การเคหะฯเล็งออก โซเชียลบอนด์ ปล่อยสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้าน
Loading

การเคหะฯเล็งออก โซเชียลบอนด์ ปล่อยสินเชื่อผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้าน

วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 2563
การเคหะแห่งชาติ เผยราคาที่อยู่อาศัยแพงกว่ารายได้คนฐานราก ซ้ำแบงก์เข้มฉุดยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง 70% เล็งออกโซเชียลบอนด์ 6,900 ล้านบาท
          หลังยอดรีเจคท์พุ่ง 70%  แจงเป้าปี 63 พัฒนา ที่อยู่อาศัยกว่า 2 หมื่นยูนิต

          การเคหะแห่งชาติ เผยราคาที่อยู่อาศัยแพงกว่ารายได้คนฐานราก ซ้ำแบงก์เข้มฉุดยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง 70% เล็งออกโซเชียลบอนด์ 6,900 ล้านบาท นำมาพัฒนาโครงการ-เงินหมุนเวียนเพิ่มยอดผู้มีรายได้น้อยกู้ซื้อบ้านช่วงเศรษฐกิจชะลอ รอกำลังซื้อฟื้นก่อนส่งต่อให้แบงก์ เผยเป้าหมาย ปี 63 พัฒนาที่อยู่อาศัยกว่า 20,000 ยูนิต พร้อมคิกออฟ โครงการแฟลตดินแดง เล็งวางศิลาฤกษ์ก่อน 6 เม.ย. หลังล่าช้ากว่า 1 ปี

          นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย พบว่า ตลาดของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีปัญหาอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่สอดคล้องกับราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านผู้มีรายได้น้อยยื่นขออนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารพาณิชย์แต่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ (Reject)สัดส่วนสูงถึง 70%จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ยอดรีเจคท์อยู่ที่ 30-40% โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 7 แสนบาทต่อยูนิต  เนื่องมาจากผลกระทบมาตรการคุ้มเข้ม สินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งการเคหะฯ ถือเป็นรายใหญ่ที่ทำตลาดในที่อยู่อาศัยเพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยมีพันธกิจดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาที่มีระยะ 20 ปี (2560-2579) ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องหามาตรการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย "ธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะตลาดระดับราคา 7 แสนบาท มีการกู้และโดนรีเจคท์สูงถึง 70%ดังนั้นแม้ยอดจองการซื้อจะเข้ามามาก แต่ยอดการขายจริงที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งเดิมทีมีเงื่อนไขการขอสินเชื่อ ที่การเคหะฯ เป็นผู้รับความเสี่ยงกรณีเริ่มค้างค่างวดเกิน 3 เดือน ทางการเคหะฯเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวสิ้นสุดลง จึงส่งผลทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อจากแบงก์สูงขึ้น ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังซื้อที่ชะลอตัวก็มีส่วนในการพิจารณาสินเชื่อ"

          เขายังกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางการเคหะฯ มีแนวทางเพิ่มยอดการเข้าถึงที่อยู่อาศัยกับการเคหะฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนจากกลุ่มประชาชนฐานราก จึงยื่นของบประมาณจากภาครัฐมูลค่า 5,207 ล้านบาท เพื่อมาช่วยเป็นเงินทุน หมุนเวียนปล่อยกู้ให้กับกลุ่มผู้ซื้อบ้าน ในช่วงสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ก่อนส่งต่อให้ธนาคารเมื่อผู้กู้มีศักยภาพ โดยทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้จัดสรรงบประมาณ 346 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถูกรีเจคท์สินเชื่อ

          ดังนั้นทางการเคหะฯ ได้หามาตรการเสริมหลากหลายด้านเพื่อส่งเสริมให้ตลาดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบ จากสภาพเศรษฐกิจได้ซื้อที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย การศึกษาการออกพันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตั้งเป้าหมาย วงเงินประมาณ 6,900 ล้านบาท คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย และเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนให้สินเชื่อกับประชาชนที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ โดยที่ผู้กู้นั้นยังถือว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระเป็นการแก้ไขปัญหาสินเชื่อชั่วคราว เมื่อ ผู้กู้มีศักยภาพพร้อมผ่อนชำระจากธนาคารชัดเจนจึงส่งต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ เป้าหมายการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะในปี 2563 กว่า 20,000 หน่วย (ยูนิต) โดยเป็นโครงการพร้อมโอนประมาณ 6,700 ยูนิต และโครงการเริ่มสร้าง 4,300 ยูนิต เป็นโครงการเช่าประมาณ 10,000 ยูนิต

          นอกจากนี้ จะมีโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (Public Private Partnership - PPP) ใน 3 โครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ คือโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดงโครงการหนองหอย เชียงใหม่ และโครงการร่มเกล้า ส่วนใหญ่เป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่ถือว่าเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่เป็นทำเลที่มีศักยภาพ

          นายนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่า การเคหะแห่งชาติกล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาอาคารเช่า เพื่อช่วยเหลือคนมีรายได้น้อย โดยในช่วงปี 2560-2562 ที่ผ่านมาได้จัดโครงการเช่าไปแล้ว 11,903 ยูนิต โดยในปี 2563 มีโครงการพัฒนาเพิ่มประมาณ 10,000 ยูนิต จากความต้องการที่ลงทะเบียนแล้ว 15,451 ราย ซึ่งจัดทำโปรโมชั่นในราคาเริ่มต้น 999 บาทต่อเดือน ทั้งนี้เป็นการเริ่มต้นให้ผู้มีรายได้เข้าถึงที่อยู่อาศัย และเป็นทางเลือกก่อนพร้อมซื้อในอนาคต

          นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการบ้านราคาประหยัดมาตรฐานสูง (Smart Home) โดยออกแบบบ้านพร้อมกับปรับระดับ ราคาที่ให้คนเข้าถึงได้ โดยเริ่มต้นที่ 350,000-550,000 บาทต่อยูนิต ในพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 22,28 และ 36 ตารางเมตร(ตร.ม.)

          สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ที่คาดว่าจะกำหนดวางศิลาฤกษ์ภายในวันที่ 6 เม.ย. 2563 นี้ หลังจากที่เลื่อนมากว่า 1 ปี เนื่องมาจากมีการปรับการประเมินการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ ระยะที่ 2-4 โดยระยะที่ 2 จำนวน 1,247 หน่วย ประกอบด้วย อาคาร A1 สูง 32 ชั้น 1 อาคาร 635 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลตที่ 9-17 และแฟลตที่ 63-64 และอาคาร D1 สูง 35 ชั้น 1 อาคาร 612 หน่วย รองรับผู้อยู่อาศัย เดิมจากแฟลตที่ 23-32

          ธนาคารค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะตลาดระดับราคา 7 แสนบาท มีการกู้และโดนรีเจคท์สูงถึง 70%
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ