความเชื่อมั่นเป็นบริษัทอสังหาฯขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Non -Listed Companies) จะพบว่า มีความเชื่อมั่นลดลง ต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ของปีนี้ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 38 จุด ลดลงจากไตรมาสแรกของปีนี้ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 40.5 จุด

          เมื่อเทียบกับบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Listed Companies) มีค่าดัชนีสูงกว่าภาพรวม อยู่ที่ 45.7 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 41.7 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Listed มองภาพวิกฤติ เป็นบวก ปลุกความหวังตลาดจะกลับมาฟื้นตัว

          ตรงกับข้ามกับอสังหาฯขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ยังเห็นว่าต่อให้วิกฤติโควิดคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น แต่บริษัท Non-Listed ยังไม่คลายความกังวลว่าตลาดอสังหาฯจะฟื้นตัวดีขึ้น สถานการณ์ยังเปราะบาง ทั้งปัจจุบันและอนาคต ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านจึงไม่ง่าย ต่อการพัฒนาโครงการใหม่

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นักพัฒนาอสังหาฯ บริษัท Non-Listed Companies มีความไม่เชื่อมั่น และกังวลต่อโอกาส ในการแข่งขันในธุรกิจอสังหาฯ ทั้งจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ ฉุดดีมานด์ซื้อบ้านลดลงไป จากตลาด และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่นักพัฒนา Listed Companies โดนแรงบีบจากผู้ถือหุ้น วิ่งไป ชิงดีมานด์ในตลาดที่กลุ่ม Non-Listed ถือครองอยู่ ทั้งต่างจังหวัด และพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นโอกาสของ รายเล็ก

          แต้มต่อสำคัญ นักพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ในตลาด มีความได้เปรียบ "เงินทุน" หนากว่า สายป่านยาว และมีช่องทางในการหาแหล่งเงินทุนหลากหลาย ไม่จำกัดแค่เพียงจากสถาบันการเงิน เช่น หุ้นกู้ (Bond) ต้นทุนการเงินถูกกว่า Non-Listed Companies ไพ่ที่เหนือกว่าอีกด้าน คือ เครื่องมือ ในการทำการตลาดดิจิทัล รองรับวิถีใหม่ (New Normal) ใช้สื่อออนไลน์ ทำให้คนเห็นแบรนด์ ได้มากกว่า

          โดยเฉพาะในช่วงโควิด ธนาคารเห็นท่าไม่ดี เริ่มคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเลือกเฉพาะรายใหญ่ ที่มีน่าเชื่อถือ มีผลงาน และมีแบรนด์ นี่จึง ทำให้อัตราการเปิดตัวของบริษัทใหญ่ Listed มีมากกว่า ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก Non-Listed เมื่อยามขาดเงินทุนจึงเลือกหยุด หรือชะลอเปิดตัวโครงการ

          "วิกฤติโควิดจึงมีโอกาสที่บริษัท ขนาดใหญ่เปิดตัวเข้าไปชิงเค้กกำลังซื้อบ้าน และคอนโด ที่รายเล็กๆ ครองพื้นที่ บางบริษัท Listed วางแผนเข้าไปแข่งในต่างจังหวัดมากขึ้นมากขึ้น" เขาอธิบาย

          ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ยังระบุว่า ก่อนช่วงโควิดสัดส่วนบริษัท Listed ต่อ Non-Listed ประมาณ 70/30 แต่หลังจากโควิด การหยุดพัฒนาเปิดตัวโครงการใหม่ ของบริษัท Non-Listed เนื่องจากขาดเงินทุน และกังวลกับความเสี่ยงในอนาคต เริ่มจะสูญเสียส่วนแบ่งพัฒนาโครงการใหม่ ให้กับบริษัท Listed

          'แพทโก้'เศรษฐีหมื่นไร่ชิงแต้ม..! กลางตลาดซบ

          สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แพทโก้กรุ๊ป เจ้าของแลนด์แบงก์ ขนาดใหญ่นับหมื่นไร่ ทั่วประเทศ พัฒนาโครงการอสังหาฯต่อยอดจากแลนด์แบงก์สะสมในมือ ตลอด 30 ปีกว่า 24 โครงการ อาทิ โครงการบ้านหรูวิจิตราธานี โครงการบ้านระดับกลางแบรนด์มารวย

          ที่ผ่านมาเปิดตัวเฉลี่ยปีละ 1-2 โครงการ ค่อยๆ เก็บสะสมกำไรมาเป็นทุน จนทำให้ ในช่วง 5 ปี (2558-2563) เปิดตัวโครงการใหม่ มากขึ้นเฉลี่ยมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโต โดยมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2563

          ทว่า เมื่อมาเจอกับผลกระทบโควิด ทำให้ต้องพับแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมา บริหารแบบค่อยเป็นค่อยไป (Conservative) ไม่เร่งรีบ กดดันตัวเอง เปิดเกมรุกขยับพอร์ต เมื่อมีโอกาส เปิดตัวโครงการแบบกู้ธนาคาร ควบคู่กับเงินทุนตัวเองสัดส่วน 2ต่อ1

          อย่างไรก็ตาม เขาระบุถึงข้อดีของการเป็น บริษัทอสังหาฯนอกตลาดหลักทรัพย์ว่า ทำให้ไม่มีแรงบีบในการทำกำไร สร้างการเติบโต หากดีมานด์ชะลอตัว รวมถึงไม่เร่งลดราคาแข่งขัน แต่ทำโครงการให้มีมูลค่า" ขณะที่จุดแข็งของธุรกิจครอบครัวที่สร้างพอร์ตมาจากธุรกิจหลากหลาย คือ แลนด์แบงก์ในมือ ฐานลูกค้าเก่า และ ชื่อเสียง (แบรนด์) ไม่แบกภาระที่ดิน ทำให้ เกิดความสามารถในการแข่งขัน

          "การมีที่ดิน และพัฒนาในพื้นที่ ที่มีอยู่แล้ว ถือว่าได้เปรียบบริษัทขนาดใหญ่ ที่เข้ามาแข่งขัน เพราะมีฐานลูกค้า ที่ครอบคลุม ทุกเซ็กเมนท์ ตั้งแต่กลางจนถึงระดับบน"

          ออกตัวสปีด 'ทิ้งความกลัว'ชิงปิดเกมระดมทุนซื้อที่ดิน

          กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) นักอสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่ ผู้ผันตัวจากวิศวกรมนุษย์เงินเดือนให้บริษัทอสังหาฯมาสู่นักพัฒนาอสังหาฯ จุดแข็งคือความที่เป็นวิศวกรทำให้การบริหารงานก่อสร้างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ

          ในปี 2547 เริ่มต้นซื้อทาวน์เฮาส์มารีโนเวท จนก้าวเป็นนักพัฒนาอสังหาฯเต็มตัว เปิดบริษัทในปี 2556 ยุคคอนโดเริ่มบูม ก้าวขึ้นปีที่ 8 พัฒนาไปแล้ว 22  โครงการ 2-3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) พัฒนา โครงการเฉลี่ย 4-6 โครงการต่อปี

          สิ่งที่ทำให้เขาเบียดเข้ามาในตลาดได้ คือการทำโครงการตึกไม่เกิน 8 ชั้น (Low Rise) ยูนิตน้อย สร้างเสร็จ ขายเร็ว เน้นโซนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เช่น ลาดพร้าว รัชดา รวมไปถึงย่านสถาบันการศึกษา

          ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ เขาเดินเกมสวนทางกับนักพัฒนาอสังหาฯรายเล็ก ที่ยังกลัวสถานการณ์โควิดไม่แน่นอน ระหว่าง ที่ทุกคนเบรกถอยทัพพับโครงการ แต่เขาเดินหน้าเปิดโครงการ โดยเลื่อนแผนจาก ช่วงต้นปีมาอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 6,000 ล้านบาท

          เริ่มเพิ่มความท้าทายขยับขึ้นใจกลางเมือง เลือกทำเลที่ยังมีช่องว่าง พัฒนาโครงการแนวสูง หลังคลายล็อกดาวน์เปิดตัวทันที เช่น โครงการ โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง เนื้อที่ 8 ไร่มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท แบ่งพัฒนาเปิดตัวเฟสแรก 2 ไร่ 546 ยูนิต มูลค่า 1,790 ล้านบาท ถือเป็นโครงการเดียวระหว่างสถานีรถไฟฟ้ารามคำแหง

          โดยในชไตรมาส3 ยังมีแผนเปิดตัว โครงการ โมดิซ (MODIZ) รังสิต มูลค่า 1,200 ล้านบาท 235 ยูนิต เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 เปิดตัว บ้านภูริปุรี โฮลดิ้ง จำกัด ทาวน์โฮมหรูราคา 7-10 ล้านบาท อีก 2 โครงการ คือ ย่านลาดพร้าว และพัฒนาการ

          ทั้งหมดเพื่อสานต่อเป้าหมายพาธุรกิจเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ตามแผนที่วางไว้ที่จะมีการยื่นหนังสือชี้ชวนเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้น (Filling) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในปีนี้ เพื่อการระดมทุนซื้อที่ดิน

          "ในช่วงโควิด เรายังมีแบงก์ซัพพอร์ต เพราะที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 7-8 ปี เห็นผลงานของการพัฒนาโครงการที่สร้างเสร็จ ขายเร็ว เป้าหมายการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของเรา เพื่อเตรียมแผนการเติบโตหาแหล่งเงินทุนเพื่อ ซื้อที่ดินแปลงที่ใหญ่ขึ้น ทำเลที่ดีขึ้น"

          'นักอสังหาฯ'หมัดเล็ก ชกไว หลบไว

          พ.อ.ดร.รอยบุญ เลาหะวิไลย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย อินเตอร์ เฮาส์ จำกัด และบริษัท สิริทรง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นักพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ที่สร้างตัวจากการสะสมกำไรมาพัฒนาโครงการทั้งแนวราบ และแนวสูง มากว่า 26 ปี (เริ่มปี 2537) เคยผ่าน บทเรียนวิกฤติปี 2540 จนเจ็บหนักมาก่อน

          สำหรับเขาสถานการณ์เช่นนี้ จึงเลือกเดินธุรกิจบนความสมมติฐานเลวร้ายที่สุด (Worst Case) เพื่อบริหารความเสี่ยง

          โดยเขายอมรับว่า บริษัทรายเล็ก นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เสียเปรียบการแข่งขันในภาวะที่กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการรายเล็กจะยิ่งค่อยๆ หายไปจากตลาด หยุดการพัฒนาโครงการใหม่ เพราะ ขาดเงินทุน ธนาคารเริ่มชะลอการปล่อยสินเชื่อ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทขนาดใหญ่จะต่ำกว่า 30-40%

          อีกแต้มต่อของรายใหญ่ คือ ความ น่าเชื่อถือของแบรนด์ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งธนาคารและลูกค้า ต่างไม่มั่นใจในบริษัทโนเนม และบริษัทใหญ่ยิงโฆษณาเม็ดเงิน ครั้งเดียวเข้าชมทุกโครงการ แต่รายเล็ก ใช้จ่ายเงินเท่ากัน แต่ขายได้เฉพาะเพียงโครงการเดียว เทียบกับต้นทุนจำนวนโครงการ (Economy of Scale) ต้องขาย ต่ำกว่าแบรนด์ถึง 20% จึงจะแข่งขันได้

          "ในภาวะตลาดชะลอตัว ลูกค้าที่ซื้อโครงการจะมั่นใจแบรนด์มากกว่า เนื่องจากปี2540 เคยมีกรณีที่ลูกค้าวางเงินแล้ว ไม่ได้บ้าน ส่วนแบงก์ชะลอการปล่อยสินเชื่อ รายใหญ่ในตลาดยังมีทางเลือกทางการเงินมากกว่า"

          ดังนั้น หากเปรียบมวยวัดกันไซส์รายเล็ก แพ้อย่างหมดรูปตั้งแต่ยังไม่ลงแข่งขัน

          ทว่า ด้วยความที่เขาอยู่ในตลาดมีประสบการณ์มายาวนาน จึงรู้ว่า ชกกับ รายใหญ่หมัดหนักกว่า ต้องเป็นมวยวัด "ชกเร็ว หลบไว" นั่นคือ Economy of Speed ตัดสินใจฉับไว เข้าเร็ว ออกไว เมื่อเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว สันนิษฐานร้ายแรงที่สุด หากไม่มีรายได้ 4-5 ปีต้องอยู่ให้ได้ จึงลดราคาเร่งขาย เร่งโอน โครงการในมือ จนขายหมด โครงการคอนโด เดอะ เมเปิ้ล 2 โครงการ และหยุดเปิดโครงการที่ 3 ที่มีแผนในปี 2563 รวมไปถึง การเร่งขายบ้าน สิริ เฮ้าส์ โครงการทาวน์โฮม บนถนนรัชดา

          นี่คือข้อได้เปรียบของบริษัท NonListed สู้กับยักษ์ใหญ่ Listed ตัดสินใจเร็ว ไม่มีขั้นตอนเยอะ สัญญาณไม่ดีก็ออก ให้ไว ทำให้วิกฤติโควิด ที่ทุกคนมองว่าหนักกว่าปี 2540 บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระ สต็อกให้หนัก ที่สำคัญต้นทุนผู้บริหาร มีเพียงคนเดียวทำ 4-5 หน้าที่ ขณะที่บริษัทใหญ่ใช้ทีมผู้บริหาร 4-5 คน

          "เพราะผ่านปี 2540 เคยเจ็บตัวมาก่อนจึงรู้ว่าวิกฤติมันเจ็บปวด หลังจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ (LTV) เห็นสัญญาณไม่ดี ก็เริ่มทยอยขาย ลดราคาเร่งโอนจนปิดปลายปี 2562และเร่งขายในปี2563"

          ณ ปัจจุบัน สิ่งที่บริษัท เอเชีย อินเตอร์ เฮาส์ แก้เกมวิกฤติ คือแปลงแลนด์แบงก์ที่แบกไว้มูลค่า 400-500 ล้านบาท จากเตรียมพัฒนาเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็หยุดหันมาปรับพอร์ตเป็น ปล่อยเช่า กระจายความเสี่ยงหลากหลาย (Diversify) เพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) อาจจะมีการปรับแลนด์แบงก์ จากที่อยู่อาศัยมาเป็นโครงการอาคารพาณิชย์

          "รายใหญ่หมัดหนักกว่า เราเป็นรายเล็ก มวยวัด ต้องชกถี่ ชกไว ต่อยให้ ตรงเป้า หากลูกค้าเดินเข้าโครงการต้องตัดสินใจลดราคาและปิดการขายให้ได้"

          ทะลวงชิงเซ็กเมนท์สีครามช่องว่างรายใหญ่-เล็ก ไม่ทำ

          ชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด อดีตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่หันมาเป็น นักลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมเก็บสะสม เพื่อการลงทุน เก็งกำไรและปล่อยเช่า จากหลัก 10 เป็นหลัก 100 ห้อง จนสะสมเงินทุนได้จำนวนหนึ่ง พร้อมกับวิธีคิด แบบนักพัฒนาอสังหาฯ ผันตัวเป็นนัก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จับกลุ่มตลาด นักลงทุนปั้นโมเดลธุรกิจจับกลุ่มผู้ซื้อ เพื่อการลงทุน และพักผ่อน (Life Style Investment) ช่วยดูแลและบริหารจัดการบริหารสินทรัพย์

          เขายอมรับว่า ผลกระทบจากวิกฤติ โควิดทำให้ตลาดต่างประเทศลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงล็อกดาวน์ และธนาคาร ก็เริ่มลดการปล่อยกู้

          ผลกระทบลูกแรก ตกอยู่กับบริษัท Non-listed ขนาดเล็ก จะอยู่ยาก จึงต้องใช้เงินลงทุนเองมากกว่าเดิม หากต้องการลงทุน ต้นทุนแพง แต่ผลตอบแทนต่ำกว่าคู่แข่ง

          ขณะที่บริษัท Non-Listed ขนาดกลาง เริ่มสร้างแบรนด์ มีผลงาน ใช้กลยุทธ์ หาช่องว่างตลาดเฉพาะ วางกลุ่มเป้าหมายเซ็กเมนท์ชัดเจน ดึงดูดพันธมิตรร่วมทุน ช่วงวิกฤติจึงมีทางออกแหล่งเงินทุนที่ หลากหลายช่องทาง มีไซส์กลาง เป็นจุดอ่อนที่มีจุดแข็ง ที่เล็ก คล่องตัว และยืดหยุ่น มีศักยภาพทำโครงการขนาดใหญ่ พร้อม ร่วมทุนกับพันธมิตรหลากหลาย มีโอกาสเติบโต

          ชนินทร์ ยกตัวอย่างโครงการของ ฮาบิแทท อสังหาฯระดับกลาง มีผลงานการพัฒนาโครงการพัทยาไปแล้ว 7 โครงการ มูลค่ารวม 5,500 ล้านบาท จึงเพิ่มโอกาสหาผู้ร่วมทุนต่างประเทศ เช่น ร่วมทุนกับ ลิสต์ กรุ๊ป (List Grop) ผู้เชี่ยวชาญอสังหาฯ จากประเทศญี่ปุ่น ตอบโจทย์ของการมีแหล่งเงินทุน โดยไม่จำเป็นต้องมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

          หากเข้าตลาดฯวันนี้อาจจะวิ่งเป็น "หนูติดจั่น" เหนื่อยหนักเร่งสร้าง รายได้ ขึ้นโครงการใหม่ ยิ่งเพิ่มภาระเหนื่อยหนักในช่วงวิกฤติโควิด ต้อง ตกอยู่ในสภาพแบกสต็อก(Inventory) จนอ่วม

          "บริษัทนอกตลาดไซส์กลางหากจะไปแข่งขันในตลาดทะเลสีแดง (Red Ocean) ที่มีทั้งทุน ไซส์ จำนวนโครงการมาก (Volume Scale) สู้เค้าลำบาก ต้องมองหาช่องว่างตลาด ที่เจ้าใหญ่ไม่เล่น เช่น แปลงเล็กๆ"

          บริษัทในตลาดและนอกตลาดมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และจุดแข็งหลักของธุรกิจ โดยกระแสเงินสด ยังหัวใจสำคัญสูบฉีด เลือดหล่อเลี้ยงธุรกิจ

          "ภาวะตลาดแบบนี้มันปราบทุกอย่าง น็อคเอาท์ หากวิ่งตามกระแสไม่หา เซ็กเมนท์ใหม่ๆ อาจจะถึงทางตัน สภาพตลาดอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2559-2561 นักพัฒนาอสังหาฯยังสนุกขายดีเปิดโครงการจำนวนมาก พอเริ่มชะลอในปี2562 ต่อเนื่องมาสู่ปี 2563 เจอวิกฤติโควิด หากไม่เตรียมรับมือการชะลอตัว บริษัทในตลาดก็จะเหนื่อยต้องเร่งระบาย สต็อก"

          จุดของฮาบิแทท ความความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว แม้มีข้อด้อยด้านทุน แต่ยังมี "ทำเล สินค้า และราคา" ที่ต้อง แข่งกัน

          "สู้กับยักษ์ใหญ่สู้ยาก ต้องชิงความได้เปรียบในแต่ละมิติ กระสุนไม่ใหญ่ แต่หากไซส์เล็กตอบโจทย์ลูกค้า มีจุดขายแตกต่าง โดยเฉพาะความต้องการบ้าน แนวราบเพิ่มขึ้น ไม่ว่า รายเล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนมีโอกาสชิงดีมานด์"
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ