แบงก์เร่งโละขายหนี้เสีย ปรับพอร์ตรับNPLพุ่งไม่หยุด กู้ซื้อบ้านเสี่ยง'เบี้ยวค่างวด'เพิ่ม
Loading

แบงก์เร่งโละขายหนี้เสีย ปรับพอร์ตรับNPLพุ่งไม่หยุด กู้ซื้อบ้านเสี่ยง'เบี้ยวค่างวด'เพิ่ม

วันที่ : 16 มกราคม 2560
แบงก์เร่งโละขายหนี้เสีย ปรับพอร์ตรับNPLพุ่งไม่หยุด กู้ซื้อบ้านเสี่ยง'เบี้ยวค่างวด'เพิ่ม

แบงก์เร่งเปิดกรุตัดขาย "หนี้เสีย" คึกคักตั้งแต่ต้นปี บริหารพอร์ตหนี้เชิงรุกรับมือเอ็นพีแอลไหลเข้า ต่อเนื่อง  เดินเครื่องปรับโครงสร้างหนี้-ตัดขายหนี้เน่า วงในชี้จับตาหนี้เสีย "เอสเอ็มอี-อสังหาฯ" พุ่งแรง ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดการณ์เอ็นพีแอลทั้งระบบพีกสุดช่วงไตรมาส 3/60 ที่ระดับ 3.01% มูลค่ารวมแตะ 4.3 แสนล้าน ยักษ์อสังหาฯชี้ปัญหาโผล่กลุ่มตลาดกลาง-ล่างราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท

แบงก์เปิดกรุ "หนี้เน่า" ต้นปี

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวโน้มธุรกิจบริหารหนี้ ด้อยคุณภาพ (หนี้เสีย) ปีนี้เริ่มมีสัญญาณ คึกคักตั้งแต่ช่วงต้นปี หลังมองว่า ปัจจุบันหนี้เสียในระบบค่อนข้างอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กลุ่มสถาบันการเงิน (แบงก์) และน็อนแบงก์มีการเร่งนำหนี้เสียออกมาตัดขายจำนวนมาก

"ปีนี้การตัดขายหนี้เสียคึกคักตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งเพราะมีวิกฤตที่เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อหนี้รายย่อยและหนี้ครัวเรือนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้สถาบันการเงินจึงเร่งชิงตัดขายหนี้เก่าออกมาก่อน"

นายปิยะกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างทำดีลซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามา บริหารกับ 3 สถาบันการเงิน มูลค่ารวมกันหลายพันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายจะซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มอีก 3 หมื่นล้านบาท จากปี 2559 ที่ซื้อหนี้เพียง 20,000 ล้านบาท และจะหนุนให้ทั้งปี บริษัท มีพอร์ตบริหารหนี้เสียเพิ่มขึ้นแตะ 1.3 แสนล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเข้าไปประมูลหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ โดยมีมูลค่ารวมเกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ไม่มีผู้เล่น รายอื่นนอกเหนือจากกลุ่มแบงก์

นายปิยะกล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินเริ่มนำหนี้เสียยังสดใหม่ หรือมีอายุประมาณ 1 ปี ออกขายกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต่างจากเดิมที่หนี้เสียส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 2-3 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุหลักมาจากการที่แต่ละแบงก์เริ่มประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ทำให้มีการทยอยนำหนี้ใหม่ ๆ ออกมาขายรวดเร็วขึ้น โดยการขายหนี้ที่สด ใหม่ก็ยังช่วยให้สถาบันการเงินจะได้ราคาประมูลหนี้ที่สูงขึ้นด้วย

ผลกระทบจากการที่สถาบันการเงินเร่งตัดขายหนี้เร็วขึ้นนั้นส่งผลให้ราคารับซื้อหนี้เสียของบริษัทอาจขยับขึ้นอีกราว 2% สู่ระดับ 7% ของมูลหนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ระดับ 5% ส่งผลให้บริษัทต้อง เตรียมเงินเพื่อซื้อหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท โดยหนี้ที่บริษัทรับซื้อส่วนใหญ่จะเป็น สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ส่วนที่เหลือจะเป็นสินเชื่อรถยนต์และอื่น ๆ

สำหรับแนวโน้มหนี้เสียปีนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทิศทางเศรษฐกิจไม่ได้ดูดีขึ้นมาก และแต่ละแบงก์ก็มีการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น หลังมีธุรกิจฟินเทคเข้ามากดดันทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมการบริการของแบงก์เริ่ม ลดลง ซึ่งหนุนให้แบงก์ต้องดิ้นหารายได้ส่วนอื่น ๆ มาชดเชย ซึ่งมักเน้นการปล่อยสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ขณะที่กลุ่มน็อนแบงก์ใหม่ ๆ ก็เริ่มเข้ามาปล่อยสินเชื่อและแข่งขันกันเพิ่มมากขึ้น

รับมือ "เอ็นพีแอล" พุ่งไม่หยุด

นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า สถานการณ์การขายหนี้เสียของสถาบันการเงินไทยในปี 2560 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังเห็นสัญญาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไหลไม่หยุด โดยเฉพาะเอ็นพีแอล ใหม่ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี ตั้งแต่ รายกลางลงมาถึงสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อ บ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในปี 2560 จึงน่าจะเห็นสถาบันการเงินนำหนี้เสียที่เป็นทั้งสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) กับหนี้เอ็นพีแอลออกมาขายอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ในระดับใกล้เคียง กับปี 2559

"สถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้คาดว่า แบงก์จะต้องเร่งตัดขาย เอ็นพีแอลออกจากพอร์ตเร็วกว่าปีก่อน โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก ซึ่งคาดว่า จะเห็นแบงก์นำหนี้เสียออกมาประมูล ที่ระดับ 1-2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่นำหนี้เสียออกมาประมูลขายระดับ พันล้านบาทเท่านั้น ปัจจุบันหลายแบงก์เห็นว่าเอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ปี 2560 จึงจะเห็นการตัดขายหนี้ทอดตลาด ออกรวดเร็วขึ้น" นายชูเกียรติกล่าว

สำหรับทิศทางการรับซื้อหนี้ของ SAM ปี 2560 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3,000-4,000 ล้านบาท จากปี 2559 มูลหนี้ราว 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล ซึ่งแบงก์ต่าง ๆ ขายพ่วงเข้ามาในพอร์ตด้วย เพราะแบงก์เริ่มปรับวิธีบริหารพอร์ตใหม่ด้วย

จับสัญญาณอสังหาฯ "หนี้เสีย"

ด้านนายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า สำหรับปีนี้เริ่มเห็นความเสี่ยงในกลุ่ม สินเชื่ออสังหาฯเพิ่มขึ้น ทั้งการผิดนัดชำระหนี้ การเกิดเอ็นพีแอลที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ปี 2560 ธนาคารเน้นเรื่องการดูแลความเสี่ยง ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และพิถีพิถันคัดเลือกกลุ่มลูกค้าให้สินเชื่อมากขึ้น ปัจจุบันเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้าน ของทิสโก้อยู่ที่ 4-5% เทียบกับพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าตลาดที่มีเอ็นพีแอลเพียงระดับ 3%

ขณะที่ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ธนาคารอาจต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้มากขึ้น เช่น อาชีพผู้กู้ รายได้ของผู้กู้ ซึ่งหากมีรายได้ไม่แน่นอน หรือไม่มีรายได้ประจำ ธนาคารก็มีโอกาสปฏิเสธการให้สินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงต้องกลับมาพิจารณาสินเชื่อในกลุ่มต่าง ๆ ให้รัดกุมมากขึ้น

ทั้งนี้ จากที่ธนาคารทิสโก้ได้ซื้อพอร์ตลูกหนี้รายย่อยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ทำให้มีสินเชื่ออสังหาฯคงค้างในพอร์ตสินเชื่อธนาคารอีกราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยการบริหารพอร์ตลูกหนี้กลุ่มนี้ ธนาคารน่าจะขายพอร์ตสินเชื่อดังกล่าวให้กับบริษัทรับซื้อหนี้เช่นกัน เพื่อให้ ง่ายต่อการบริหารและลดความเสี่ยงใน อนาคต

ส่วนพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ ปัจจุบัน เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่เฉลี่ยยังใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ราว 2.5% ซึ่งแบ่งเป็นเอ็นพีแอลรถใหม่อยู่ที่ราว 1% ขณะที่ รถเก่าอยู่ที่ราว 2.5% โดยพอร์ตหนี้เสียใน กลุ่มสินเชื่อรถยนต์นั้น ธนาคารไม่ได้มี นโยบายในการขายหนี้ โดยเน้นบริหารพอร์ตเองทั้งหมด

หนี้เสียรถ-บัตรเครดิตทรงตัว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2559 เอ็นพีแอลถือว่าปรับตัวดีขึ้น เพราะไตรมาส 4 ของทุกปีเป็นฤดูกาลที่มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุดในรอบปี ทำให้ภาพรวมเอ็นพีแอลดูลดลง ในส่วนกรุงศรีฯเอ็นพีแอลบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.45% ถือว่าดีกว่าตลาดที่อยู่ระดับ 1.95% ส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ระดับ 3.3-3.4% ดีกว่าตลาดที่อยู่ระดับ 3.8-3.9%

อย่างไรก็ตาม จากกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ในขณะนี้ ทางกรุงศรีฯไม่มีความกังวล เพราะน้ำท่วมใต้รอบนี้ไม่ใช่น้ำท่วมขังอย่างน้ำท่วมภาคกลางเมื่อปี 2554 อีกทั้งฐานลูกค้าภาคใต้ของบริษัทมีสัดส่วนไม่มาก เมื่อเทียบกับลูกค้ากรุงเทพฯที่มีสัดส่วน 65% ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ช่วงนี้ บริษัทจึงยังอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า 2-3 หมื่นรายที่ประสบภัยพิบัติ

ด้านนายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า สถานการณ์หนี้เสียรถยนต์ปี 2560 ของธนชาต คาดว่าจะทรงตัวและใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ราว 2% สินเชื่อรถยนต์มีคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคารถยนต์มือสองที่ดีขึ้น แต่คุณภาพหนี้อาจมีปัญหาในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าธนาคารได้รับผลกระทบในการชำระหนี้ได้ ดังนั้นแบงก์จึงต้องดูแลกลุ่มลูกหนี้ในพื้นที่ดังกล่าวต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารได้ออกมาตรการพักหนี้ให้ลูกหนี้ในพื้นที่ประสบภัยเป็นระยะเวลา 4 เดือน

กสิกรฯชี้ NPL จ่อพีก Q3/60

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์เอ็นพีแอลทั้งระบบสถาบันการเงินมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4/59 อยู่ที่ 2.82% คาดว่าไตรมาสแรก ปีนี้เอ็นพีแอลไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% และจะเห็นเอ็นพีแอลขึ้นระดับสูงสุดในไตรมาส 3/60 ที่ระดับ 3.01% ด้วยมูลค่าเอ็นพีแอลรวม 4.3 แสนล้านบาท จากไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท

"คาดการณ์เอ็นพีแอลที่จะแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ ต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า เศรษฐกิจต้องขยายตัวต่อเนื่อง ถึงจะสามารถประคองไม่ให้สถานการณ์เอ็นพีแอลทั้งระบบทรุดตัวลง แต่หากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้นก็มีโอกาสที่เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นจากสมมุติฐานได้"

หากดูแนวโน้มการตัดขายหนี้เสียของสถาบันการเงินให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ต่าง ๆ เชื่อว่า ปีนี้สถานการณ์การขายหนี้เสียไม่น่าจะลดลง เทียบกับ ปี 2559 ที่แบงก์มีการนำหนี้เสียออกมาประมูลขายในตลาดราว 5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันปีนี้แบงก์ยังต้องบริหารหนี้ในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่คาดว่าเฉลี่ยอยู่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 5 หมื่นล้านบาท

"กลุ่มที่ยังเป็นหนี้เสีย เป็นกลุ่มเดิม ๆ คือเอสเอ็มอีขนาดกลางลงมารายย่อย สินเชื่อ บ้าน บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เป็นต้น ซึ่งปีนี้สถานการณ์เอ็นพีแอลก็เป็นสิ่งที่แบงก์ต้องจับตาและบริหารอย่างหนักขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการเร่งเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า และการตัดขายหนี้ออกจากพอร์ต" นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

อสังหาฯหนีตลาดล่าง

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจอสังหาฯโดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่มีการปรับตัวรับมือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของจีดีพี และหนี้เสียที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาฯ โดยมองว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตลาดกลาง-ล่าง ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้รายใหญ่มีการปรับพอร์ตสู่ตลาดกลาง-บนมากขึ้น และชะลอเปิดตัวโครงการระดับล่างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

อีกทั้งมีความกังวลเรื่องการปรับดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นในปี 2560 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีที่ผ่านมา แนวโน้มปีนี้อาจปรับขึ้นอีก 2-3 ครั้ง รวมอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ทุก 1% คำนวณแล้วทำให้ภาระเงินผ่อน ชำระสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น 8% ความสามารถ ในการซื้อของลูกค้าลดลงโดยอัตโนมัติ เท่ากับซ้ำเติมตลาดล่างจึงยิ่งต้องระมัดระวังในปีนี้

"บิ๊กแบรนด์รับสัญญาณมาตั้งแต่ปี'59 มีการปรับตัวโดยบางรายอาจหยุดพัฒนาโครงการระดับกลาง-ล่างโดยสิ้นเชิง บางรายก็ยังมีการเปิดตัวอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าสินค้าราคาต่ำ 3 ล้านบาท เป็นฐานพีระมิด มีสัดส่วน 50-60% ของตลาดรวม 3.5 แสนล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันสูง เพียงแต่ต้องระวังในเรื่องการกลั่นกรองลูกค้าให้มากขึ้น" นายประเสริฐกล่าว

คอนโดฯชานเมืองพ่นพิษ

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัญหาหนี้เสียภาคอสังหาฯที่สูงขึ้น เชื่อว่าเกิดจากกลุ่มคอนโดมิเนียมราคาต่ำ 2 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีทำเลในเขตชานเมืองและปลายสายรถไฟฟ้าสายใหม่ เช่น สายสีม่วง เตาปูนบางใหญ่ สายสีแดง ลูกค้ามีอาชีพอิสระ หรือพนักงานโรงงาน ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอาจประสบปัญหากำลังซื้อ บางส่วนเป็นกลุ่มนักลงทุนปล่อยเช่าที่คาดหวังนำค่าเช่าทดแทนค่าผ่อนแบงก์ เมื่อไม่สามารถปล่อยเช่าหรือขายก่อนโอนไม่ได้ ทำให้เป็นกลุ่มมีปัญหาหนี้เสีย

โดยคอนโดฯต่ำ 2 ล้าน มีจำนวนมาก บางทำเลมีโครงการขนาดใหญ่ซึ่งซัพพลายที่เป็นหนี้เสียอาจฉุดให้หนี้เสียโดยรวมเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่โครงการแนวราบมีปัญหาหนี้เสียน้อยกว่า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็น กลุ่มมนุษย์เงินเดือน พฤติกรรมซื้ออยู่เองมากกว่าปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร

"ถ้าเป็นไปได้ แบงก์ควรโฟกัสให้ชัดว่าสินค้าเซ็กเมนต์ไหน ทำเลใด ที่เกิดหนี้เสียขึ้นเพื่อใช้พิจารณาสินเชื่อครั้งต่อ ๆ ไป ที่ผ่านมาแบงก์มักมองตัวเลขภาพ รวมมากกว่า ทำให้มีความเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อทั้งระบบ กระทบลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ ด้วย" นายอธิปกล่า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

 

 

ข่าวบ้านมือสอง อื่นๆ