อสังหาฯ แห่ตุนที่ดินแนวรถไฟฟ้าสีชมพู
ผู้ประกอบการอสังหาฯ เดินหน้าตุนที่ดิน แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประเมิน 2 ปี ราคาพุ่ง 2 เท่า ระบุ "ดีมานด์-ซัพพลาย" ไม่ชัดเจน หวั่น ซ้ำรอยสายสีม่วง รอจังหวะลงทุน ชี้เทรนด์ "คอนโดโลว์ไรส์" มาแรง
โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่วิ่งผ่านระยะทางกว่า 34.5 กิโลเมตร ประเมินว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางแห่งโอกาสในอนาคตของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ แต่แนวโน้ม การพัฒนาอยู่ในรูปแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป" ยังไม่เห็น การแจ้งเกิดโปรเจคใหม่อย่างเด่นชัดมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรณีศึกษา "สายสีม่วง" ทำให้ ดีเวลลอปเปอร์ระมัดระวังการเติมซัพพลายใหม่ เข้าตลาดที่ยังไม่พบ "ดีมานด์" ชัดเจนมากนัก
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนา อสังหาฯ แนวสายสีชมพู ขณะนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ แจ้งวัฒนะ-วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่และ ถ.รามอินทรา โดยช่วงแรกมีการเปิดคอนโด พอสมควรแล้ว มีจำนวนสะสมรวม 24,400 ยูนิต สัดส่วนคอนโดกว่า 64% อยู่ในช่วงติวานนท์-หลักสี่ ราคาขายต่อยูนิตเฉลี่ย 2- 3 ล้านบาท จากราคาขายเริ่มต้น 30,000-80,000 บาทต่อตร.ม. อีก 36% ช่วง ถ.รามอินทรา ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์
ส่วนคอนโด ราคาขาย 50,000 -70,000 บาทต่อตร.ม. ซึ่งซัพพลายยังไม่สูงมาก เริ่มขยายตัวในปี 2558-2559 ซึ่งหลังจากปี 2559 มีซัพพลายเพิ่มขึ้นปีละ 1,200 -1,600 ยูนิต
ภาพรวมผู้ประกอบการอสังหาฯ มีแผนพัฒนาคอนโดเปิดขายรอสายสีชมพู เช่น บริเวณวงเวียนหลักสี่ ตัดสายสีเขียว (หมอชิต คูคต) และสายสีแดงตัดสายสีชมพู
ปีนี้คาดว่าจะมีดีเวลลอปเปอร์ 3-4 รายใหญ่และกลาง เปิดตัวโครงการใหม่ รวม 2,000-3,000 ยูนิต รองรับสายสีชมพู แต่ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะต้องรอภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตลอดจนความชัดเจนของแผนก่อสร้าง
"อสังหาฯ แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูน่าจะเคลื่อนไหวมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะแถววงเวียนหลักสี่ และปลายสถานีแถวมีนบุรี"
ทยอยเก็บที่ดินก่อนราคาขยับ
ขณะที่การแข่งขันอสังหาฯ ในโซนนี้ ยังไม่ถึงขั้นเรียกว่า "คึกคัก" ความเคลื่อนไหว ผู้ประกอบการมุ่งซื้อที่ดินรอพัฒนาในอนาคต เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ไม่สูงนักและ เปิดขายราคาที่ต่ำกว่าผู้เล่นรายอื่น สำหรับราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูปัจจุบัน เฉลี่ย 1-2 แสนบาทต่อตร.ว. ส่วนย่านมีนบุรี ราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อตร.ว. โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินสายสีชมพูปรับเพิ่มขึ้น 15% คาดว่า 2 ปีจากนี้จะปรับเพิ่ม "เท่าตัว"
"สายสีชมพูเป็นเส้นที่วิ่งนอกเมืองไม่ใช่วิ่งเข้าไปในเมือง จึงอาจไม่คึกคักนักเทียบสายสีม่วงและสายสีเขียว ดีเวลลอปเปอร์ยังคงรอดูความชัดเจนก่อนตัดสินใจ ซึ่งอาจเลือกทำเลเฉพาะจุดเชื่อมต่อสายสีอื่น"
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการล้วนพิจารณากรณีศึกษาจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ดังนั้นจึงไม่ผลีผลามในการลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย
ชี้ซัพพลายสายสีชมพูเหลือขาย20%
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาฯ กล่าวว่า จุดเด่นของแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว และสายสีส้ม นับว่าเป็นพื้นที่ศักยภาพสำหรับธุรกิจอสังหาฯ
ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อสังหาฯ แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีการเปิดตัวคอนโด โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก แต่ยังมีซัพพลายไม่มากนัก โดยโซนที่มีซัพพลายมากกระจุกตัวในบริเวณจุดตัดสายสีม่วง (บางซื่อ -บางใหญ่) เช่น แจ้งวัฒนะ ที่เชื่อมต่อกับสายสีม่วง ปัจจุบันซัพพลายที่อยู่อาศัยเหลือขายแนวสายสีชมพู มีประมาณ 2,000 ยูนิต จากจำนวนรวม 10,000 ยูนิต หรือเหลือขายเพียง 20% อีก 80% ที่ขายได้ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยใกล้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า แจ้งวัฒนะ และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
ซัพพลายต่ำ-ราคาขยับน้อย
อย่างไรก็ดี ราคาขายคอนโดในโซนนี้ไม่ได้ปรับราคาขึ้นสูงนัก หากอยู่ในซอยราคาอยู่ที่ 60,000 บาทต่อตร.ม. ส่วนราคาขายติดริมถนนใหญ่ ประมาณ 80,000 บาทต่อตร.ม. แต่ปัจจุบันโครงการติดริมถนนเหลือขายน้อยมาก
ขณะที่โซนรามอินทราราคายังไม่ปรับขึ้นนัก เพราะก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปมากแล้ว และติดข้อจำกัด FAR หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน ยังไม่สูงมากเท่ากับสายสีม่วงจึงทำให้ยังไม่ค่อยเห็นคอนโดย่านนี้
การเปิดตัวคอนโดแนวสายสีชมพูยังไม่คึกคักนัก ปีนี้ มีโครงการใหม่ของดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ที่เปิดตัวรวม 2,000-3,000 ยูนิต เช่น โครงการพลัมคอนโด แจ้งวัฒนะ สเตชั่น ของพฤกษาเรียลเอสเตท ประมาณ 1,100 ยูนิต รีเจ้นท์ โฮม ของกลุ่มรีเจนท์ กรีน พาวเวอร์ 1,500ยูนิต และ ศุภาลัย วิสต้า ของ ศุภาลัย ที่เปิดตัวปลายปีก่อน
"แม้ขณะนี้อาจยังไม่เห็นโครงการใหม่รวมถึงการขายที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการมากนัก แต่อีก 1-2 ปี ภาพจะชัดเจนขึ้น จะมีการทยอยขายที่ดินให้ดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งหากเริ่มลงตอม่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู ราคาที่ดินโซนแจ้งวัฒนะอาจขยับถึง 3 แสนบาทปลายๆ ต่อตร.ว.ได้"
ชี้เทรนด์พัฒนา'โลว์ไรส์'
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้เป็นระบบโมโนเรล ที่มีมากกว่า 30 สถานี รวมระยะทาง 34.5-36 กิโลเมตร เมื่อเทียบรถไฟฟ้าในปัจจุบันรวม 3 สาย ที่มีรวม 76 สถานี ระยะทาง 107.8 กิโลเมตร ซึ่งจำนวนสถานีที่มาก ทำให้รองรับผู้โดยสารได้มาก ด้วยการ กระจายพื้นที่ของหลายสถานี รองรับผู้โดยสารครอบคลุมพื้นที่ในเขตตะวันออกได้ การจุดตัดเชื่อมต่อที่วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ยังช่วยให้เข้าเมืองได้เร็วมากขึ้น เช่น การเดินทาง เข้าสู่เส้นอารีย์ และพหลโยธิน
"เส้นทางแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะส่งผลต่อที่ดินบริเวณมีนบุรี-หลักสี่ ทำให้รูปแบบพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในโซนนี้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นแนวราบจะกลายเป็น คอนโดโลว์ไรส์มากขึ้น"
คาดว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 3 ปีนี้ พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในปี 2563
สำหรับราคาที่ดินโซนนี้ ปรับเพิ่มขึ้นระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งราคาที่ดินสูงขึ้นอาจนำมา พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮาส์ระดับกลางได้ยาก หรือไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่ดิน ปัจจุบันราคาทาวน์เฮาส์ บริเวณมีนบุรีตอนปลาย เฉลี่ย 2-3 ล้านบาทต่อยูนิต บ้านเดี่ยว 5 ล้านบาทต่อยูนิต คาดว่าในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า ราคาขายจะขยับเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นไปตามที่ดินโซนอื่นๆ ที่มีโครงการรถไฟฟ้าเข้าถึง
ลุ้นปรับผังเมืองใหม่รับพัฒนาแนวสูง
ทั้งนี้ ภาครัฐต้องพิจารณาผังเมืองบริเวณสายสีชมพูนี้อย่างรอบคอบ เพราะการพัฒนาอาคาร 8 ชั้นในโซนนี้มีข้อจำกัด ทำให้การพัฒนาโครงการอสังหาฯ ในช่วงที่ ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์ มีคอนโดน้อยมาก โดยศักยภาพการพัฒนาโครงการแนวสูงในสายชมพูยังมีน้อย มีเพียงช่วงต้น ของเส้นแจ้งวัฒนะ แต่ในโซนรามอินทรามีนบุรี ควรมีผังเมืองที่เป็นเกณฑ์รองรับการพัฒนาโครงการโซนนี้ในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ