เปิดโมเดลพัฒนาเมือง ขอนแก่น-ภูเก็ต
เปิดโมเดลพัฒนาเมืองขอนแก่น-ภูเก็ต
ถือเป็นการพัฒนาในมิติใหม่ ที่มีความคืบหน้าเป็นลำดับกับบริษัทพัฒนาเมือง โดยภาคเอกชนที่เป็นนักพัฒนาอสังหา ริมทรัพย์รุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาท ขับเคลื่อน ผลักดันการพัฒนาในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็น ผลจากการรวมกลุ่มกันของนักพัฒนารุ่นใหม่ในหลายๆ จังหวัด โดยมีสมาคมอสังหา ริมทรัพย์ไทยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจากการร่วมผลักดันจัดตั้งสมาคมอสังหาริมทรัพย์ในหลายจังหวัด
ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่รวมกลุ่มเพื่อ จัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองแล้ว 7 จังหวัด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเมื่อหลายจังหวัดเริ่มเห็นความชัดเจนและความเป็นไปได้จากจังหวัดนำร่องอย่างขอนแก่นและภูเก็ต รวมถึงการผลักดันให้มีกฎหมายส่งเสริมกิจการบรรษัทพัฒนาเมืองขึ้นมารองรับ ขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการในสภานิติบัญญัติ ฯ และในไม่ช้าไม่นานนี้ โมเดลการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มต้นจากการร่วมมือ ร่วมแรงกันพัฒนาเมืองจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาค
ชาญณรงค์ บุริสตระกูล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ขอนแก่น และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง กล่าวว่า ผู้ประกอบการใน จ.ขอนแก่น ได้ร่วมพูดคุยเรื่องนี้กันมานานเป็น 10 ปี แต่เพิ่งเริ่มตั้งบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าต้องลงมือในภาคปฏิบัติด้วย โดยปัจจุบันมีโครงการที่จะดำเนินงาน 3 โครงการหลักๆ คือ โครงการระบบขนส่งสาธารณะ เป็นรถเมล์ปรับอากาศในเมืองที่นำระบบชำระเงินอัตโนมัติมาใช้เชื่อมโยงเส้นทางกับสนามบินและสถานที่ท่องเที่ยว
ส่วนโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะ โปรเจกต์ของขอนแก่น คือการพัฒนาระบบขนส่งทางรางมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาโครงการ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คาดว่าในเดือน พ.ค.นี้ น่าจะเสร็จ และได้มีการจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม (Khon Kaen Transit System CO.,Ltd.) โดยมี 5 เทศบาลใน จ.ขอนแก่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา (LRT) ใน จ.ขอนแก่น
นอกจากการพัฒนาระบบรางแล้ว ยังได้มีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระบบขนส่งขึ้นมาตามแนวคิด TOD (Transit Oriented Development) หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สอดคล้องกับขนส่งมวลชน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟและรถไฟ ความเร็วสูงด้วย ส่วนโครงการที่ 3 คือ สมาร์ทซิตี้ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง การใช้เทคโนโลยี การฟื้นฟูเมือง ซึ่งมีโครงการย่อยๆ อีกหลายโครงการ
ขณะที่ เผด็จ จินดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง (พีเคซีดี) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าตามแผนแม่บท 10 ปี โดยดำเนินงานใน 4 กลุ่มหลัก คือ การร่วมออกแบบผังเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรวมไปถึงการสร้างแลนด์มาร์ค และการสร้างคลังความรู้
สำหรับ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น 25 คน ลงทุนจดทะเบียนเปิดบริษัทในทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยการบริหารในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้งคอมพานี ซึ่งประกอบด้วยหน่วยธุรกิจ 12 หน่วยธุรกิจ และมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา โครงการ ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ศึกษาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนด้านดิจิทัล
ล่าสุดได้มีการจดทะเบียนแล้ว 5 บริษัท จากทั้งหมด 12 บริษัท โดยได้ดำเนินการในเรื่องของการเดินระบบขนส่งมวลชนทั้งทางรถ เรือ แอพพลิเคชั่นรองรับการ ท่องเที่ยวและคลังความรู้ ซึ่งเป็นดาต้าสำหรับนักลงทุน และจากนี้จะมีการศึกษาพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน อาทิ การพัฒนาความปลอดภัยเมือง การดูแลสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชน พลังงานลม และคลื่นในทะเล
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะระดมทุนจาก นักธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 100 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท รวมถึงแผนการระดมทุนในพื้นที่และในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในลักษณะของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จ.ภูเก็ต เพื่อนำงบประมาณที่ได้มาขยายการลงทุนโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาใน จ.ภูเก็ต ที่ตามแผนจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2561-2563) คาดว่าเปิดใช้รถไฟฟ้ารางเบาในปี 2564
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและที่ดินเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของภูเก็ต รวมทั้งก่อให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ครบวงจร รองรับความต้องการใช้งานของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง สำหรับผลกำไรที่เกิดขึ้นจะนำมาใช้เพื่อลงทุนขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทั้งหลักและรองในอนาคต
หากทั้งสองจังหวัดนำร่องสามารถดำเนินการตามแผนพัฒนาเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม จะถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคที่ยังมีอีกหลายจังหวัดพร้อมจะเดินตามแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์