บ้านเพื่อผู้สูงอายุ ตลาดที่มองข้ามไม่ได้แล้ว
จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนอยู่เป็นโสดมากขึ้นทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรไทยลดลงจาก 2.7% ในปี 2513 เหลือ 0.4% ในปี 2558 หากปล่อยไปเช่นนี้ภายใน 10 ปี อัตราการเพิ่มประชากรไทยจะเท่ากับ 0 ขณะที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ดีขึ้นทำให้อัตราการตายลดลงผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเมื่อปี 2558 และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2573
ผลจากอัตราการเกิดและการตายที่ลดลงกระตุ้นให้ตลาดสำหรับผู้สูงวัยอาจมีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าหลายบริษัทเริ่มขยับจับตลาดผู้สูงอายุกันมาแล้วก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ได้รุกอย่างจริงจังมากนัก ถึงวันนี้คงต้องเพิ่มความสำคัญกับตลาดนี้ให้มากยิ่งขึ้นตามทิศทางของกำลังซื้อในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป
อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ตลาดบ้านสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเป็นลำดับจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลกที่จำนวนผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้คนมีอายุยืนยาวยิ่งขึ้น ซึ่งการอยู่อาศัยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การออกแบบ ที่อยู่อาศัยแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮ้าส์ จะคำนึงถึงสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น โดยการออกแบบห้องนอนด้านล่างให้กับผู้สูงวัย ซึ่งกลายเป็นแบบที่บริษัทพัฒนาที่ดินส่วนใหญ่คำนึงถึงจนห้องนอนชั้นล่างกลายเป็นแบบมาตรฐานที่ทุกบ้านควรต้องมี และเริ่มมีการพัฒนาไปจนมีลิฟต์สำหรับให้ผู้สูงอายุขึ้นชั้น 2 แต่ต้นทุนยังไม่เหมาะสำหรับบ้านในระดับกลาง
"การพัฒนาบ้านสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นของการออกแบบบ้าน เพื่อให้สมาชิกที่เป็นผู้สูงวัย ได้อยู่อย่างสะดวกสบาย ห้องนอนในชั้นล่างจึงตอบโจทย์ ซึ่ง หลังจากที่บริษัทออกแบบบ้านสำหรับคน 3 เจนเนอเรชั่น โดยมีห้องนอนผู้สูงอายุไว้ด้านล่างก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยจากการสำรวจห้องนอนด้านล้างมีการใช้ประโยชน์ถึง 70% แม้ว่าจะไม่ได้จัดไว้เป็นห้องสำหรับผู้สูงอายุทั้งหมดก็ตาม" อิสระ ให้ความเห็น
สำหรับทิศทางในอนาคต การออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุในโครงการบ้านจัดสรรจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปจะต้องมีการออกแบบให้กับผู้สูงวัยที่เริ่มพึ่งพาตัวเองไม่ได้ และถึงขั้นออกแบบให้กับผู้สูงวัยที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการให้บริการกับผู้สูงวัยประกอบไปด้วย ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้น อาจจะต้องมีการแยกเฟสโครงการอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในช่วงเวลานี้ ถือว่ายังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะหากชูเป็นจุดขายที่ชัดเจนอาจจะกลายเป็นการตลาดเชิงลบ เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นบ้านสำหรับคนแก่ และทำให้คนกลุ่มอื่นไม่สนใจ แต่หากเป็นการทำตลาดในลักษณะการเพิ่มออปชั่นสำหรับครอบครัว ผู้สูงอายุ ก็ถือว่าเป็นจุดขายสำหรับคนที่ซื้อเป็นครอบครัวใหญ่
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับผู้บริหารบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ ที่เคยพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ที่พัทยา ส่วนหนึ่งรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าที่ควร โดยยอมรับว่า ประเด็นสำคัญคือ คนเรามักจะไม่ยอมรับว่าตัวเองแก่ จนต้องเปลี่ยนแนวคิดเป็นชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัยแทน
อย่างไรก็ตาม อิสระ มองว่า เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งโครงการสำหรับผู้สูงอายุ จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในแง่ของการ ทำตลาด และที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นผู้ซื้อตัว จริง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินออม และสะสมทรัพย์สินมาพอสมควร จึงมักจะเป็นคนออกเงินซื้อให้ลูก-หลาน หรืออย่างน้อยก็เป็นคนออกเงินส่วนหนึ่งให้ลูก-หลานซื้อได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็น กลุ่มที่รัฐบาลให้การสนับสนุน จึงมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มดังกล่าวรวมถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยกรมธนารักษ์ได้ร่วมลงนามมหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการทำโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ พื้นที่ ราชพัสดุ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พื้นที่ 72 ไร่ แบ่งเป็น 3 โซน โซนแรกเป็นห้องชุดขนาด 30-55 ตารางเมตร สร้างเป็น ที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ 1,000 ยูนิต คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี จึงแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ จะดำเนินโครงการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในอีก 4 พื้นที่ คือ ชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ ส่วนการเคหะแห่งชาติ ยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการนำร่องบ้านผู้สูงอายุภายใต้ชื่อบ้านกตัญญูด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามความเปลี่ยนแปลงของประชากร และเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการจะมองข้ามไปไม่ได้นับจากนี้เป็นต้นไป
มาตรฐานบ้านผู้สูงอายุ
บ้านสหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตนเองได้บางส่วนในกิจวัตรประจวัน และไม่มีความจเป็นต้องได้รับการพยาบาล
* ที่ตั้ง เข้าถึงแหล่งชุมชนและสถานพยาบาลได้สะดวก
* อาคารที่สูงเกิน 2 ชั้นขึ้นไป ควรมีลิฟต์ ที่ผู้สูงอายุ ควบคุมได้ วีลแชร์หรือเปลพยาบาลเข้าออกได้
* ทางเดินในอาคารกว้าง 1.5 เมตรขึ้นไป ระดับพื้นผิว เสมอกัน
* มีบันไดและทางลาดเชื่อมระหว่างชั้น มีราวจับ ตลอดแนว
* ที่จอดรถใกล้ทางเข้าอาคาร เพื่อความสะดวกและ การส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน
* มีหน่วยบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงาน แจ้งเหตุ อนวยความสะดวก
* ห้องพักขนาดไม่น้อยกว่า 15 ตร.ม. วัสดุปูพื้นไม่ลื่น มีระดับพื้นเสมอกันทั้งภายในและทางเข้า
* ประตูแบบเปิดออกภายนอกหรือบานเลื่อน กว้างไม่ต่กว่า 90 ซม.
* พื้นที่นอนติดสัญญาณแจ้งเหตุ และโทรศัพท์
* เฟอร์นิเจอร์ควรเป็นชนิดไม่มีแหลมมุมที่อาจเกิดอันตรายได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์