ทุนจีนยึดรับเหมา-อสังหา แบงก์ออฟไชน่า ขนทัพจับคู่ธุรกิจไทย
ทุนจีนพาเหรดเข้าไทย แบงก์รับเป็นลูกค้าอันดับ 1 แห่เข้าลงทุนเกือบทุกประเภท กิจการ ตั้งแต่โครงการขนาดใหญ่ ยันบริษัทเล็ก เผยตัวเลขขอรับส่งเสริมลงทุน BOI ปีที่ผ่านมาพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 3 มูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท กรมพัฒนาธุรกิจแจงจีนแห่ตั้งบริษัทใหม่เดือนละ 10 บริษัท กลุ่มรับเหมาก่อสร้างนำโด่ง ตามด้วยกิจการเกษตร "แบงก์ออฟไชน่า" เตรียมขนทัพธุรกิจนับร้อย จับคู่นักลงทุนไทย
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการเข้ามาลงทุนประกอบกิจการของกลุ่มทุนจีน ในประเทศไทย ในช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันปรากฏเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รายงาน นักลงทุนจีนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ตลอดปี 2559 มากเป็นอันดับ 3 รองจากนักลงทุนญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีจำนวนโครงการที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมทั้งหมด 104 โครงการ มูลค่าการลงทุน 32,537 ล้านบาท เฉพาะ 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2560) มีโครงการลงทุนจากจีนเข้ามา 4 โครงการ มูลค่าการลงทุน 261 ล้านบาท
"โครงการลงทุนของนักลงทุนจีนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ 9 โครงการ มูลค่า 5,660 ล้านบาท, กิจการผลิตยาง 4,370 ล้านบาท และกิจการผลิตเส้นใยแก้ว (ไฟเบอร์กลาส) 2,752 ล้านบาท แต่มีข้อสังเกตว่า การลงทุนส่วนหนึ่งของนักลงทุนจีนดำเนินการผ่านทางฮ่องกง เพราะ 2 เดือนแรกของ ปีนี้มีแงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ FDI ผ่านเข้ามาทางฮ่องกงสูงเป็นอันดับ 3 คิดเป็นมูลค่า 2,035 ล้านบาท"
แห่ใช้ พ.ร.บ.ต่างด้าวตั้งบริษัท
สอดคล้องกับการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 แยกตามประเภทธุรกิจและประเทศที่เข้ามาลงทุนในระหว่างวันที่ 3 มีนาคม 2543 ถึง 31 มีนาคม 2560 นักลงทุนจีนเข้ามาขอประกอบธุรกิจติดอันดับที่ 9 รวม 155 ราย
"ตัวอย่างของการลงทุนจากจีนในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีโครงการใหญ่โครงการหนึ่งคือ โครงการผลิตลวดเหล็ก (Steel Cord) มูลค่าถึง 5,130 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 ชลบุรี โดยโครงการนี้มีบริษัทแม่คือ Jiangsu Xingda Steel โรงเหล็กรายใหญ่ เข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพื่อสนองตอบความต้องการลวดเหล็กเสริมยางของ 2 บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนผลิตยางเรเดียลในไทย 2 บริษัท คือ บริษัทจงเซ่อ รับเบอร์ บริษัทลูกของ Zhou Zhong Ce Rubber Co. ผู้ผลิตล้อยางรถขนาดใหญ่ที่สุดของจีน กับบริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) บริษัทลูกของ Shandang Linglong Tire Co. ผู้ผลิตยางเรเดียลใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน" แหล่งข่าวจาก BOI กล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วย BUILD กล่าวว่า BOI ร่วมกับสมาคมส่งเสริม การรับช่วงการผลิตไทย ได้จัดงาน Subcon Thailand 2017 ในระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ Bank of China จะนำลูกค้าของธนาคารมากกว่า 100 รายเข้ามาร่วมงาน โดย BUILD ได้จัดเชื่อมโยงธุรกิจให้พบกับผู้ผลิตไทยได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 รายด้วย คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนตามมาหลังจบงาน Subcon Thailand
รับเหมาจีนแห่ตั้งบริษัทเพียบ
นอกจากนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ตรวจสอบการจดทะเบียนตั้งบริษัทของกลุ่มทุนจากประเทศจีน ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุน จากจีนที่ทยอยเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนมกราคม 2560 เพียงเดือนเดียว มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 15-16 บริษัท ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์มีประมาณ 10 บริษัท เดือนเมษายน 4-5 บริษัท และหากย้อนไปในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่เฉลี่ยเดือนละ 5-6 บริษัท
การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของกลุ่มทุนจากประเทศจีนที่สะท้อนผ่านการขออนุญาตจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเปิดบริษัทหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง ที่มีมากกว่า 15 บริษัท รองลงไป ธุรกิจ Import-Export, ธุรกิจรับซื้อยางพารา-พืชผล การเกษตร, ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและร้านอาหาร, ธุรกิจนายหน้าซื้อขายให้เช่าอสังหาริมทรัพย์, โรงงานผลิตชิ้นส่วนและมอเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง, ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า, การซื้อขายแร่ ไปจนกระทั่งถึงการตั้งร้านขายยา
การตั้งบริษัทดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะการเข้ามาร่วมกับพันธมิตรที่เป็น คนไทย โดยที่กลุ่มทุนจีนจะถือหุ้นใน สัดส่วน 49% และคนไทย 51% โดยแต่ละบริษัทส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท ยกเว้นบางรายที่ตรวจสอบพบ มีทุนจดทะเบียนถึง 100 ล้านบาท อาทิ บริษัท หมิงเขอต๋า โลจิสติกส์ โฮลดิ้ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ประกอบกิจการโลจิสติกส์ ขนส่งและขนถ่ายสินค้าและคนโดยสาร กับบริษัท หนานหยาง มอเตอร์ แมนนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) ส่งออกนำเข้า ออกแบบและผลิตมอเตอร์ทุกชนิดสำหรับรถยนต์
แบงก์รับจีนพาเหรดเข้าไทย
นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ ปี 2559 ได้เห็นทิศทางนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยหลายอุตสาหกรรม มีทั้งคนที่เข้ามาลงทุนใหม่และขยายการลงทุนที่มีอยู่ ตั้งแต่พลังงานทางเลือกผลิตโซลาร์เซลล์-ชิ้นส่วนยานยนต์-เกษตรกรรม และอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate)
ส่วนใหญ่นักลงทุนจีนจะเตรียมเงินลงทุนในช่วงเริ่มต้นกิจการ เมื่อเข้ามาวางรากฐานได้สักพักก็จะเริ่มเข้ามาขอสินเชื่อทางการเงินกับธนาคาร เช่น บริษัทจีนใช้เงินทุนของตัวเองซื้อที่ดินแล้ว เข้ามาขอสินเชื่อ ก่อสร้างเพื่อขยายโปรเจ็กต์อื่น ๆ หรือคนที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจที่ต้องส่งออกก็จะมี ขอสินเชื่อหมุนเวียนกับสินเชื่อเพื่อการค้า (Trade Finance) กับทางธนาคาร นอกจากนี้ บางส่วนมีการลงทุนในรูปแบบการควบรวม กิจการ (M&A) หรือเข้าซื้อหุ้นเพื่อให้มีอำนาจในการบริหารจัดการ
"ส่วนขนาดธุรกิจของบริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมีความหลากหลายมาก ทั้งธุรกิจ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนใหญ่แล้วเมื่อบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาจัดตั้งบริษัทในไทยแล้วก็จะมีบริษัทขนาดกลางที่เป็นเครือข่ายตามมาด้วยเพื่อเป็นซัพพลายเออร์ (Supplier) ด้านวัตถุดิบ"
โดยในปี 2560 ในหมวดสินเชื่อคอร์ปอเรต หรือลูกค้าบรรษัทที่มาเป็นลักษณะโปรเจ็กต์ จากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน คาดว่าจะมีการเติบโตดีกว่าปี 2559 ซึ่งอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่เป็นโปรเจ็กต์นี้มีขนาดเล็กกว่าสินเชื่อของลูกค้าบรรษัทซึ่งเป็นฐานใหญ่
ด้าน นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารเห็นการเข้ามาลงทุนของภาคธุรกิจจากจีนเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการเข้ามาลงทุนของภาคธุรกิจเอง โดยเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตหรือตั้งบริษัทในการทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน หรือเข้ามาลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในหลากหลาย อุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ รวมไปถึงทำธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ ซื้อมาขายไปที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร
หากดูฐานลูกค้าต่างชาติของธนาคารที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันลูกค้าจีนถือเป็นลูกค้าอันดับหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ หากเทียบกับลูกค้าต่างชาติที่อยู่ในพอร์ต สินเชื่อธนาคาร โดยลักษณะการขอสินเชื่อ ของธุรกิจจีนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยมานานแล้ว รวมไปถึงภาคธุรกิจจีนที่เข้ามาตั้งบริษัทร่วมทุนกับนักธุรกิจไทย จึงให้บริษัทร่วมทุนเข้ามาขอสินเชื่อโดยมูลค่าการขอสินเชื่อ มีตั้งแต่ระดับ 100 ล้านบาท และเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
"เราเห็นมูฟเมนต์นี้มาสักระยะแล้ว และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งปกติจีนก็มีความสนใจในการเข้ามาลงทุนกับไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่เข้ามาผ่าน BOI ซึ่งอยู่ในแทบทุก หมวดธุรกิจ โดยเฉพาะแถวอมตะนคร ที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น ยาง อิเล็กทรอนิกส์" นายศิริเดชกล่าว
รับเหมาจีนซึมลึกก่อสร้างไทย
การรับเหมาก่อสร้างจัดเป็นภาพสะท้อนที่ดีของการรุกคืบเข้ามาของจีน โดยผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ถึงการเข้ามาของนักลงทุนจีนในวงการรับเหมาก่อสร้าง ยอมรับว่า ปัจจุบันทุนจีนได้ขยายวงกว้าง มาสู่วงการรับเหมาก่อสร้างแล้ว โดยมีการตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบเป็นบริษัท ที่เข้ามาซับงานต่อจากผู้รับเหมาไทย หรือในรูปแบบกิจการร่วมค้า (จอยต์เวนเจอร์) กับบริษัทไทย เพื่อเข้ารับเหมาก่อสร้างอาคารและคอนโดมิเนียม
"รับเหมาจากจีนเข้ามามากขึ้น ทำให้วงการ รับเหมาก่อสร้างไทยก็เริ่มมีความกังวลว่า จะทำให้ระบบรับเหมาของไทยหมดความเชื่อมั่น เพราะค่าจ้างจะมีอัตราที่ถูกกว่า แต่คุณภาพงานไม่ดี" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ