เตาปูนทำเลใหม่สยามสแควร์2 เชื่อมสายสีม่วงปลุกคอนโด
ปลดล็อกรถไฟฟ้าฟันหลอ คาดคนใช้เพิ่ม 15-20% เดือนสิงหาคมนี้ รัฐปรับค่าโดยสารใหม่ นั่งสีม่วงพ่วงใต้ดินตลอดสายจ่าย 70 บาท ผุดฟีดเดอร์ไทรน้อย สนามบินน้ำ ห้าแยกปากเกร็ด แคราย ตลิ่งชัน ป้อนคนเข้าสถานี บิ๊กอสังหาฯชี้ "เตาปูน-บางซื่อ" ทำเลสยามสแควร์ 2 ในอนาคต ออฟฟิศ คอนโดฯ โรงพยาบาล จ่อลงทุน
นายกสมาคมคอนโดฯฟันธงใช้เวลา 2 ปี ระบายสต๊อกสายสีม่วงหมด 2 หมื่นยูนิต
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังเซ็นจ้าง บมจ.ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถ 2 ปี วงเงิน 918 ล้านบาทเมื่อ 16 ก.พ.เพื่อแก้ปัญหารถไฟฟ้าขาดช่วง 1 สถานีที่เชื่อมสถานี เตาปูน สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) กับสถานีบางซื่อ สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพงบางซื่อ) จะเปิดบริการในวันที่ 12 ส.ค.อย่างเป็นทางการ
คาดคนใช้เพิ่ม 20%
"เมื่อเชื่อม 1 สถานีแล้ว ผู้ใช้บริการสามารถถือบัตรใบเดียวนั่งรถไฟฟ้าได้ 2 สาย จ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวที่ต้นทาง ถ้านั่งสายสีม่วงจากคลองบางไผ่ไปสุดสายที่สถานีหัวลำโพง ค่าโดยสาร 70 บาท คาดว่าผู้โดยสาร สายสีม่วงจะเพิ่ม 15-20% จาก 2.5 หมื่นเที่ยวคน/วัน เป็น 3 หมื่นเที่ยวคน/วัน ถึงสิ้นปีจะอยู่ที่ 6 หมื่นเที่ยวคน/วัน"
เพิ่มฟีดเดอร์ดึงคน
พร้อมจัดรถโดยสารฟรี รับ-ส่งคนตามแนวรถไฟฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น แยกไทรน้อย สนามบินน้ำ ห้าแยกปากเกร็ด แคราย ตลิ่งชัน อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษา เส้นทางที่เหมาะสม อีก 2-3 เดือนสรุป ตั้งเป้าเปิดใช้พร้อมกับ 1 สถานี ในเดือน ส.ค.นี้
อีกทั้งทบทวนค่าโดยสารจาก 14-42 บาท ลดเหลือ 14-29 บาท ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2559 คืบหน้าในเดือน มี.ค.-ส.ค.นี้ วันหยุดคิดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และเตรียมออกบัตรโดยสารรูปแบบใหม่ให้หลากหลาย อาทิ บัตรรายเดือน บัตรประเภทจำกัดเที่ยว เป็นต้น รวมถึงร่วมกับผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมจัดโปรโมชั่นร่วมกัน
"สายสีม่วงและน้ำเงินเปิดไม่พร้อมกัน ทำให้เสียโอกาสมาก ถือเป็นบทเรียนสำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ที่ต้องไม่เกิดซ้ำอีก" ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวย้ำ
ค่าเดินทางพุ่งพรวด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเชื่อมต่อ 1 สถานี สายสีม่วงกับสีน้ำเงินมีผลทำให้ค่าเดินทางเพิ่มขึ้น ค่าโดยสารตลอดสายหากนั่งสีม่วงกับรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่ที่ 70 บาท/เที่ยวคน/วัน ไป-กลับค่าใช้จ่าย 140 บาท/วัน หรือ 4,200 บาท/เดือน (คำนวณ 30 วัน) ไม่รวม ค่าต่อเชื่อมกับบีทีเอสที่เก็บค่าโดยสาร 15-62 บาท (รวมต่อขยายไปแบริ่ง-บางหว้า) เท่ากับมีค่าใช้จ่าย 124 บาท/วัน และ 3,720 บาท/เดือน
ปัจจุบัน รฟม.มีโปรฯลดค่าโดยสาร สายสีม่วงเหลือ 14-29 บาท หากนั่งสุดสายถึงสถานีหัวลำโพงอยู่ที่ 57 บาท/เที่ยวคน/วัน ไป-กลับวันละ 114 บาท หรือ 3,420 บาท/เดือน (คำนวณ 30 วัน)
ขณะที่ระบบตั๋วร่วมแมงมุมที่รัฐกำลังผลักดันใช้บริการเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชนไม่ได้ตอบโจทย์เสียทีเดียว เพราะถึงแม้บัตรโดยสารใช้บริการร่วมกับรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ บีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีม่วงมีค่าโดยสาร และค่าแรกเข้า แต่ละสายคงราคาเดิม เพียงแต่เป็นบัตรที่ทำให้การเดินทางต่อเชื่อมรถไฟฟ้าสะดวกขึ้น ด้วยบัตรใบเดียว
ท่วม 5 หมื่นยูนิต
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาฟันหลอ 1 สถานี ของสายสีม่วง หลังแก้ปัญหาแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์จากการใช้แมสทรานสิตครบลูป แต่ผลบวกกับธุรกิจอสังหาฯนั้นยังไม่เห็นผลชัด
เพราะที่ผ่านมาเปิดตัวคอนโดฯจนทำให้ซัพพลายล้น ตั้งแต่โซนบางซื่อที่มีสถานี อินเตอร์เชนจ์เป็นจุดหลักจนถึงสถานีบางใหญ่ มีห้องชุดโอนแล้วและอยู่ระหว่างขายรวมกันถึง 50,000 ยูนิต ซึ่งการซื้อขายนิ่ง เกือบ 1 ปีมาแล้ว มีตัวชี้วัดจากโครงการลุมพินีเพลส ห่างสถานีรัตนาธิเบศร์ 80 เมตร เหลือเพียง 50 ยูนิต แต่ไม่สามารถปิดการขายได้จนถึงตอนนี้
ประเมินกำลังซื้อโซนรัตนาธิเบศร์ ราคา 1.2-1.3 ล้านบาท ยังไปได้สำหรับคนในพื้นที่ แต่ถ้าขยับเป็น 1.7-1.8 ล้านบาท กำลังซื้อเริ่มอืด ต้องอาศัยกำลังซื้อจากคนนอกพื้นที่ที่ได้ประโยชน์จากรถไฟฟ้า กับลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่า
LPN ลุยยูนิตละ 8 แสน
ทั้งนี้ การชูจุดขายซื้อลงทุนปล่อยเช่ามีประเด็นต้องพิจารณา คือมีดีมานด์เช่าห้องเพียงพอกับซัพพลายที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่หรือไม่ ยกตัวอย่าง โครงการลุมพินีเพลส รัตนาธิเบศร์ 2,000 ห้อง อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามาก ทำให้มีการซื้อลงทุนให้เช่าสูง 40-50% เท่าที่ทราบมีซัพพลายรอผู้เช่าในโครงการ 400 ห้องในขณะนี้
"ลุมพินีเพลส รัตนาธิเบศร์ ห้องเล็กราคา 1.2-1.3 ล้านขายหมดแล้ว ขณะที่ราคาใกล้ 2 ตัวตลาดไม่ขยับ จึงเห็นข้อสรุปว่าเรียลดีมานด์คนในพื้นที่หรือคนในโซนกรุงเทพฯตะวันตกน่าจะไม่เกิน 1.5 ล้าน LPN มีที่ดินอีกแปลงทำเลใกล้สถานีพระนั่งเกล้า เตรียมเปิดตัวแบรนด์ลุมพินีวิลล์ต้น มี.ค.นี้ ปกติราคาเริ่ม 5-6 หมื่นบาท/ตร.ม. แต่รีโมเดลแผนธุรกิจโดยมีราคาเริ่มต้น ตร.ม.ละ 4.5 หมื่นบาท ถูกที่สุด ในแนวเส้นทางสายสีม่วง หรือเริ่มต้นห้องละ 8 แสนเศษ มีประมาณ 100 ยูนิต จากทั้งหมด 1,000 ยูนิต"
"โครงการที่จะเปิดตัวใหม่ไม่หวังผลปิดการขายเร็ว ตั้งเป้ายอดขาย 500 ยูนิต ในช่วงเปิดพรีเซล ถือว่าดีแล้ว ล่าสุดที่สำนักงานขายมีลูกค้าลงทะเบียน 250 ราย คาดว่าจองซื้อจริง"
แสนสิรี-บีทีเอสลุยวงศ์สว่าง
นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาคอนโดมิเนียม บมจ.แสนสิริ กล่าวว่า มีแผนร่วมกับบีทีเอส ลงทุนในทำเลสถานีวงศ์สว่าง เป็นคอนโดฯ สร้างเสร็จก่อนขายมูลค่า 1 พันล้านบาท อยู่ระหว่างเลือกแบรนด์ ถ้าสรุปได้เร็วจะเปิดขายปีนี้
นายณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารการพัฒนาธุรกิจพักอาศัย บมจ.สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า บริษัทมีที่ดิน 2 แปลงแนวสายสีม่วง แต่ยังไม่มีแผนลงทุน ขอรอประเมินภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง แบ่งเป็นที่ดิน 8 ไร่ ใกล้เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ สามารถพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสมีคอนโดฯ สำนักงาน ไลฟ์สไตล์มอลล์ในโครงการเดียวกัน อีกแปลง 4 ไร่ ติดสถานีบางรักใหญ่ มีศักยภาพทำคอนโดฯไฮไรส์ 30-40 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 30 ตร.ม.
สัมมากรบ่น "กู้ไม่ผ่าน"
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.สัมมากร กล่าวว่า ยังอีกนานที่จะเปิดใช้ ขอรอประเมินก่อนว่าเป็นตัวช่วยเพิ่มดีมานด์ให้อสังหาฯได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันมีห้องชุดแบรนด์ เอส เก้า สร้างเสร็จพร้อมอยู่ ยอดขายขยับจาก 40% เป็น 50% แล้ว เพราะปัญหากู้ไม่ผ่าน รุนแรงกว่าการเดินทางสะดุด 1 สถานี
สอดคล้องกับ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทยที่กล่าวว่า ปัญหา สายสีม่วงมียอดปฏิเสธสินเชื่อสูง เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวด แล้วคอนโดฯชานเมืองราคาซื้อขายต่างจากทำเลในเมือง ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่า ราคาขยับได้ไม่มาก แต่ดีมานด์ยังสูงช่วงบางใหญ่ มีห้างเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต เปิดบริการ ส่วนเตาปูน บางซื่อคึกคักมาก เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ
รอขาย 2 หมื่นยูนิต
คิดว่าการเปิดใช้ 1 สถานีในเดือน ส.ค. จะช่วยปลุกกำลังซื้อคอนโดฯแนวสายสีม่วงได้ระดับหนึ่ง โดยมีซัพพลายเหลือถึง 1-2 หมื่นยูนิต ราคา 1-2 ล้านบาท ต้องใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะดูดซัพพลายได้หมด
"ผู้ประกอบการปรับตัวกันไปแล้วโดย ลดเปิดโครงการใหม่ แล้วเร่งระบายของเก่า ต้องรอดูบรรยากกาศหลังเดือน ส.ค.อีกครั้ง เพราะมีค่าใช้จ่ายเดินทางเป็นภาระเพิ่มจากค่าผ่อนคอนโดฯ" นายประเสริฐกล่าว
นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาธุรกิจ บมจ.พร็อพ เพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดเผยว่า คงช่วยระบายสต๊อกได้เพียงเล็กน้อย เพราะแนวโน้มไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น
ชี้พลิกโฉมทำเล
นายสิริพงศ์ ศรีสว่างวงศ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจุดเชื่อมต่อเป็นสิ่งสำคัญ เพราะประชาชนจะได้รับความสะดวก
โดยเฉพาะช่วง 2-3 สถานีต้นทางจากบางซื่อ ได้แก่ บางซื่อ เตาปูน บางซ่อน กระทรวงสาธารณสุขนั้นจะได้รับอานิสงส์มาก ถือเป็นจุดเปลี่ยนทำเลคือ จะเป็นสยาม สแควร์ 2 ในอนาคต เพราะมีชุมชนเป็นดีมานด์หลัก
ประกอบกับมีเมกะโปรเจ็กต์ทั้งทางด่วนสายใหม่ มีเซ็นเตอร์สเตชั่นบางซื่อ และจุดเชื่อม กับรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีบางซ่อน
ซึ่งบริษัทมีคอนโดฯ อยู่ใกล้สถานีบางซื่อ มูลค่า 1,600 ล้านบาท ภาวะการขายค่อนข้าง นิ่งมา 1 ปีแล้ว
เมื่อรัฐบาลเข้ามาเร่งรัด โดยใช้ ม.44 บังคับให้เร่งแก้ปัญหาเพื่อเชื่อมต่อ 1 สถานี ตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว กระตุ้นให้ยอดขาย ดีขึ้น จากสต๊อกรอขายมูลค่า 500-600 ล้านบาท เหลือ 450 ล้านบาท จึงคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ น่าจะปิดการขายโครงการได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ