แก้โจทย์คนไทยหนี้เกินตัว แบงก์หนุนธปท.เร่งแก้ปัญหาคนชั้นกลางหนี้ท่วมหัว หวั่นดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง
แบงก์หนุน ธปท.แก้โจทย์คนไทยก่อหนี้สูงและเริ่มมีหนี้เสีย ห่วงคนกลุ่มคนรายได้ระดับกลางและล่างมีหนี้บัตรเครดิตและบ้านสูง
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวคิดที่จะออกมาตรการมาควบคุมการก่อหนี้ของประชาชนในบางกลุ่ม เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัวและมีส่วนช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนในเร็วๆ นี้ว่าเป็นการแก้โจทย์ที่มาถูกทางแล้ว เพราะเริ่มเป็นห่วงว่าหนี้ของชนชั้นกลางก็เริ่มเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบ้าน อีกทั้งคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์โดยรวมเริ่มมีการปฏิเสธการปล่อยกู้มากขึ้นๆ
ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขที่หนี้ครัวเรือนที่ออกมาในไตรมาสแรกปีนี้ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาส 5 มาอยู่ที่ระดับ 78.6% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับ 79.8% ในสิ้นปี 2559 แต่อย่าลืมว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงถึง 11.48 ล้านล้านบาท และยอดคงค้างก็ยังเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากปล่อยให้เกิดการก่อหนี้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ คงไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมและตัวคนที่มีหนี้เองแน่
นายเชาว์ กล่าวว่า การที่ ธปท.จะออกเกณฑ์มาจำกัดการก่อหนี้เพิ่มในบางจุด แต่ก็ไม่ได้หมายว่าคนที่จำเป็นจะก่อหนี้เขาจะหนีไปพึ่งหนี้นอกระบบอีก เพราะในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้พยายามเพิ่มช่องทางการให้บริการสินเชื่อในระบบที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้นอกระบบไว้รองรับบ้างแล้ว เช่น นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ มีการจัดทำคลินิกแก้หนี้ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เป็นต้น เมื่อบวกเศรษฐกิจที่โตได้ดีขึ้น คนมีรายได้ดีขึ้น การพึ่งหนี้นอกระบบที่เดิมเป็นแบบ 100% แต่พอมีกลไกภาครัฐมาช่วย การก่อหนี้นอกระบบก็น้อยลง
นายสมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า แนวคิดจะดูแลหนี้ของ ธปท.น่าจะห่วงเรื่องเสถียรภาพที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะการก่อหนี้จะทำให้ไปสร้างความเปราะบางได้ในบางจุดได้ โดยเฉพาะคนเจเนอเรชั่นใหม่ ถ้าก่อหนี้เพื่อการบริโภค ซื้อรถยนต์ หรือสินค้าที่เสื่อมค่าได้ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเปราะบางมากขึ้น ก็อาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว และถ้ากู้เงินซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น บ้าน ก็ไม่น่าเป็นห่วงเป็นมากนัก
"สิ่งที่ต้องระวังในการดำเนินนโยบายควบคุมหนี้ของ ธปท.มากเกินไป เหมือนกับการไปบีบอีกจุดหนึ่ง มันอาจจะไปปูดอีกจุดหนึ่งก็ได้" นายสมประวิณ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์