โอนอสังหาฯ กว่า 6 ล.ราย
Loading

โอนอสังหาฯ กว่า 6 ล.ราย

วันที่ : 6 มิถุนายน 2560
โอนอสังหาฯ กว่า 6 ล.ราย

    กรมที่ดินระบุยอดโอน อสังหาฯ และห้องชุดรับมาตรการรัฐ 8 เดือน 6.39 ล้านราย เพิ่มอัตราเดิม

          แหล่งข่าวจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงมหาดไทยออกประกาศ 2 ฉบับเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล สามารถโอนอสังหาฯ หรือห้องชุดเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560 มองกันว่าเป็นการเปิดช่องเลี่ยงภาษีเนื่องจากเสียค่าโอนเพียง 0.01% เท่านั้น

          ทั้งนี้ จากข้อสังเกตดังกล่าว ทางกรมที่ดินได้เปิดตัวเลขจดทะเบียนการโอนไม่ว่าจะเป็นขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ฯลฯ สำหรับที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุด ในช่วง 8 เดือน (ส.ค. 2559-มี.ค. 2560) มี 6.9 ล้านราย ค่าธรรมเนียมและภาษีรวม 6.25 หมื่นล้านบาท เป็นจำนวนที่เพิ่มจาก 6 เดือนก่อนหน้า (ก.พ.-ก.ค. 2559) ที่มี 5.54 ล้านราย ค่าธรรมเนียมภาษีรวม 4.26 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าอาจจะมีการเร่งโอนบ้างเพราะกฎหมายบังคับใช้ถึงสิ้นปีนี้ แต่ต้องรอเทียบกับช่วงเดียวกันถึงจะรู้

          ด้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. ... ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังอยู่ระหว่างยกร่างออกเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาฯ โดยการสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนสามารถมีทรัพย์อิงสิทธิได้นอกเหนือจากการ มีกรรมสิทธิ์หรือการมีสิทธิการเช่าในอสังหาฯ เท่านั้น

          ขณะที่ปัจจุบันการเช่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับคือ เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีระยะการเช่า 30 ปีและต่อได้ไม่เกิน 30 ปี โดยสัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่สามารถโอนสิทธิการเช่า เช่าช่วง นำสิทธิการเช่าไปเป็นหลักประกันได้

          สำหรับการเช่าตาม พ.ร.บ.การเช่าอสังหาฯ เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมแม้จะรองรับการนำสิทธิการเช่าไปใช้ ประโยชน์อื่นๆ มีระยะการเช่าตั้งแต่ 30 ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี ต่อได้อีก 50 ปี แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงที่อยู่อาศัย

          อย่างไรก็ดี เห็นว่าควรแก้ไขการเช่าในประมวลกฎหมายแพ่งฯ มากกว่าการออกกฎหมายใหม่ เพราะดำเนินการได้ง่ายไม่ซ้ำซ้อนโดยให้เปลี่ยนสิทธิเฉพาะตัวหรือบุคคลสิทธิให้เป็นทรัพยสิทธิแทนก็สามารถโอนสิทธิการเช่า เช่าช่วง นำสิทธิการเช่าไปเป็นหลักประกันระยะการเช่าไม่เกิน 30 ปีได้เช่นกัน การออกกฎหมายออกเพื่อส่วนรวมไม่ควรออกเพื่อตอบสนองบางกลุ่ม

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ