'สมคิด'สั่งรัฐผนึกเอกชน-เล็งชงเข้า'พีพีพี ฟาสต์แทรค' ผุดบ้านราคาถูกขาย'คนจน'
อสังหาฯ แนะรัฐปรับเกณฑ์เอื้อต้นทุนก่อสร้างต่ำ
"สมคิด" สั่งกรมธนารักษ์ ธอส. การเคหะฯ ร่วมมือภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ สร้างบ้านราคาถูกให้คนจนทั่วประเทศ เล็งชงเข้าโครงการ"พีพีพี ฟาสต์แทร็ค" หวังเดินหน้าได้เร็ว
ขณะเอกชนอสังหาฯ แจงรัฐปรับเกณฑ์เอื้อโครงการเดินหน้า ดันต้นทุนก่อสร้างลดลง
วานนี้(28 มิ.ย.) มีการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (อี6) วานนี้(28 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยมีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมเกือบ 1,000 คน โดยเป็นการติดตามความคืบหน้าของโครงการประชารัฐตั้งแต่เริ่มขับเคลื่อนโครงการ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมจะต้องเร่งดำเนินการ คือการจัดหาบ้านให้กับคนยากจนทั่วประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในการผลักดันให้คนไทยทุกคนมีบ้านเป็นของตัวเอง
นายสมคิด กล่าวว่าได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และภาคเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้างเข้าร่วมดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ สร้างบ้านราคาถูกให้กับคนจน เพราะหากคนจนมีบ้านชีวิตในด้านอื่นๆก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะต้องไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารู้สึกผิดหวังกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก เนื่องจากรัฐบาลได้ขอให้เข้ามาร่วมมือกันในรูปแบบประชารัฐแล้วแต่ผ่านมา1ปี ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้ามากนัก
"กรมธนารักษ์ จะต้องไปจัดหาที่ดินราคาถูก ร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เช่น เอสซีจี ที่จะเข้ามาช่วยในการจัดหาวัสดุก่อสร้างราคาถูก มีกำไรน้อยลงหน่อย เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำสุดนำมาสร้างบ้านให้กับคนจน รวมทั้งมีการปล่อยสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยถูกเป็นพิเศษ ผ่อนระยะยาว เพื่อให้คนจนสามารถมีบ้านของตัวเองได้"
ดันเข้า"พีพีพี ฟาสต์แทร็ค"
นายสมคิด กล่าวว่า ยังมีแนวคิดที่จะนำโครงการบ้านคนจนตามแนวทางประชารัฐนี้ เข้าเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ฟาสต์แทร็คเพื่อพัฒนาสร้างบ้านราคาถูกให้กับคนจนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการระดมทุนจากเอกชนเข้าไปช่วยเหลือคนยากจน เพราะรัฐมีงบประมาณไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา โครงการ พีพีพี จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ยังไม่มีโครงการที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนฐานราก
ทั้งนี้ แนวทางการทำงานแบบประชารัฐ จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านต่างๆของประเทศได้อย่างจริงจัง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา รัฐบาลผลักดันเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องดึงภาคเอกชน ประชาสังคม ต่างๆ และหน่วยงานรัฐประสานความร่วมมือ จึงจะแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่างๆของประเทศไทยได้
ยึดแบบญี่ปุ่นจ้างงานคนพิการ-ผู้สูงอายุ
นายสมคิด กล่าวว่า ความร่วมมือตามแนวประชารัฐนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ โดย นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้มาร่วมนำเสนอรูปแบบการทำงานด้านการจ้างงานผู้พิการ ผู้สูงอายุ และการร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอกชนในประเทศจนประสบความสำเร็จแล้ว และพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยด้วย ซึ่งคณะทำงานจะต้องไปไปสรุปความต้องการให้ชัด จากนั้นจึงจะไปหารือกับทางหอการค้าญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อจะได้เข้ามาสนับสนุนได้ตรงจุด
ในขณะที่กระทรวงการคลัง ก็จะต้องลงไปช่วยดูว่าจะช่วยเหลือด้านภาษีให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาช่วยอย่างไรได้บ้าง รวมทั้งไปหาทางสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน และการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อสังคม ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมได้ในระดับพื้นที่ และยังต่อยอดไปถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนด้วย
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรจะลงไปจัดสัมมนาครั้งใหญ่ระดมความร่วมมือว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯว่าจะเข้ามาช่วยคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมในด้านใดได้บ้าง ให้แต่ละบริษัทชี้เป้าว่าจะเข้ามาช่วยอะไร ลงไปแมชชิ่งกับท้องถิ่นให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด และรัฐจะออกมาตรการจูงใจทางภาษีเข้ามาช่วย
นพ.ประเวศเชื่อจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
นายแพทย์ประเวศ วะสี ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ กล่าวว่า การทำงานตามแนวทางประชารัฐ ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบจากการพัฒนาจากบนลงล่าง เป็นการพัฒนาจากฐานรากชุมชนขึ้นไปข้างบน ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศชาติที่ยั่งยืน เพราะมีรากฐานที่แข็งแกร่ง
"ขณะนี้สังคมซับซ้อน ไม่สามารถผลักดันการพัฒนาประเทศได้ด้วยภาครัฐเพียงอย่างเดียวได้ จึงจำเป็นที่จะต้องดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือ จึงจะประสบผลสำเร็จ"
ทั้งนี้ ได้เสนอให้รัฐบาลประกาศแนวทางการสร้างสปิริตออกมาในเชิงนโยบาย โดยการส่งเสริมนิสิต นักศึกษา เป็นอาสาสมัครของชาติไปช่วยสังคม และให้ครอบคลุมไปถึงข้าราชการ และพนักงานเอกชนด้วย เช่น ไปช่วยดูแลคนพิการ คนสูงอายุ ช่วยคนจนเลี้ยงลูก เพื่อจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการไม่ทอดท้องกัน รวมทั้งสร้างบ้านให้คนมีรายได้น้อยทั่วประเทศ เพราะจะทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดสถาบันการเงินชุมชนที่เข้มแข็ง
เอกชนเตรียมวางแผนใหม่รับนโยบาย
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโสหอการค้าไทย และหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมเข้ามาร่วมส่งเสริมประชารัฐทางด้านสังคม ทั้งการจ้างงานคนพิการ ผู้สูงอายุ และหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย
นายอิสระ กล่าวว่าจากนี้จะต้องกลับไปปรับแผนใหม่ทั้งหมด ให้สอดคล้องกับแนวนโยบาย และภาคเอกชนจะขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายนอกกลุ่มประชารัฐเพื่อสังคม เช่น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สมาคมการค้า ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค รวมถึงการกำหนดเป้าหมายในการขยายความมือกับบริษัทต่างประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะการขยายการจ้างงานคนพิการไปยังกลุ่มบริษัทญี่ปุ่น
หวังรัฐปรับเกณฑ์ดันต้นทุนต่ำ
นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการลงทุนในลักษณะที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากจนก็เป็นแนวคิดที่ดีที่จะทำให้คนกลุ่มนี้มีที่อยู่อาศัย แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก อย่างไรก็ดี มองว่าหน่วยงานรัฐ หรือฝ่ายต่างๆควรมีแนวปฏิบัติในทางเดียวกัน เพื่อผลักดันให้ต้นทุนที่อยู่อาศัยไม่สูงนัก
"หน่วยงานต่างๆ ก็สามารถดำเนินการปรับเกณฑ์ให้เอื้ออำนวยต่อต้นทุนที่อยู่อาศัยที่ต่ำลงได้ เช่น กระทรวงการคลังก็อาจช่วยลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียม ค่าจดจำนอง กรมธนารักษ์ก็อาจลดค่าเช่าที่ให้ต่ำ เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนทุกทางให้ต่ำลง ราคาขายที่อยู่อาศัยจะได้ไม่สูงตามต้นทุน"
หนุนแนวคิดที่อยู่เพื่อคนจน
นางสาวดุษฎี ตันเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดความร่วมมือสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากจนของภาครัฐมากนัก แต่ในเบื้องต้นมองว่าแนวคิดการสร้างบ้านเพื่อคนยากจนเป็นแนวคิดที่ดี เพราะจะทำให้คนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุน ส่วนความสนใจต่อการเปิดรับความร่วมมือจากนักพัฒนาอสังหาฯเพื่อร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงต้องรอดูรายละเอียดรวมถึงคุณสมบัติที่ภาครัฐต้องการอีกครั้ง
"ครั้งนี้ คาดว่าอาจจะปรับกฎเกณฑ์ให้ภาคเอกชนอยู่ได้ด้วย รวมถึงอาจต้องพิจารณา หรือคัดเลือกว่าเอกชนที่จะเข้ามาร่วมมือมีความถนัดและเชี่ยวชาญในการสร้างที่อยู่อาศัยตามประเภทที่ภาครัฐได้วางไว้หรือไม่"
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ