คอนโดสายสีม่วงกระอักทุบราคาระบายสต๊อก
นายแฟรงค์ ข่าน กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านโครงการที่พักอาศัย บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยส่งผลให้ตลาดคอนโดฯ ในกรุงเทพฯในปี 2559 มีการเติบโตในระดับที่ลดลงกว่าปี 2558 แต่ซัพพลายพื้นที่เขตชานเมืองในกรุงเทพฯมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยอยู่ที่ประมาณ 76% ของซัพพลายทั้งหมดในปี 2559 เป็นผลเนื่องมาจากการขยายเส้นทางขนส่งมวลชนไปสู่ย่านชานเมืองกรุงเทพฯ นักพัฒนาหลายรายจึงเลือกพัฒนาโครงการตามเส้นทางขนส่งมวลชนสายใหม่ในย่านชานเมือง เนื่องจากมีที่ดินเพียงพอต่อการพัฒนาในราคาที่สมเหตุสมผล
"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถไฟใต้ดิน (MRT) สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) เป็นผลมาจากเส้นทางสายนี้ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งมวลชนสายอื่นๆ ทำให้ปริมาณผู้โดยสารจริงมีจำนวนน้อยกว่าเกือบสามเท่าของจำนวนผู้โดยสารที่ถูกคาดการณ์ไว้ และสถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ตลาดคอนโดฯ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เปิดดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้วยังคงมีหน่วยเหลือขายอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ถือเป็นกรณีศึกษาแก่ นักพัฒนาและผู้ซื้อคอนโดฯในย่านนี้"
อย่างไรก็ดีโดยรวมแล้วความต้องการคอนโดฯ มีปริมาณลดลงมาก เนื่องจากความต้องการคอนโดฯ ในพื้นที่เขตชานเมืองกรุงเทพฯที่น้อยลงเพราะผู้ซื้อจำนวนมากไม่สามารถกู้ยืมจากธนาคารได้ แต่ราคาคอนโดฯในพื้นที่เขตชานเมืองกรุงเทพฯจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่คอนโดฯในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) และพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe areas) จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากซัพพลายใหม่มีน้อย หน่วยคอนโดฯ ใหม่ๆ ในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจจะต้องแข่งขันกับหน่วยคอนโดฯ เก่าในย่านศูนย์กลางธุรกิจที่มีการบำรุงรักษาอาคารอย่างดี เนื่องจากหน่วยคอนโดฯ ใหม่ในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจมีราคาสูงกว่าหน่วยคอนโดฯเก่าในย่านศูนย์กลางธุรกิจ
ด้านนางสาวพจมาน วรกิจโภคาทร ผู้อำนวยการด้านการตลาดและงานขาย บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ราคาคอนโดฯในเขตชานเมืองกรุงเทพฯคาดว่าจะยังคงมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาที่ดินจำเป็นต้องทำการสำรวจตลาดก่อนเริ่มพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในบางพื้นที่ของเขตชานเมืองกรุงเทพฯ ด้วยราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้นมากของคอนโดฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจและพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ ตลาดรีเซล (Resales market) ของคอนโดฯ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจจะต้องแข่งขันกับโครงการคอนโดฯ ใหม่ๆ เนื่องจากมีช่องว่างด้านราคาขายที่ต่างกันมาก สำหรับคอนโดฯประเภทรีเซลนั้นผู้อยู่อาศัยอาจให้ความสนใจกับหน่วยคอนโดฯ รีเซลในอาคารเก่าที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีมากกว่าที่จะซื้อหน่วยคอนโดฯ โครงการใหม่ เนื่องจากคอนโดฯ เก่ามีราคาที่ถูกกว่าและขนาดหน่วยที่ใหญ่กว่า
ทั้งนี้จากรายงานผลวิจัย พบว่า แนวโน้มซัพพลายภายในสิ้นปี 2559 คอนโดในกรุงเทพฯ มีจำนวน เพิ่มขึ้นประมาณ 13.6 %จากปีก่อน อย่างไรก็ตามปริมาณซัพพลายที่มีมากไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของความต้องการคอนโดฯแต่อย่างใด ส่วนแนวโน้มดีมานด์ ลดลงไปจากปีก่อน 75.3% หน่วยของคอนโดฯ ที่ถูก ขายออกในปี 2559 ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ลดลงของผู้ซื้อและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นของธนาคาร ดังนั้น นักพัฒนาที่ดินต้องสร้างแคมเปญส่งเสริมการขายพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น การลดราคา, ข้อเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ และอื่นๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์