อสังหา ใหญ่ฟัดใหญ่ ทุกบริษัทชูกลยุทธ์นวัตกรรม-ดีไซน์ดูดลูกค้า
ในภาวะที่สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ผู้ที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดได้อย่างแข็งแรงก็หนีไม่พ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ที่ปัจจุบันเริ่มเห็นความชัดเจนของการครอบครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันในตลาดจะเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายใหญ่
นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ฉายภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2560 การแข่งขันจะรุนแรง ในแต่ละกลุ่มสินค้ามีสินค้าคงเหลือในตลาดจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน ปีนี้เป็นปีที่พิสูจน์ฝีมือจริงๆ ว่ามีข้อมูลตลาดแค่ไหน ความแข็งแกร่งทางด้านการเงินเป็นอย่างไร พัฒนาสินค้าเป็นอย่างไร ดังนั้นทุกคนต้องมุ่งไปสู่นวัตกรรมและดีไซน์ ต้องหาจุดขายของตัวเองให้ได้ ไม่ใช่จุดขายที่เป็นเพียงแค่กิมมิกทางการตลาดเท่านั้น แต่ต้องเป็นจุดขายจริงๆ จากนี้ไปลูกค้าฉลาด
"ธุรกิจอสังหาฯในวันนี้ถึงจุดที่สนุกจุดหนึ่งในชีวิตที่ทำมา 25 ปี เป็นเวลาที่รายใหญ่ฟาดฟันกันอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่รายใหญ่ฟาดรายเล็ก ดังนั้นเราจึงต้องพยายามกระจายสินค้า ถ้าเรายึดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พื้นที่นั้นก็มีสิทธิ์ที่คนอื่นจะมาได้เหมือนกัน ดังนั้นในปีนี้เราจึงมีทั้งแนวราบที่ขยายและแนวสูงที่ต้องโต แต่เราจะพยายามรักษาสัดส่วนรายได้ทุกปีให้อยู่ที่ประมาณ 50:50 ซึ่งถ้าไม่รักษาสมดุลของพอร์ตแบบนี้เราก็จะเหนื่อย"
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ในวันนี้ยังไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่าจะเป็นอย่างไร บางคนบอกดีขึ้น บางคนบอกไม่ดี ในส่วนของประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ทุนสำรองยังดี
เรื่องของความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงิน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี หากมองย้อนกลับไปในปี 2540 ที่สถาบันการเงินไม่มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อย เมื่อตลาดประสบปัญหาไม่สามารถหาสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยได้แย่มากกว่า
ถ้าผู้ประกอบการไม่มีสินเชื่อรายย่อยก็จะลำบาก สถาบันการเงินหยุดปล่อยสินเชื่อรายย่อยผู้ประกอบการก็แย่ ปัจจัยอะไรที่จะทำให้สถาบันการเงินหยุดปล่อยสินเชื่อรายย่อยคือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มาจากสินเชื่อรายย่อย และ NPL ก็จะมาจากการที่สถาบันการเงินไม่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจสถาบันการเงินที่ต้องระมัดระวังเรื่องของ NPL ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่สถาบันการเงินต้องระวัง
ยอดปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทเอพีฯอยู่ที่ประมาณ 10% กลุ่มที่ถูกปฏิเสธสูงสุดคือกลุ่มอาชีพอิสระและกลุ่มที่มีบัตรเครดิตหลายใบและใช้วงเงินเต็มทุกบัตร ซึ่งหนี้ในกลุ่มนี้จะตัดกำลังซื้อของตัวเองลง ส่วนใหญ่ผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะซื้อสินค้าในระดับกลาง-ล่างลงไประดับราคา ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าในกลุ่มนี้ไม่มาก
สิ่งที่บริษัทพยายามทำคือการสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้า พร้อมกับแนะนำวิธีการต่างๆเช่นช่วยปรับพฤติกรรมด้านการเงินของลูกค้า แต่จะไม่ช่วยลูกค้าในทางที่ผิด โดยการปรับแต่งบัญชีเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ เพราะสุดท้ายถ้าลูกค้าเป็น NPL ก็จะประวัติผลเสียของบริษัท อนาคตส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินในอนาคต
ในปี 2560 บริษัทจะเดินเกมด้วยกลยุทธ์ "คิดและสร้างความแตกต่าง" (AP THINK DIFFERENT) เน้นย้ำจุดแข็งของเอพีในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่อยู่อาศัยคุณภาพ โดดเด่นด้วยดีไซน์และการจัดสรรพื้นที่ใช้สอย รวมถึงวิสัยทัศน์ในการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรคุณภาพสู่วงการอสังหาฯไทย ผ่าน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ คุณภาพ ที่เอพีมีเครื่องมือสำคัญอย่าง Check List ที่มีการพัฒนาเน้นไปที่ Process และ Template ที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น รวมถึงสอดรับกับเทคโนโลยีการอยู่อาศัยแบบ Intelligent Living ที่เอพีเริ่มนำร่องไปแล้วในหลายโครงการ
การออกแบบสเปซที่เอพีให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยในทุกตารางนิ้ว โดยคำนึงถึงดีไซน์ที่สวยควบคู่ไปกับความสะดวกสบาย ประโยชน์ใช้สอย และความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย และการพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นของเอพีในการทำงานเพื่อพัฒนาบุคลากรคุณภาพสู่วงการอสังหาฯ รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้สู่สังคมไทย โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านเอพี อะคาเดมี่ สถาบันเพื่อการเรียนรู้ครบวงจรด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกในเมืองไทย โดยในปีนี้เอพีได้พัฒนาหลักสูตรและเครื่องมือการเรียนรู้ให้หลากหลายและเจาะลึกมากยิ่งขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ