คอลัมน์ วิเคราะห์: เช็กระยะศก.โค้งแรก ฟื้นตัวบนความไม่มั่นใจ
ทีมข่าวเฉพาะกิจ
มีการคาดการณ์จากหลายสำนัก ว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 3% จากปัจจัยบวกชุดใหญ่ นับแต่การส่งออกขยายตัวดีเกินคาด การท่องเที่ยวคึกคักต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ และหน่วยงานทางเศรษฐกิจหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณว่าจะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะเติบโตไม่น้อยกวา 3.3%
มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม อยู่ที่ 87.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาและการฟื้นตัวของตลาด รถยนต์สินค้ามูลค่าสูงที่สามารถสะท้อนความเป็นไปของเศรษฐกิจได้ดี โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ มียอดขายรวม 210,490 คัน เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 15.9% ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยแม้ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่ามียอดเปิดโครง การใหม่ 85 โครงการลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 3% แต่มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจภาพใหญ่ในสายตานักเศรษฐ ศาสตร์ดูสดใส แต่อีกด้านหนึ่งผลสำรวจประชาชนกลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 2-6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หนึ่งในคำถามของโพลล์ต่อกลุ่มตัวอย่างคือ "จุดอ่อนของรัฐบาลคืออะไร?" 74.04% หรือ อันดับ 1 ตอบว่า "เศรษฐกิจตกต่ำ" เช่นเดียวกับผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อผลงานรัฐบาลในรอบ 2 ปี 6 เดือน แม้ผลสำรวจ ระบุว่าประชาชนพอใจหลายด้าน แต่ด้านเศรษฐกิจประชาชนบอกว่าต้องปรับปรุง ซึ่งเป็นความรู้สึกร่วมที่คนเดินถนนทั่วไป สัมผัสได้ถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดูเงียบๆ ซึ่งย้อนแย้งกับ ซินนารีโอที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์อย่างสิ้นเชิง
อะไรคือสาเหตุ? ที่ทำให้ความรู้สึกของชาวบ้าน กับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ ต่อประเด็นทางเศรษฐกิจไปกันคนละทาง หากสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจที่สำนักต่างๆแถลงออกมาเป็นระยะในช่วงก่อนหน้านี้จะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยได้เป็นอย่างดี
เริ่มจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2560 ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 77.0 จากระดับ 76.8 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 65.4 จาก 65.1 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ระดับ 94 จาก 93.8 โดยสรุปดัชนีทั้ง 3 รายการ ในเดือนเมษายนปรับขึ้น "เล็กน้อย" จากเดือนมีนาคมก่อนหน้า สภาพการณ์ดังกล่าว ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ สรุปว่า ประชาชนยังไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเต็มที่
ข้อมูลอีกชุด ยอดขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน (รง.4) ซึ่งสะท้อนความเป็นไปของการลงทุนจากภาคเอกชน มงคล พฤกษ์รัตนา อธิบดีกรมโรงงาน แถลงว่า 4 เดือนแรกของปี (มกราคม-เมษายน 2560) มียอดขยายกิจการ 1,533 โรงงานลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 5.07% มูลค่าการลงทุนรวม 1.17 ถึงแสนล้านบาท ลดลง 29.5% และเมื่อแยกประเภทพบว่า การเปิดกิจการใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวมียอดรวม 1,256 โรงงาน ลดลง 7.44% แต่มีการขยายกิจการ 277 โรงงานเพิ่มขึ้น 7.63% หากมูล ค่าการลงทุนลดลง กล่าวโดยสรุป คือ 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมากิจการใหม่เปิดน้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยที่ว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตัวเลขเปิดกิจการใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และไม่มีพลังมากพอผลักดันให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ รับรู้ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นคำตอบว่าเหตุใดความรับรู้ทางเศรษฐกิจของชาวบ้านกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จึงสวนทางกัน
การแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้นสัปดาห์นี้คงให้ภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และอาจปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ใหม่ แต่ตัวเลขคาดการณ์ใหม่คงไม่สามารถเปลี่ยนความรู้สึกชาวบ้านได้หากชาวบ้านหรือผู้บริโภค ยังไม่สามารถรับรู้ถึงผลบวกทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ