เอสเอ็มอีอสังหาฯร่วมสู้วิกฤติ
Loading

เอสเอ็มอีอสังหาฯร่วมสู้วิกฤติ

วันที่ : 22 กรกฎาคม 2567
เอสเอ็มอี ระบุว่า วิกฤติที่เผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเผชิญมา และเทียบได้กับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถึงแม้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540 นั่น เพราะว่าปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน
   วอนทุกส่วนผ่าทางตัน-ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

    กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนขอความเห็นใจและเรียกร้องทุกภาคส่วนร่วมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสียงถึงรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน

    เพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เดินหน้าผ่านวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมและวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ได้รับผลกระทบมาเป็นระยะๆส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำและปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน(SupplyChain)ได้รับผลกระทบแบบโดมิโนจนอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก

    สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่รวมตัวกันในครั้งนี้ มีทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ออกแบบโรงงานวัสดุก่อสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการด้านการตกแต่งสถานที่ และการจัดสวนประกอบด้วยผู้ประกอบการระดับสตาร์ตอัพที่เปิดดำเนินกิจการมาไม่ถึง 10 ปีไปจนถึงกลุ่มเอสเอ็มอี และโรงงานที่ดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 60 ปี มีพนักงานสูงถึงระดับ 500 คน

     โดยกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ระบุว่า วิกฤติที่เผชิญอยู่ในขณะนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเผชิญมา และเทียบได้กับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถึงแม้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะมองดูผิวเผินไม่ได้รุนแรงเท่าปี 2540 นั่น เพราะว่าปี 2540 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มองเห็นความเสียหายได้ชัดเจน แต่ในวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มชัดเจนในช่วงโควิด-19 และในครั้งนั้นผู้ประกอบการได้ปรับตัวรอบใหญ่ไปแล้ว ทั้งการปรับโครงสร้างพนักงาน การปรับลดสวัสดิการ ลดเวลาการทำงาน การขยายฐานลูกค้าใหม่ อย่างไรก็ตาม ภาระเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคารที่กู้ยืมในช่วงโควิด-19 ยังคงส่งผลให้การเงินในปัจจุบันมีความฝืดเคือง ซึ่งหลายแห่งพยายามบริหารจัดการและรับมืออย่างเต็มกำลัง แต่หากสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯยังไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะส่งผลกระทบลุกลามไปสู่การปลดพนักงานก็เป็นได้ ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลต่อฐานกำลังสำคัญของประเทศเนื่องจากภาค SMEs ถือเป็นผู้จ้างงานที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดของประเทศไทย

     สำหรับมาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นยาแรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบันบรรเทาความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที ประกอบไปด้วย 7 ข้อ เรียกร้องได้แก่

     1.) มาตรการซอฟต์โลน สำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ลูกหนี้การค้าค้างชำระเงินนานขึ้นได้

     2.) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกรวมถึงยกเลิกมาตรการ LTV สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 เเละ 3 

     3.) มาตรการดึงกำลังซื้อจากกลุ่มคนทำงานที่เป็นต่างชาติ(Expat )เช่น ขยายเพดานการถือครองที่ดินเป็น 99 ปีและขยายเพดานสัดส่วนการซื้อคอนโดมิเนียมสูงขึ้นเป็น 75%

    4.) มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนด้วยการลดค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอน และการลดหย่อนภาษี

    5.) ลดภาษีนำเข้า สำหรับภาคการผลิตเพื่อช่วยลดราคาต้นทุนการผลิต

    6.) ลดค่าสาธารณูปโภคสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงลดเงินสมทบในการนำส่งประกันสังคม และ

    7.) จัดตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำ
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ