สิ้นสุดการรอคอยประตูสู่เมืองปากน้ำ รถไฟฟ้า แบริ่ง-สำโรง
Loading

สิ้นสุดการรอคอยประตูสู่เมืองปากน้ำ รถไฟฟ้า แบริ่ง-สำโรง

วันที่ : 16 มีนาคม 2560
สิ้นสุดการรอคอยประตูสู่เมืองปากน้ำ รถไฟฟ้า แบริ่ง-สำโรง

        เป็นการรอคอยที่ถึงจุดสิ้นสุดสำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สำโรง หลังผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ประกาศเตรียมเปิดหวูดให้บริการวันที่ 3 เมษายนนี้

          กว่าจะผ่านปมร้อนระหว่าง กทม.และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในประเด็นค่าใช้จ่ายค่าก่อสร้าง ทำให้ระหว่างนั้นมีคำถามสะท้อนออกมาจากประชาชน จากการไม่ลงรอยระหว่างหน่วยงานรัฐ ถึงกระแสข่าวที่ออกมาในช่วงแรกจะเลื่อนกำหนดการเดินรถจากเดือนมีนาคมในเส้นทางนี้ออกไปไม่มีกำหนด แต่ "แรงกดดัน" ของประชาชนและท่าทีถอยคนละก้าวของหน่วยงาน ทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ถึงทางออกในที่สุด

          หากย้อนที่มาของโครงการ เริ่มที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เห็นชอบในหลักการให้ กทม.เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่คูคต และส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2559 กทม. รฟม. และกระทรวงการคมนาคม ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยแนวทางการดำเนินงานตามมติ คจร.วันที่ 10 มิถุนายน 2558 เรื่องการมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

          จากนั้นวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 กทม.ได้มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะวิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้บริหาร จัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ รวมทั้งจัดการติดตั้งระบบการเดินรถ ประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และระบบการสื่อสาร ถือเป็นตรายางส่งมอบ "หน้าที่" ให้ กทม.ดูแลรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วงอย่างสมบูรณ์

          กทม.เชื่อว่า เมื่อการบริหารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ อยู่ภายใต้สิทธิบริหารจัดการทั้งหมด จะเป็นโอกาสทองการจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสาร เพราะเห็นอนาคตว่า โครงการเชื่อมต่อจากเส้นทาง "สายสุขุมวิท" ที่มีอยู่เดิม ตามสัญญากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี จะหมดสัญญากับ กทม.ในปี 2572 จะทำให้ กทม.เข้าบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของระบบการเดินทางขนส่ง ผ่าใจกลางกรุงเทพฯเหนือถึงใต้ได้ทั้งหมด

          สำหรับเส้นทางแบริ่ง-สำโรง จะเป็นหนึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะทยอยเปิดใช้งานในปี 2559-2565 จากเดิมรถไฟสาย "สีม่วง" ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เปิดให้บริการไปแล้ววันที่ 6 สิงหาคม 2559 ส่วนในเดือนสิงหาคม 2560 จะเปิดเดินรถอีก 1 สถานี ที่เชื่อมสถานีบางซื่อเตาปูน ปี 2561 เปิดให้บริการสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ทั้งระบบ ปี 2562 เปิดบริการสาย "สีเขียว" ช่วงหมอชิต-คูคต รวมทั้งสาย "สีน้ำเงิน" ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ปี 2563 เปิดบริการสาย "สีแดง" ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก สาย "สีชมพู" ช่วงแคราย-มีนบุรี สาย "สีเหลือง" ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสาย "สีเขียว" ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงคูคตลำลูกกา ปี 2564 เปิดบริการสาย "สีน้ำเงิน" ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ก่อนจะ "ปิดจ๊อบ" ในปี 2565 จะเปิดเดินรถสาย "สีม่วง" ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสาย "สีส้ม" ตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม

          ในแผนทดลองเดินรถไฟฟ้า ช่วงแบริ่งสำโรง กทม.จะเดินรถเสมือนจริงตั้งแต่ 15 มีนาคม-2 เมษายน 2560 โดยในระหว่างทดลองเดินรถจะทดสอบระบบการเดินรถไฟฟ้า การเตรียมรับสถานการณ์ ตั้งแต่เหตุเพลิงไหม้ รถไฟฟ้าเฉี่ยวชน โดยเฉพาะการตรวจพบวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่สถานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ซ้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบช่วงสถานีแบริ่ง-สำโรง ในวันที่ 3 เมษายน ซึ่งพล.ต.อ.อัศวิน กำลังจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี ที่สถานีสำโรง

          เมื่อเปิดใช้งานรถไฟฟ้าเส้นนี้ทั้งระบบในปลายปี 2561 จะเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนในการเดินทาง เพราะพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นทำเลโรงงานอุตสาหกรรม และผู้อยู่อาศัยหนาแน่นมาตลอดหลายสิบปี อย่างน้อยปัญหาจราจรที่สะสมแนวเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะเบาบางลงด้วยตัวเลือกระบบขนส่งมวลชน ซึ่งสถานีสำโรงจะเป็นอีกหนึ่งสถานี "อินเตอร์เชนจ์" รองรับการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลือง "ลาดพร้าวสำโรง" ในอนาคตด้วยเช่นกัน

          ทั้งหมดจึงเป็นความหวังของประชาชนด้วยระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯเชื่อมปริมณฑล ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ขีดเส้นใต้สามเส้นไปที่ "ความสมดุล" ของค่าโดยสาร และคุณภาพการให้บริการที่ตรงต่อเวลา เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนคนใช้บริการนั่นเอง

          9 สถานีเปิดพื้นที่ทำเลทอง

          โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสาย สีเขียว ช่วงแบริ่งะสมุทรปราการ ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลสำโรงเหนือ เทศบาลนครสมุทรปราการ และเทศบาลตำบลบางปู ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร มีจำนวน 9 สถานี ประกอบด้วย

          1.สถานีสำโรง (E15) ตั้งอยู่ระหว่างสะพานข้ามคลองสำโรงกับแยกเทพารักษ์

          2.สถานีปู่เจ้าสมิงพราย (E16) ตั้งอยู่บริเวณถนนซอยสุขุมวิท 115

          3.สถานีพิพิธภัณฑ์เอราวัณ (E17) ตั้งอยู่ บริเวณถนนสุขุมวิทซอย 7

          4.สถานีโรงเรียนนายเรือ (E18) ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนนายเรือ

          5.สถานีสมุทรปราการ (E19) ตั้งอยู่หน้าวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ

          6.สถานีศรีนครินทร์ (E20) ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองบางปิ้ง

          7.สถานีแพรกษา (E21) ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนสมุทรปราการ

          8.สถานีสายลวด (E22) ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 45

          9.สถานีเคหะสมุทรปราการ (E23) ตั้งอยู่ บริเวณซอยเทศบาลบางปู 50

          มีศูนย์ซ่อมบำรุงพื้นที่ 123 ไร่ หลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง และมีอาคารจอดแล้วจร บริเวณสถานีปลายทางเคหะสมุทรปราการ เนื้อที่ 18 ไร่ สามารถจอดรถได้ 1,200 คัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก