อานิสงส์งบกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันธุรกิจรับสร้างบ้านคืนชีพ
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน หลังจากที่เคยประเมินว่าตลาดในปีนี้จะยังคงชะลอตัว เนื่องจากยอดขายภายในงาน"มหกรรมบ้านและวัสดุก่อสร้าง ที่จัดเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงเป็น 1 ในตัวแปรที่สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจรับสร้างบ้านว่าเริ่มดีขึ้น
ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว ยังพบว่า สัดส่วนลูกค้ามากถึง 70% ที่ใช้เงินสด หรือเงินออม เพื่อก่อสร้างบ้าน สะท้อนภาพตลาดในเชิงบวก โดยเฉพาะความมั่นใจของกลุ่มลูกค้าที่กล้ากลับมาใช้จ่ายกันมากขึ้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีเงินออมอยู่แล้ว เพียงแต่ในปีก่อนยังไม่ค่อยใช้จ่าย ผนวกกับภาพรวมตลาดต่างจังหวัดที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากราคาพืชผลเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น
"แม้เศรษฐกิจจะยังไม่เอื้อ แต่กลุ่มลูกค้าธุรกิจรับสร้างบ้านก็พร้อมด้านการเงิน สามารถสร้างบ้านได้ตลอด ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยดี พวกเขาก็อาจมองว่ายิ่งมีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการมากขึ้น" นายสิทธิพรกล่าว
นายสิทธิพรกล่าวต่อไปว่า ขณะที่ แผนการกระตุ้นตลาดและยอดขายของสมาชิกสมาคมฯ ในปีนี้ มีแผนจะจัดงานมหกรรมรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดครั้งแรก ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะจัดในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะเข้าไปปลุกกำลังซื้อตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะอุบลฯ ที่มองว่าเป็นเมืองสำคัญของอีสานตอนใต้ เป็นประตูการค้าเพราะมีทำเลใกล้กับประเทศลาว
ด้านสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมฯ ประเมินว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้จะมีทิศทางดีขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) ทำให้คาดว่าตลาดรับสร้างบ้านจะกลับมาเติบโต ราว 10-15% หรือมีมูลค่าตลาดรวมที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังคงมีปัจจัยลบ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง ทำให้เกิดการแย่งตัวแรงงาน ยิ่งหากการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐเข้ามา ก็อาจจะใช้แรงงานกลุ่มเดียวกับแรงงานสร้างบ้าน ทั้งยังค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันแรงงานในธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้รับค่าแรงเฉลี่ยขึ้นไปอยู่ที่ 350-450 บาทคนต่อวัน เมื่อรวมกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้นกว่า 3% แต่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับราคาก่อสร้าง เพราะการแข่งขันในธุรกิจค่อนข้างสูง
"ตอนนี้ต้นทุนรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้น กว่า 3% เป็นไปตามอัตราการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-5% โดยผู้ประกอบการหลายรายพูดถึงเรื่องต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่กล้าปรับขึ้นราคา ทำให้มาร์จิ้น (กำไรต่อหน่วย) ลดลง" นายพิชิตกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์