กทม.ติดอันดับ8เมืองน่าลงทุนด้าน'อสังหาฯ'
Loading

กทม.ติดอันดับ8เมืองน่าลงทุนด้าน'อสังหาฯ'

วันที่ : 15 มกราคม 2560
กทม.ติดอันดับ8เมืองน่าลงทุนด้าน'อสังหาฯ'

กรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 8 ในการ จัดอันดับ 22 เมืองใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก ที่น่าสนใจเข้าลงทุนในสายตาของนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ในปีนี้ แซงหน้ากรุงปักกิ่ง ของจีน และกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ด้านพื้นที่สำนักงาน กรุงเทพมหานคร กลับติดอยู่ในอันดับสุดท้ายของตาราง โดยแนะนำให้ขายสูงถึง 75.0%

สถาบันเออร์บัน แลนด์ (ยูแอลไอ) และพีดับเบิลยูซี บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก เผยผลการสำรวจเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีความน่าสนใจเข้าลงทุนในปี 2560 ในสายตาของนักพัฒนา และนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่า กรุงเทพมหานคร ติดอยู่ในอันดับ 8 ของการสำรวจครั้งนี้ โดยมีเมืองบังกาลอร์ และมุมไบ ของอินเดียอยู่ในอันดับ 1 และ 2 ตามด้วยกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ในอันดับที่ 3

กรุงเทพมหานคร ยังติดอยู่ในอันดับ 11 ของการสำรวจเมืองที่โอกาสการพัฒนาประจำปีนี้ ที่มีเมืองบังกาลอร์  นครโฮจิมินห์ เวียดนาม และเมืองมุมไบ ครอง 3 อันดับแรก

รายงานระบุว่า หลังจากที่ตกอยู่ในอันดับล่างๆ ของการจัดอันดับมานานหลายปี กรุงเทพมหานคร ก็มีอันดับที่ดีขึ้นในปีนี้ จากการที่ค่าเช่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าเงินทุน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะให้โอกาสที่ดีในระยะยาว สอดคล้องกับสภาพการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจไทย

นักลงทุนมองว่ากรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มที่แข็งแกร่งทั้งในด้านการจัดหาใหม่ๆ และการดูดซับโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งในปัจจุบัน ผลตอบแทนจากพื้นที่สำนักงานในระดับดีเยี่ยม หรือเกรดเอ ในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับต่ำกว่า 7% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมืองหลวงของไทย ยังมีสถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สอดคล้องกับตลาดอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องของการมีสินทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้วให้เข้าซื้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการทั้งด้านการพัฒนา หรือเข้าลงทุนด้านกลยุทธ์ก็ได้

ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งของไทย ที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือ โรงแรม ซึ่งรายงานชี้ว่า แม้ปริมาณข้อตกลงจะซบเซา แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน  และการขยายตัวของรายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ ก็แข็งแกร่งเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเทพมหานคร ยังมีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุนพากันเพิ่มการลงทุนในหุ้นของโรงแรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง ที่เป็นประเด็นที่นักลงทุนในไทยจับตามองมานานหลายปีแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบน้อยมากต่อการดำเนินธุรกิจในแต่ละวันของบริษัทต่างๆ  เมื่อมองแยกย่อยลงไปในด้านอสังหาริมทรัพย์ของแต่ละภาคธุรกิจแล้ว รายงานให้คำแนะนำถึงการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วน 33.3% ติดอยู่ในอันดับ 15 ร่วมกับกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย  เช่นเดียวกับในด้านที่อยู่อาศัย ที่กรุงเทพมหานครอยู่ในลำดับที่ 8 ของคำแนะนำให้เข้าลงทุน

อย่างไรก็ดี ในด้านพื้นที่สำนักงานนั้น กรุงเทพมหานคร กลับติดอยู่ในอันดับสุดท้าย ของตาราง โดยแนะนำให้ขาย สูงถึง 75.0% และถือครองไว้เพียง 25.0% โดยไม่มีคำแนะนำให้เข้าซื้อ แต่อย่างใด

ส่วนในภาพรวมสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น ดูเหมือนว่า กรุงมะนิลา จะเป็นเมืองที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด โดยได้รับคะแนนที่อยู่ในระดับที่ดี ทั้งในด้านโอกาสการลงทุน การพัฒนา และความน่าสนใจในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในภาคธุรกิจต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องพื้นที่สำนักงาน และค้าปลีก

นายเคน รี หัวหน้าผู้แทนภาคพื้นจีน ของยูแอลไอ ชี้ว่า เมื่อเทียบกับการจัดอันดับในปีก่อน จะเห็นได้ว่า เมืองในตลาดเกิดใหม่ทะยานขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ มากขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนักลงทุน ที่หันไปหาตลาดเกิดใหม่ อย่างอินเดีย เวียดนาม และสิงคโปร์มากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ