โพสต์ทูเดย์: รับมือดีมานด์เทียม
สัญญาณความต้องการเทียมหรือดีมานด์เทียมในธุรกิจอสังหาริมทรัพยที่เริ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องเร่งติดตามว่าควันไฟดังกล่าวจะมีทิศทางเป็นไฟรุนแรงมากขึ้น หรือสามารถคลายวิกฤตได้ตามกลไกตลาด เพราะเป็นที่ทราบกันว่าวิกฤตเศรฐกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ หลายครั้งเกิดมาจากวิกฤตในอสังหาฯ แล้วลามขยายวงไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติซับไพรม์สหรัฐ วิกฤตต้มยำกุ้งที่เงินไหลเข้ามาปั่นฟองสบู่อสังหาฯ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ควรดูเบาประเด็นนี้
อย่างที่วงการอสังหาฯ ออกมาเตือนว่า ปัจจุบันยังคงเห็นการจองซื้อคอนโดมิเนียมแต่ไม่ได้อยู่อาศัยจริงหรือดีมานด์เทียม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโครงการคอนโดที่ประกาศปิดการขายไปแล้ว ซึ่งหลายโครงการมีดีมานด์เทียมสูงถึง 40-50% เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน บางส่วนเริ่มทิ้งเงินดาวน์โครงการ เนื่องจากไม่ได้ผลตอบแทนตามที่โครงการและเอเยนต์รับประกันไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการอสังหาฯ โดยเฉพาะคอนโดส่วนใหญ่จะแบ่งสัดส่วนการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง 50-60% เป็นการซื้อคอนโดแต่ไม่อยู่อาศัยจริงหรือดีมานด์เทียม ซึ่งเป็นการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่ากับซื้อเพื่อเก็งกำไรรวมกัน 40-50% โดยในดีมานด์เทียมดังกล่าวในจำนวนนี้เป็น กลุ่มซื้อคอนโดเก็งกำไรประมาณ 10% และกลุ่มนี้สัดส่วนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำมานานหลายปี ทำให้ผู้ฝากเงินต้องดิ้นรนหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นยอมเก็งกำไรเสี่ยงมากขึ้น
สำหรับกลุ่มดีมานด์เทียมที่เหลืออีก 30-40% ซึ่งมีเงินเย็นซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า นำเงินค่าเช่ามาช่วยผ่อน และหวังกำไรจากราคา คอนโดที่จะปรับขึ้นในอนาคตอีกทางหนึ่ง กลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้ซื้อชาวจีนเริ่มทิ้งดาวน์ ไม่ยอมโอนห้องชุดไปผ่อนกับสถาบันการเงินต่อ เพราะเชื่อว่าผลตอบแทนจากค่าเช่ากับราคาห้องชุดจะไม่เพิ่มขึ้นตามที่คนขายชักจูง
แนวโน้มดังกล่าวเมื่อรวมกับอาการของผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายราย ซึ่งทยอยประกาศเพิ่มทุนที่เริ่มเห็นมากขึ้น รวมทั้งต้องยอมรับว่าอสังหาฯ ในหลายทำเล โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง คอนโดหลายโครงการมียูนิตที่ขายไม่ได้อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่นับส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นที่คอนโดอยู่ในสภาพล้นตลาดไม่แพ้กัน
จริงอยู่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมีการติดตามและยืนยันว่าสภาพ อสังหาฯ โอเวอร์ซัพพลายยังไม่น่ากลัว ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลจากที่ผู้ซื้ออสังหาฯ ไม่ผ่อนต่อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่พุ่งสูงในอัตราเพิ่มที่น่ากลัว ด้านสถาบันการเงินก็มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นตามที่ทราบกันว่ายอดปฏิเสธปล่อยกู้ผู้ซื้อค่อนข้างสูง 40-50% ของยอดผู้ยื่นขอกู้ และบางรายยอดปฏิเสธมากถึงกว่า 70% ก็มี
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่บางรา พื้นฐานยังแข็งแกร่งพอที่จะรองรับนำห้องชุดที่โดนทิ้งดาวน์ไปรีเซลได้อีกระยะหนึ่ง แต่ในวงการก็มีการประเมินกันแล้วว่า หากความต้องการอสังหาฯ ยังอยู่ในสภาพนี้ไปอีกระยะ 1-2 ปี ก็จะเห็นอสังหาฯ รายใหญ่ออกอาการได้เหมือนกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่อยากให้หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องดังกล่าวดูเบาปัญหาดีมานด์เทียมอสังหาฯ ที่ส่งสัญญาณออกมาแบบผิวเผิน เพราะถ้าปมปัญหาดังกล่าวปะทุขึ้นมาผลกระทบจะขยายไปเร็วมาก จนอาจเป็นวิกฤตรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง งานนี้รัฐห้ามประมาทแล้วจะหาว่าไม่เตือน