ปีระกา อสังหาฯร่วมทุน ทะยานไกลโมเดลวิน-วินเกม อนันดา แสนสิริ เอพี
เสียงจากดีเวลอปเปอร์หลายบริษัทเพ่งมองแนวโน้มปี 2560 ล้วนกล่าวตรงกันว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาถึงยุค ผ่านพ้นเรื่องของ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" เข้าสู่ช่วงที่ปลาใหญ่จะต้องวัดกำลังกันเอง การแข่งขันจึงยิ่งดุเดือดเป็นเงาตามตัว
คำตอบหนึ่งที่จะยิ่งเสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่งมากขึ้น จึงออกมาในรูปแบบของ "พันธมิตรธุรกิจ" จับมือร่วมทุนพัฒนาโครงการระยะยาวด้วยกัน เพราะการมีพันธมิตรที่ดี นอกจากเสริมจุดแข็งใหม่ ๆ ให้แก่กันและกันแล้ว มีข้อดีงบฯลงทุนหารครึ่งจึงเป็นตัวช่วยทำให้ขยายโครงการได้รวดเร็วเป็นทวีคูณ
ทั้งหมดนี้มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากบิ๊กแบรนด์ในวงการอย่างน้อย 3 ราย ประกอบด้วย บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และ บมจ.แสนสิริ โดยโมเดลร่วมทุนเริ่มตั้งแต่การจับคู่พาร์ตเนอร์ ลงทุนพัฒนาโครงการ จนถึงโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อ ทำให้ยอดการเปิดตัวพุ่งสูงและเริ่มสะท้อนกลับมาเป็นรายได้-กำไรเป็นกอบเป็นกำ
"อนันดาฯ-มิตซุยฯ" 5.7 หมื่นล้าน
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ค่าย "อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์" ประกาศแผนร่วมลงทุนกับ "มิตซุย ฟูโดซัง" บริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ในปี 2555 และเริ่มพัฒนาโครงการแรกปี 2556 ในโครงการไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน มูลค่า 6,500 ล้านบาท ก่อนจะระดมลงทุนคอนโดมิเนียมร่วมกัน
สถิติล่าสุดปี 2559 อนันดาฯ- มิตซุยฯ เปิดตัวคอนโดฯแล้ว 12 โครงการ มูลค่า 56,600 ล้านบาท ส่วน ปี 2560 แผนเบื้องต้นคาดว่าอนันดาฯจะเปิดคอนโดฯร่วมทุน 7 โครงการรวด
ทั้งนี้ ปลายปี'59 ที่ผ่านมา โครงการร่วมทุน แห่งแรก "ไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน" ได้เริ่มโอนกรรมสิทธิ์เป็นบางส่วน แต่จากแผนการรับรู้รายได้ของอนันดาฯจะเห็นได้ว่า ยอดโอน แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากโครงการร่วมทุนทั้งหลายเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ปี 2560 นี้เป็นต้นไป
โดยเป้าปีนี้ อนันดาฯ ประเมินสร้างรายได้จากบริษัทร่วมทุน 14,480 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของเป้ารายได้ ทั้งหมด
ควบคู่กันไปคือ แผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2561-2563) เส้นกราฟการเติบโตของ รายได้บริษัทร่วมทุนเพิ่มเป็น 3-3.6 หมื่นล้าน บาท ครองสัดส่วนเพิ่มเป็น 2 ใน 3 ของรายได้รวม สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกิจการ ร่วมทุนที่มีต่อรายได้รวมของอนันดาฯ
"โก้-ชานนท์ เรืองกฤตยา" ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า โปรเจ็กต์ ร่วมทุนทำให้ได้รับองค์ความรู้ด้านอสังหาฯ จากมิตซุย ฟูโดซัง ที่ก่อตั้งมากว่า 340 ปี และเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งด้านการเงิน สอดคล้องกับ "อะกิฮิโก ฟูนาโอกะ" กรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด บอกว่า การมาลงทุนในประเทศไทยถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เหตุผลที่จับมือกับอนันดาฯ เพราะเป็นบริษัทที่มีกลยุทธ์การเลือกทำเล แผนการตลาด และการออกแบบจนติดทำเนียบผู้นำตลาด
เอพี-มิตซูบิชิ 4.7 หมื่นล้าน
ฟาก "เฮียตี๋-อนุพงษ์ อัศวโภคิน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ล่าสุดแถลงเปิดบริษัทร่วมทุนกับ มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป ในนามบริษัท พรีเมียม เรสซิเดนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 6,100 ล้านบาท หลังจากชิมลางกอดคอร่วมกันพัฒนาโครงการได้ 3 ปี จากจุดเริ่มต้นปี 2557 วันนี้พวกเขาเปิดตัวแล้ว 8 โครงการ มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท สำหรับปี 2560 เตรียมเปิดตัวใหม่ 3 โครงการ เบ็ดเสร็จกิจการร่วมทุนจะมี 11 โครงการ มูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท
โดยเอพีมองภาพความสำเร็จจากสถิติยอดขาย 85% ของยูนิตโครงการร่วมทุนทั้งหมด และ 4 โครงการแรก มูลค่ารวม 10,900 ล้านบาท เริ่มโอนกรรมสิทธิ์แล้วเมื่อไตรมาส 4/59
"การเลือกพันธมิตรต้องมีทั้งเขาให้เราและเราให้เขา 3 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่นำเงินมารวมกัน แต่เราให้องค์ความรู้ด้านตลาดอสังหาฯไทย ทางญี่ปุ่นก็ให้เรื่องนวัตกรรม ต่อจากนี้การพัฒนาคอนโดฯของเอพี จะลงทุนผ่านบริษัทเจวี (จอยต์เวนเจอร์) มากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาจจะทั้งหมดของแผนธุรกิจ โดยจะส่งโปรเจ็กต์ให้มิตซูบิชิ เอสเตท พิจารณาก่อน หากมีความเห็นไม่ตรงกัน เอพีจะลงทุนเองทั้งหมด" นายอนุพงษ์กล่าว
นั่นหมายความว่า บริษัทร่วมทุนเป็นส่วนสำคัญยิ่งของเอพี เนื่องจากพอร์ตสินค้าต้องการบาลานซ์พอร์ตโครงการแนวราบ-แนวสูง สัดส่วน 50 : 50 คอนโดฯร่วมทุนถือเป็น ครึ่งหนึ่งของรายได้รวม
ไทยจับมือไทยไปเมืองนอก
อีกหนึ่งบริษัทมาแรงในการร่วมทุน "บมจ.แสนสิริ-บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์" อาศัยจุดแข็งทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันพัฒนาโครงการจากปี 2557 จนถึงปัจจุบันเปิดตัวแล้ว 8 โครงการ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดย 4 ใน 8 โครงการ ปิดการขายได้ในช่วงพรีเซล รวมทั้งบีทีเอส-แสนสิริเริ่มโอนกรรมสิทธิ์โครงการแรก "เดอะ ไลน์ สุขุมวิท 71" ตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 59 มียอดโอน 60%
เป้าหมายที่ไม่หยุดยั้งของแผนลงทุนปี'60 วางเป้าระดมเปิดอีกอย่างน้อย 5 โครงการ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นการเดินตามโรดแมปเป้าระยะยาวที่เคยประกาศเปิดตัวโครงการรวม 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2562
"เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน" กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ค่ายแสนสิริ กล่าวเสมอว่า การมีบีทีเอสเป็นพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งสำคัญมากในกระบวนการขาย เพราะแสนสิริวางกลยุทธ์บุกขายห้องชุดให้กับลูกค้าต่างชาติ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน งานนี้ต้องอาศัยชื่อเสียง ของมังกรบีทีเอส "เสี่ยคีรี กาญจนพาสน์"ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในการกรุยทางเปิดตลาด ปัจจุบันผู้ซื้อต่างชาติมีสัดส่วนเป็นนัยสำคัญ บางโครงการ เช่น เดอะ ไลน์ สุขุมวิท 71 มีผู้ซื้อ ต่างชาติถึง 48%
ในขณะที่บีทีเอสได้รับจากแสนสิริ คือ การมีพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจที่อยู่อาศัย ช่วยให้บีทีเอสแตกไลน์ธุรกิจได้สำเร็จง่ายขึ้น
โมเดลธุรกิจร่วมทุนจึงเป็นเมกะเทรนด์ธุรกิจอสังหาฯปีระกา ที่ต้องการตัวช่วยไปสู่ความสำเร็จแบบวิน-วินเกม ไม่มีใครแพ้ มีแต่คนชนะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ