10ปัจจัยเขย่าอสังหาฯปี 60
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกหรือต้องปรับ รูปแบบการดำเนินงาน
สรุเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเริ่มเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้างแล้วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นได้ชัดนั้นมี 10 ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง ได้แก่ 1.ความเชื่อมั่นของคนไทยเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและมีปัจจัยลบหลายอย่างที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของคน ทำให้การใช้จ่ายลดลงมีผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม 2.การออกแบบน่าสนใจมากขึ้น จะเห็นได้ว่าโครงการที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และโครงการประเภทอื่นๆ มีการออกแบบที่ทันสมัย รูปแบบแปลกตา และมีการใช้บริการนักออกแบบระดับโลกมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความแตกต่างและน่าสนใจในตลาด
3.ประสบการณ์เป็นจุดขายใหม่ เนื่องด้วยรูปแบบอาคารและบริการที่อาจจะไม่แตกต่างกันมากนักหลายๆโครงการทั้งที่อยู่อาศัย ค้าปลีก โรงแรม หรือการบริการรูปแบบต่างๆ พยายามสร้างความน่าสนใจด้วยความแตกต่างและประทับใจให้กับลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีน่าประทับใจ 4.เป็นช่วงเวลาของผู้ประกอบการรายใหญ่ หลายปีที่ผ่านมาน่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ครองความเป็นเจ้าตลาดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท และยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีกเมื่อมีการควบรวมกิจการ ร่วมมือกันและกันของรายใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทใหญ่ยังมีช่องทางในการระดมทุนมากกว่ารวมไปถึงมีเครดิตสูงกว่าในการขอสินเชื่อ
5.เทคโนโลยีในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการหลายรายพยายามเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้มากขึ้น โดยการร่วมมือหรือตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าตั้งแต่ก่อนที่จะซื้อไปจนถึงบริการหลังการขาย 6.ตลาดที่อยู่อาศัยลักซ์ชัวรี่ โครงการ ที่อยู่อาศัยในช่วง 2-3 ปีมีโครงการราคาแพงเปิดขายมากขึ้นแม้จะยังไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวมแต่ก็สร้างความฮือฮาได้ โดยเฉพาะในทำเลเมืองชั้นใน 7.สำนักงานเกรดเอเท่านั้น ตลาดอาคารสำนักงานมีพื้นที่เหลือน้อยลงทุกปีโดยเฉพาะเกรดเอในย่านซีบีดี
8.ศูนย์การค้าขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการศูนย์การขยายใหญ่นั้นมีสายป่านในการลงทุนยาวกว่าผู้ประกอบการขนาดเล็ก 9.ธนาคารเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะผู้มีรายได้ ต่ำกว่า 4 หมื่นบาท/เดือน 10.การ ลงทุนภาครัฐถ้าดำเนินการได้ตามแผนจะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์