เฟอร์นิเจอร์หนีแข่งดุ แนะคุมต้นทุน-รับผลิตสินค้า-สร้างแบรนด์เองลดเสี่ยง
Loading

เฟอร์นิเจอร์หนีแข่งดุ แนะคุมต้นทุน-รับผลิตสินค้า-สร้างแบรนด์เองลดเสี่ยง

วันที่ : 4 มกราคม 2560
เฟอร์นิเจอร์หนีแข่งดุ แนะคุมต้นทุน-รับผลิตสินค้า-สร้างแบรนด์เองลดเสี่ยง

ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไทยแข่งดุสู้ปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน หลังอสังหาฯ เจาะตลาดระดับกลาง-ล่างยังหืดจับ กระทบธุรกิจเกี่ยวเนื่อง แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัวทั้งการลดต้นทุน ผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองควบคู่รับจ้างผลิต

เอส.พี.เอส.อินเตอร์เทค ระบุเฟอร์นิเจอร์ไทยต้องเร่งปรับตัว หนีปัจจัยลบ มุ่งสร้างแบรนด์เองควบคู่รับจ้างผลิต

นายกีรติ เสริมประภาศิลป์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอส.พี.เอส.อินเตอร์เทค ผู้ผลิตและ ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดเฟอร์นิเจอร์ในปี 2560 ยังคงแข่งขันรุนแรงและมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน การปรับขึ้นของน้ำยางพารา ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ปรับสูงขึ้นกว่า 20%

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะกลุ่มที่จับตลาดระดับกลาง-ล่าง ยังเผชิญกับปัจจัยลบรุมเร้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สินครัวเรือนจากปัญหารถยนต์คันแรก การปฏิเสธการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

"ตลาดเฟอร์นิเจอร์ปี 2560 ยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพราะมีปัจจัยลบเยอะ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากภายนอกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่เป็น ผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว ควบคุมต้นทุนการบริหารงานให้ดี เพราะไม่สามารถจะปรับขึ้นราคาได้ง่ายจากการแข่งขันสูง เพราะการผลิตเฟอร์นิเจอร์เป็นสินค้าที่ไม่ใช้เทคโนโลยี จึงต้องมาแข่งขันทางด้านการออกแบบและฟังก์ชั่นในการใช้งาน"

จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทจึงเตรียมปรับแผนรับมือ โดยในปี 2562 จะให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าประเภท ODM (Original Design Manufacturer) หรือการผลิตสินค้าที่เน้นการออกแบบ พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท เอส.พี.เอส. ประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์เจาะตลาดโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนการขาย 30%

ขณะเดียวกัน ยังเน้นการผลิตสินค้ารูปแบบ OBM (Original Brand Manufacturer) หรือการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง ภายใต้แบรนด์ โมด้า (Modar) ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนการขาย 20% โดยจะมุ่งตลาดส่งออกต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เน้นไปที่ประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโต ล่าสุดได้เริ่มส่งออกไปทดลองทำตลาดในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย รวมถึงเริ่มทำตลาดในกัมพูชา แต่จะไม่เน้นไปตลาดในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากแบรนด์สินค้าโดยเฉพาะยุโรปนั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรักษาสัดส่วนตลาด OEM (Original Equip-ment Manufacturer) ให้อยู่ในสัดส่วน 50% โดยการเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนให้กับแบรนด์อิเกีย ซึ่งในปี 2559 ภาพรวมยอดขายของบริษัทนั้นเติบโตได้ 5% และตั้งเป้าว่าปี 2560 จะสามารถ ผลักดันให้เติบโตได้ 5-10%

สำหรับในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย จะเร่ง ผลักดันให้เกิดคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ เหล็ก โซฟา หรือเครื่องหนัง เช่น ร่วมกันออกแบบเฟอร์นิเจอร์ รูปแบบใหม่ๆ จากเดิมที่ผลิตสินค้าแข่งขันกันเอง รวมทั้งจะเร่งผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เหมือนกับภาครัฐที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น รถยนต์โตโยต้า ที่ทำให้ไทยเป็นฮับของอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าววัสดุก่อสร้าง-เฟอร์นิเจอร์ อื่นๆ